การขนส่งระบบรางในประเทศพม่า

แผนที่เส้นทางรถไฟในพม่า

การขนส่งระบบรางในประเทศพม่า มีระบบรางทั้งสิ้น 10,296.01 กิโลเมตร (6,398 ไมล์) และมีสถานี 1,225 สถานี[1] ใช้รางส่วนใหญ่เป็นรางขนาด 1 เมตร (มีเตอร์เกจ) ดำเนินการโดยการรถไฟเมียนมา (พม่า: မြန်မာ့ မီးရထား, ออกเสียง: [mjəma̰ míjətʰá]) ภายใต้การดูแลของกระทรวงการรถไฟแห่งพม่า[2]

ประวัติ

ระบบการขนส่งทางรางในประเทศพม่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2420 ได้ตั้งบริษัท The Irrawaddy Valley State Railway ขึ้นมา โดยเส้นทางสายแรกคือ ย่างกุ้งแปร ระยะทางทั้งสิ้น 262 กิโลเมตร ทางรถไฟมีขนาดราง 1 เมตร (มีเตอร์เกจ) ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 ได้เปิดเส้นทางย่างกุ้ง ผ่านพะโคจนถึงตองอู มีระยะทางทั้งสิ้น 267 กิโลเมตร และได้ตั้งบริษัท The Sittang Valley State Railway จากนั้นได้เกิดสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2428 ในพม่าตอนบนโดยอังกฤษเป็นฝ่ายชนะสงครามจึงตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษจึงได้มีการสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายเพิ่มจากตองอูมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2432 และได้สร้างต่อขยายไปจากมัณฑะเลย์มยิจีนาเมื่อ พ.ศ. 2441 ในระหว่างที่สร้างต่อขยายไปจนถึงมยิจีนาได้ตั้งบริษัท Mu Valley State Railway ขึ้นมา แต่ไม่นานก็ได้มีการควบรวมทั้ง 3 บริษัทมาเป็นบริษัทการรถไฟพม่าเมื่อ พ.ศ. 2439 ต่อมาได้ได้มีการสร้างทางรถไฟต่อลงไปทางใต้จากพะโคเมาะตะมะเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยแยกจากสถานีพะโค

เมื่อ พ.ศ. 2485 ประเทศพม่ามีโครงข่ายทางรถไฟในประเทศรวม 3,313 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อเกิดการรุกรานจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟจากประเทศไทยเชื่อมไปยังประเทศพม่าเพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ในการก่อสร้างได้เกณฑ์เชลยศึกจากฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรจำนวนมากมาสร้างสายนี้ ในระหว่างการสร้างได้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการสร้าง ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นชื่อที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าทางรถไฟสายมรณะ และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงทางรถไฟในประเทศพม่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ทางรถไฟสามารถเปิดใช้งานได้เพียง 1,085 กิโลเมตร

หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลงได้มีความพยายามในการปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางรถไฟของประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2504 สามารถกลับมาเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟได้ถึง 3,020 กิโลเมตร ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2513 ได้เปิดเพิ่มอีก 36 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศพม่าได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศเมียนมา จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นการรถไฟเมียนมา เมื่อรัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจในปี พ.ศ. 2531 ได้มีโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกจนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2543 ประเทศพม่าสามารถมีทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นได้ถึง 5,068 กิโลเมตร และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกทั้งมีการปรับปรุงเส้นทางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดเส้นทางรถรางใหม่ในเมืองย่างกุ้ง โดยรถรางนั้นมีทั้งหมด 3 คันเป็นรถรางมือสองนำเข้ามาจากฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้รางขนาด 1.435 เมตร (สแตนดาร์ดเกจ) แต่เปิดได้เพียงไม่นานก็ปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โครงข่าย

มีสถานีรถไฟที่เปิดใช้งานอยู่ 960 สถานีในพม่า โดยมีสถานีรถไฟย่างกุ้งและสถานีรถไฟมัณฑะเลย์เป็นสถานีศูนย์กลาง

พม่าตอนล่าง

สถานีรถไฟย่างกุ้ง สถานีศูนย์กลางพม่าตอนล่าง
สาย เส้นทาง หมายเหตุ
ย่างกุ้งมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง–พะโคตองอูเนปยีดอ–ตาซี–มัณฑะเลย์ 620 กิโลเมตร (390 ไมล์), รถด่วนไม่จอดสถานีพะโค
ย่างกุ้ง–มอละมไยน์ ย่างกุ้ง–พะโค–Theinzayat–ไจโทสะเทิมเมาะตะมะ–มอละมไยน์ 296 กิโลเมตร (184 ไมล์)
ย่างกุ้ง–มยี่นชาน ย่างกุ้ง–ปยี่นมะน่า–ตอง-ดวี่นจี้–เจาะปะด้อง–พุกาม–มยี่นชาน 652 กิโลเมตร (405 ไมล์)
ย่างกุ้ง–ปะโคะกู ย่างกุ้ง–ปยี่นมะน่า–ตอง-ดวี่นจี้–เจาะปะด้อง–พุกาม–ปะโคะกู 676 กิโลเมตร (420 ไมล์)
ย่างกุ้ง–อองลาน–พุกาม ย่างกุ้ง–และปะด้าน–ป้องเด–อองลาน–เจาะปะด้อง–พุกาม 676 กิโลเมตร (420 ไมล์)
ย่างกุ้ง–แปร ย่างกุ้ง–แปร 259 กิโลเมตร (161 ไมล์)
สายตะนาวศรี มอละมไยน์–เย่–ทวาย 339 กิโลเมตร (211 ไมล์) กำลังก่อสร้างเส้นมะริด

