ชอร์ต (การเงิน)
ชอร์ต (อังกฤษ: short) ในทางการเงิน หมายถึง การลงทุนในลักษณะที่นักลงทุนจะได้กำไรหากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลง ตรงกันข้ามกับ "ลอง" ที่นักลงทุนจะได้กำไรหากมูลค่าของสินทรัพย์สูงขึ้น
การชอร์ตมีหลายวิธี ซึ่งวิธีการพื้นฐานที่สุดคือการยืมสินทรัพย์ (มักเป็นหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หรือพันธบัตร) และขายในทันที จากนั้นนักลงทุนจะซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันในจำนวนเดียวกันเพื่อส่งคืนให้กับผู้ให้ยืม หากราคาลดลงระหว่างการขายครั้งแรกและการซื้อคืนหลักทรัพย์ นักลงทุนจะทำกำไรได้จากส่วนต่างนี้ ในทางกลับกัน หากราคาสูงขึ้นนักลงทุนจะต้องแบกรับผลขาดทุน โดยปกติผู้ขายชอร์ตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการยืมหลักทรัพย์ (เรียกเก็บในอัตราเฉพาะเมื่อเวลาผ่านไป คล้ายกับการจ่ายดอกเบี้ย) และคืนเงินให้กับผู้ให้ยืมสำหรับผลตอบแทนเป็นเงินสดที่ผู้ให้ยืมจะได้รับ หากหลักทรัพย์ไม่ถูกยืมออก เช่น เงินปันผลใด ๆ ที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ให้ยืมหากพวกเขายังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่พวกเขาให้ยืมไป
แนวคิด
การชอร์ตด้วยหลักทรัพย์ที่ยืม
หากต้องการทำกำไรจากการลดลงของราคาหลักทรัพย์ ผู้ขายชอร์ตสามารถยืมหลักทรัพย์และขายได้ โดยคาดหวังว่าจะมีราคาถูกกว่าเมื่อซื้อคืนในอนาคต การซื้อหลักทรัพย์ที่ถูกขายชอร์ตเรียกว่า "การคืนหุ้นหลังขายชอร์ต" ซึ่งสามารถทำได้ตลอดเวลาก่อนที่หลักทรัพย์จะถึงกำหนดส่งคืน เมื่อปิดสัญญาแล้วผู้ขายชอร์ตจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นหรือลงของราคาหลักทรัพย์ในภายหลัง เนื่องจากถือหลักทรัพย์ซึ่งจะส่งคืนให้กับผู้ให้ยืมอยู่แล้ว
กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า หลักทรัพย์ (หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ถูกขายชอร์ต) สามารถทดแทนกันได้ ดังนั้นนักลงทุนจึง "ยืม" หลักทรัพย์ในความหมายเดียวกับเงินสดที่ยืมมาโดยที่เงินสดที่ยืมสามารถใช้ได้อย่างอิสระ และสามารถคืนเป็นธนบัตรหรือเหรียญต่าง ๆ ให้กับผู้ให้ยืมได้ ตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่ว่า คนหนึ่งยืมจักรยานโดยที่จะต้องคืนจักรยานคันเดิม ไม่ใช่จักรยานคันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกัน
ในทางทฤษฎี ราคาของหุ้นมีไม่จำกัด ความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นของผู้ขายชอร์ตจึงมีไม่จำกัดในทางทฤษฎีด้วย
ตัวอย่างการขายชอร์ตที่ทำกำไรได้
หุ้นบริษัท ACME มีราคาปัจจุบันที่ 10 บาทต่อหุ้น
- ผู้ขายชอร์ตยืมหุ้น ACME จากผู้ให้ยืม 100 หุ้น และขายทันทีในราคารวม 1,000 บาท
- ต่อมา ราคาหุ้นตกลงมาที่ 8 บาทต่อหุ้น
- ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้น ACME 100 หุ้นในราคา 800 บาท
- ผู้ขายชอร์ตคืนหุ้นให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งจะต้องยอมรับการคืนหุ้นจำนวนเดียวกันกับที่ให้ยืม แม้ว่ามูลค่าของหุ้นจะลดลงก็ตาม
- ผู้ขายชอร์ตเก็บกำไรส่วนต่าง 200 บาท จากราคาที่ผู้ขายชอร์ตขายหุ้นที่ยืมมา และราคาที่ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่า (หักลบกับค่าธรรมเนียมการยืมที่จ่ายให้กับผู้ให้ยืม)
ตัวอย่างการขายชอร์ตที่ขาดทุน
หุ้นบริษัท ACME มีราคาปัจจุบันที่ 10 บาทต่อหุ้น
- ผู้ขายชอร์ตยืมหุ้น ACME จากผู้ให้ยืม 100 หุ้น และขายทันทีในราคารวม 1,000 บาท
- ต่อมา ราคาหุ้นขึ้นมาที่ 35 บาทต่อหุ้น
- ผู้ขายชอร์ตจะต้องคืนหุ้นและถูกบังคับให้ซื้อหุ้น ACME 100 หุ้นของ ราคา 3,500 บาท
- ผู้ขายชอร์ตคืนหุ้นให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งยอมรับการคืนหุ้นจำนวนเดียวกันกับที่ให้ยืม
- ผู้ขายชอร์ตเสียส่วนต่าง 2,500 บาท จากราคาที่ผู้ขายชอร์ตขายหุ้นที่ยืมมา และราคาที่ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่า (บวกค่าธรรมเนียมการยืมที่จ่ายให้กับผู้ให้ยืม)