การปลดปล่อยค่ายกักกันเอาช์วิทซ์
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/97/Auschwitz_Liberated_January_1945.jpg/220px-Auschwitz_Liberated_January_1945.jpg)
ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1945 ค่ายเอาช์วิทซ์ ซึ่งเป็นค่ายกักกันและค่ายมรณะของนาซีในโปแลนด์ที่ถูกยึดครอง โดยมีผู้คนถูกสังหารไปกว่าล้านคนในฐานะส่วนหนึ่งของ "มาตรการสุดท้าย" ของนาซีต่อประเด็นชาวยิว ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตระหว่างการรุกวิสตูลา–โอเดอร์ แม้ว่านักโทษส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้เข้าร่วมการเดินมรณะ แต่มีนักโทษราว 7,000 คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ทหารโซเวียตพยายามช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและตกตะลึงกับอาชญากรรมของนาซีจำนวนมาก วันปลดปล่อยค่ายกักกันได้รับการยอมรับให้เป็นวันสากลรำลึกฮอโลคอสต์
พื้นหลัง
ระหว่าง ค.ศ. 1940 ถึง ค.ศ. 1945 ประมาณ 1.3 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นชาวยิว) ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเอาช์วิทซ์โดยนาซีเยอรมนี มีผู้เสียชีวิต 1.1 ล้านคน[1] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 มีนักโทษมากกว่า 135,000 คนทั่วทั้งบริเวณนี้ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 หลังจากที่กองทัพแดงเปิดฉากการรุกวิสตูลา–โอเดอร์และเข้าใกล้ค่าย นักโทษเกือบ 60,000 คนถูกบังคับให้ออกไปในการเดินมรณะ[1][2] ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ถูกเดินขบวนไปยังลอสเลา แต่ยังไปยังไกลวิทซ์ด้วย[3] ซึ่งพวกเขาถูกบังคับให้ขึ้นรถไฟฮอโลคอสต์ และถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันในเยอรมนี[4] อย่างไรก็ตาม การปลดปล่อยค่ายไม่ใช่เป้าหมายเฉพาะของกองทัพแดงและเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการรุกคืบไปทางตะวันตกของโปแลนด์ กองทัพแดงได้ปลดปล่อยค่ายกักกันในพื้นที่บอลติกแล้วในช่วงต้นถึงกลาง ค.ศ. 1944 และค่ายกักกันอื่น ๆ ยังคงได้รับการปลดปล่อยต่อไปจนกระทั่งเยอรมนียอมจำนนและสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945[5]
การปลดปล่อย
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/08/%D0%9E%D1%81%D0%B2%D0%BE%D0%B1%D0%BE%D0%B6%D0%B4%D0%B5%D0%BD%D0%BD%D1%8B%D1%85_%D0%BE%D1%81%D1%82%D0%B0%D0%B2%D1%88%D0%B8%D1%85%D1%81%D1%8F_%D0%B2_%D0%B6%D0%B8%D0%B2%D1%8B%D1%85_%D1%83%D0%B7%D0%BD%D0%B8%D0%BA%D0%BE%D0%B2_%D0%BA%D0%BE%D0%BD%D1%86%D0%BB%D0%B0%D0%B3%D0%B5%D1%80%D1%8F_%D0%9E%D1%81%D0%B2%D0%B5%D0%BD%D1%86%D0%B8%D0%BC_%D0%B2%D1%8B%D0%B2%D0%BE%D0%B4%D1%8F%D1%82_%D0%B8%D0%B7_%D0%BB%D0%B0%D0%B3%D0%B5%D1%80%D1%8F.jpeg/220px-%D0%9E%D1%81%D0%B2%D0%BE%D0%B1%D0%BE%D0%B6%D0%B4%D0%B5%D0%BD%D0%BD%D1%8B%D1%85_%D0%BE%D1%81%D1%82%D0%B0%D0%B2%D1%88%D0%B8%D1%85%D1%81%D1%8F_%D0%B2_%D0%B6%D0%B8%D0%B2%D1%8B%D1%85_%D1%83%D0%B7%D0%BD%D0%B8%D0%BA%D0%BE%D0%B2_%D0%BA%D0%BE%D0%BD%D1%86%D0%BB%D0%B0%D0%B3%D0%B5%D1%80%D1%8F_%D0%9E%D1%81%D0%B2%D0%B5%D0%BD%D1%86%D0%B8%D0%BC_%D0%B2%D1%8B%D0%B2%D0%BE%D0%B4%D1%8F%D1%82_%D0%B8%D0%B7_%D0%BB%D0%B0%D0%B3%D0%B5%D1%80%D1%8F.jpeg)
