กล้องโทรทรรศน์แบบชมิท

แผนภาพเส้นทางเดินแสง
รูปร่างภาคตัดขวางของเลนส์ปรับแก้ภายในกล้องโทรทรรศน์แบบชมิท

กล้องโทรทรรศน์แบบชมิท (Schmidt telescope) หรืออาจเรียกว่า กล้องถ่ายรูปแบบชมิท (Schmidt camera)[1] เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบผสมชนิดหนึ่ง คิดขึ้นโดยแบร์นฮาร์ท ชมิท ใช้กระจกเงาปฐมภูมิเป็นกระจกเงาเว้าทรงกลม วางจุดรับภาพไว้ที่กึ่งกลางทรงกลม เพื่อขจัดความคลาดเอียง และ ความคลาดแบบโคมา และใช้เลนส์บางแบบคลาดทรงกลมที่แสดงโดยฟังก์ชันอันดับสี่ (ที่ปลายลำกล้อง) เพื่อขจัดความคลาดทรงกลม ภาพที่ได้จึงทำให้แทบไม่มีความคลาดทางทัศนศาสตร์เลย[2][3]

โดยทั่วไป กล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้ใช้งานโดยการวางแผ่นจานถ่ายภาพ ฟิล์ม CCD เซนเซอร์ CMOS ฯลฯ (สิ่งที่วางเปลี่ยนไปตามยุคสมัย) ที่จุดโฟกัส (คือตำแหน่งของเส้นสีแดงในแผนภาพเส้นทางแสงทางด้านขวา) นอกจากนี้ เนื่องจากพื้นผิวภาพเป็นพื้นผิวทรงกลมนูนที่มีจุดศูนย์กลางทรงกลมอยู่ที่ตำแหน่งเดียวกับกระจกเงาปฐมภูมิ จึงมีความโค้งสนาม และแผ่นจานถ่ายภาพหรือฟิล์มจึงต้องโค้งไปด้วย[2][2]

เนื่องจากมีการปรับแก้ความคลาดทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัดมาก[2] ได้ขอบเขตการมองเห็นที่กว้างและสว่าง[2] และโฟกัสได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ตรงกลางไปจนถึงขอบภาพ[4] โชตาโร โยชิดะ ได้กล่าวชมกล้องชนิดนี้ไว้ในปี 1988 ว่า "ถือเป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับการกวาดท้องฟ้าสำหรับวัตถุท้องฟ้าที่เลือนราง และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษในด้านการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์"[5]

เนื่องจากกระบอกเลนส์ยาวเป็นสองเท่าของ ความยาวโฟกัส จึงจำเป็นต้องใช้ฐานตั้งขนาดใหญ่พอสมควร[2] นอกจากนี้เมื่อเส้นผ่านศูนย์กลางของแผ่นปรับแก้เพิ่มขึ้น ความคลาดสีก็จะเพิ่มขึ้น และช่วงความยาวคลื่นที่สามารถรับภาพที่คมชัดได้ก็จะแคบลง[2]

เดิมทีคำว่า "กล้องโทรทรรศน์" มักใช้การสังเกตการณ์ผ่านเลนส์ใกล้ตา แต่ว่ากล้องโทรทรรศน์แบบชมิทนั้นใช้เพื่อถ่ายภาพเท่านั้น จึงมักถูกเรียกว่าเป็น "กล้องถ่ายรูปแบบชมิท"[3] อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกว่า "กล้องโทรทรรศน์แบบชมิท" ใช้ทั่วไปในหมู่นักดาราศาสตร์[5]

การคิดค้น

ในกล้องโทรทรรศน์แบบกัสแกร็งปกติจำเป็นต้องขัดกระจกเงาปฐมภูมิด้วยพื้นผิวทรงพาราโบลา และใช้กระจกเงาทุติยภูมิที่มีพื้นผิวทรงไฮเพอร์โบลา โดยทั้งสองบานไม่เป็นทรงกลม จึงขัดได้ยาก แบร์นฮาร์ท ชมิท ผู้ซึ่งไม่มีมือขวา จึงเป็นการยากที่จะทำได้ด้วยมือซ้ายข้างเดียว จึงได้เปลี่ยนรูปแบบมาใช้กระจกเงาปฐมภูมิเป็นทรงกลม แล้วใช้กระจกเงาทุติยภูมิเป็นทรงไฮเพอร์โบลาอันดับสูงที่รวมพจน์อันดับสี่ขึ้นไป เมื่อทำการสร้างกล้องโทรทรรศน์แบบกัสแกร็งในเพื่อใช้ในหอดูดาวพ็อทซ์ดัมใน ปี 1905[5] หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างกล้องโทรทรรศน์แบบกัสแกร็งที่มีกระจกเงาปฐมภูมิทรงกลมแล้ว ชมิทก็เชื่อมั่นว่าพื้นผิวคลาดทรงกลมสามารถปรับเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ ชมิทยังได้ขัดเงาแผ่นขนานระนาบแสงที่สามารถถือด้วยมือซ้ายข้างเดียว และทำให้เป็นพื้นผิวคลาดทรงกลมโดยติดไว้ด้านหน้ากระจกเงาปฐมภูมิ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการเคลือบเลนส์ที่ดีพอ ส่งผลให้ความเข้มแสงลดลง 20%[5]

ต่อจากนั้น ชมิทได้เลื่อนแผ่นปรับแก้ไปข้างหน้าให้ไกลและพอวางไว้ที่กึ่งกลางความโค้งของกระจกเงาปฐมภูมิทรงกลม ก็พบว่าความคลาดแบบโคมาหายไปพร้อมกับที่ผิวโฟกัสกลายเป็นทรงกลม ในปี 1932 เขาตีพิมพ์บทความเรื่อง "ระบบกระจกเงาสะท้อนแสงที่ไม่มีโคมา" ในรายงานของหอดูดาวฮัมบวร์ค (Mitteilungen der Hamburger Sternwarte in Bergedolf)[5] นี่เป็นเอกสารฉบับแรกของโลกเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์ชมิท[5]

ในปี 1935 อือร์เยอ แวย์แซแล ได้ตีพิมพ์รายงานใน A.N.254 เรื่อง "กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงปรับแก้ความคลาดที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยตุร์กุ" ซึ่งกล่าวถึงความเหนือชั้นของกล้องโทรทรรศน์ชมิท และภายหลัง อือร์เยอ แวย์แซแลยัง ได้พัฒนากล้องโทรทรรศน์แบบไลต์ชมิทขึ้น เพื่อลดความโค้งสนาม[5]

ตัวอย่างหอดูดาวที่ใช้

หอดูดาวคาร์ล ชวาทซ์ชิลท์ที่เยอรมนี
หอดูดาวคาร์ล ชวาทซ์ชิลท์ที่เยอรมนี 
หอดูดาวบรอร์เฟลเดอที่เดนมาร์ก
หอดูดาวบรอร์เฟลเดอที่เดนมาร์ก 

อ้างอิง

  1. Encyclopedia Britannica. "Schmidt telescope"
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 天文ガイド 1991.
  3. 3.0 3.1 『天体望遠鏡ガイドブック』pp.194-195「天体用ビジュアルシステム」。
  4. 『増補天体写真テクニック』pp.54-55。
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 吉田正太郎 1988.