พม่าตอนบน

สถานีรถไฟมัณฑะเลย์ สถานีศูนย์กลางพม่าตอนบน
สาย เส้นทาง หมายเหตุ
มัณฑะเลย์–มยิจีนา มัณฑะเลย์–ซะไกง์ชเวโบ–มยิจีนา 361 กิโลเมตร (224 ไมล์)
มัณฑะเลย์–ล่าเสี้ยว มัณฑะเลย์–ปยีนอู้ลวีนจ๊อกแม้สี่ป้อ–ล่าเสี้ยว 441 กิโลเมตร (274 ไมล์)
มัณฑะเลย์–ตาซี มัณฑะเลย์–Thedaw–Dahuttaw–Hanza–Ywapale–ตาซี 500 กิโลเมตร (310 ไมล์)
โมนยวาปะโคะกู โมนยวา–Khinnu–มัณฑะเลย์–ปะโคะกู 729 กิโลเมตร (453 ไมล์)

รถไฟวงแหวนย่างกุ้ง

เป็นระบบรถไฟชานเมืองในเขตย่างกุ้งและปริมณฑล มีระยะทาง 81 กิโลเมตร (50 ไมล์) จำนวน 39 สถานี มีผู้ใช้ราว 150,000 คนต่อวัน และมีขบวนรถไฟ 300 ขบวนวิ่งวนรอบทุกวัน[3][4]

แผนการพัฒนา

แผนการพัฒนาภายในประเทศ

เส้นทางการเดินรถไฟภายในประเทศพม่าในปัจจุบันนั้นมีสภาพที่ทรุดโทรมลงไปมาก ปัจจุบันพม่าจึงมีโครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีทั้งหมด 4 โครงการ

  1. โครงการพัฒนาทางรถไฟ ย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ เป็นการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ และสะพาน ตลอดเส้นทาง พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือ ซี้อรถไฟชุดดีเซลราง (DEMU) จากญี่ปุ่นมาให้บริการ แบ่งแผนพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง คือ ย่างกุ้ง–ตองอู ระยะทาง 267 กิโลเมตร และ ตองอู–มัณฑะเลย์ ระยะทาง 353 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากญี่ปุ่น
  2. โครงการพัฒนาทางรถไฟวงแหวนย่างกุ้ง โครงการนี้เป็นเส้นทางหลักของขนส่งมวลชนในเมืองย่างกุ้ง เป็นเส้นทางรอบเมืองย่างกุ้งและปริมณฑล ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากญี่ปุ่น เป็นการปรับปรุงเส้นทางพร้อมงานอาณัติสัญญาณและตัวรถไฟดีเซลราง (DEMU)
  3. โครงการปรับปรุงเส้นทาง มัณฑะเลย์–มยิจีนา เป็นทางรถไฟเชื่อมเมืองติดทางรถไฟที่อยู่เหนือสุดของพม่า ระยะทางทั้งหมด 547 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยวตลอดเส้นทาง ทางรถไฟสายนี้มีปัญหาความชัน และรัศมีโค้งที่แคบ ทำให้ใช้ความเร็วไม่ได้ แบ่งแผนการพัฒนาเป็น 3 ช่วงคือ มัณฑะเลย์–กอลี่น , กอลี่น–โม่ญี่น และ โม่ญี่น–มยิจีนา จะเริ่มปรับปรุงเส้นทางช่วงที่ 2 กอลี่น–โม่ญี่น ระยะทาง 42 กิโลเมตร เป็นช่วงแรก เงินทุนอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขเงินกู้ จากเกาหลี (EDCF)
  4. โครงการพัฒนาทางรถไฟ ย่างกุ้ง–แปร เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศพม่า มีระยะทาง 148 กิโลเมตร ในแผนมีการปรับปรุงทางรถไฟ สะพาน สถานี และอาณัติสัญญาณใหม่ทั้งหมด

แผนการพัฒนาการเชื่อมต่อรถไฟระหว่างประเทศ

ประเทศพม่ายังไม่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีแผนในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศคือไทย จีน และอินเดีย

  1. เส้นทาง พม่า–จีน โดยจะปรับปรุงเส้นทางเดิม และก่อสร้างทางใหม่ เส้นทาง มัณฑะเลย์–มูเซะ ชายแดนจีน ระยะทาง 431 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร ออกแบบความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  2. เส้นทาง พม่า–อินเดีย โดยจะปรับปรุงเส้นทางเดิม และก่อสร้างทางใหม่ เส้นทาง มัณฑะเลย์–Tamu ชายแดนอินเดีย ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้หลายเส้นทาง
  3. เส้นทาง พม่า–ไทย พม่ามองความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อกับไทยเราไว้ 3 เส้นทางคือ

– ทวาย–กาญจนบุรี (พุน้ำร้อน) เชื่อมต่อเส้นทาง E–W Corridor เส้นใต้ของไทย

– ตาน–พยูซะยะ–กาญจนบุรี (เจดีย์สามองค์) เส้นทางรถไฟสายมรณะเดิม

– เมียวดี–แม่สอด เชี่อมต่อเส้นทาง แม่สอด–ตาก–นครสวรรค์ E–W Corridor เส้นเหนือของไทย [5]

ดูเพิ่ม

  • รายชื่อสถานีรถไฟในประเทศพม่า
  • การคมนาคมในประเทศพม่า

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. Developing a Myanma’s Rail Network that meet demand (PDF), Ministry of Rail Transportation, Myanma Railways, 23 November 2015
  2. Brown, Pat (30 January 2008). "Railway Bazaar". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ 2013-08-19.
  3. Yeni (30 January 2008). "The Railway Bazaar". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-23.
  4. "Third Regional EST Forum: Presentation of Myanmar" (PDF). Singapore: Ministry of Transport, Myanmar. 17–19 March 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-26. สืบค้นเมื่อ 2020-06-23. {cite journal}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  5. https://www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/1071811936590618