ทหารกองทัพแดงจากกองปืนไรเฟิลที่ 322 มาถึงค่ายเอาช์วิทซ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1945 เวลา 15.00 น. ทหารกองทัพแดงทั้งหมด 231 นายเสียชีวิตในการสู้รบรอบค่ายกักกันโมโนวิทซ์ เบียร์เคเนา และค่ายเอาช์วิทซ์ที่ 1 รวมถึงเมืองออชฟีแยญชิม และเบร์เซซินกา[6][7] สำหรับผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ ไม่มีช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยที่ชัดเจน หลังจากเดินมรณะออกจากค่ายแล้ว ทหารยามเอ็สเอ็ส-โทเทินค็อพฟ์แฟร์เบ็นเดอก็จากไป[8]
มีนักโทษประมาณ 7,000 คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ป่วยหนักเนื่องจากการถูกคุมขัง[1] ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี[9] นอกจากนี้ ทหารกองทัพแดงยังพบศพ 600 ศพ ชุดสูทผู้ชาย 370,000 ชิ้น เสื้อผ้าผู้หญิง 837,000 ชิ้น และเส้นผมมนุษย์ 7 ตัน (7.7 ตัน)[6] ที่ค่ายโมโนวิทซ์ มีผู้รอดชีวิตประมาณ 800 คน และค่ายก็ได้รับการปลดปล่อยเมื่อวันที่ 27 มกราคมโดยกองทัพที่ 60 ของโซเวียต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวรบยูเครนที่ 1[10]
ทหารรัสเซียผู้ผ่านการสู้รบซึ่งคุ้นเคยกับความตายในสนามรบต่างตกตะลึงกับการปฏิบัติต่อนักโทษของนาซีที่ค่ายเอาช์วิทซ์ นายพลวาซีลี เปตเรนโค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 107 ของกองทัพแดง กล่าวว่า "ผมซึ่งเห็นผู้คนล้มตายทุกวันรู้สึกตกใจกับความเกลียดชังที่นาซีมีต่อนักโทษที่กลายเป็นโครงกระดูกอย่างไม่อาจบรรยายได้ ผมอ่านเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวยิวของนาซีในแผ่นพับต่าง ๆ แต่กลับไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็ก และชายชราของนาซีเลย ผมพบชะตากรรมของชาวยิวในค่ายเอาช์วิทซ์"[11] ในบทความบางบทความในหนังสือพิมพ์โซเวียต เช่น หนังสือพิมพ์ ปราฟดา ซึ่งตามการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงชาวยิวในบทความเกี่ยวกับการปลดปล่อยของพวกเขา[11][12]
ทันทีที่มาถึง กองกำลังปลดปล่อย (ได้รับความช่วยเหลือจากสภากาชาดโปแลนด์) พยายามช่วยเหลือผู้รอดชีวิตโดยจัดเตรียมการดูแลทางการแพทย์และอาหาร โรงพยาบาลของกองทัพแดงดูแลผู้รอดชีวิต 4,500 คน นอกจากนี้ยังมีการพยายามบันทึกภาพค่ายด้วย[13] จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 ยังมีผู้รอดชีวิตอีก 300 คนที่ค่ายซึ่งอ่อนแอเกินกว่าจะเคลื่อนย้ายได้[14]
การรำลึก
สหประชาชาติและสหภาพยุโรปกำหนดให้วันครบรอบวันปลดปล่อยเป็นวันสากลรำลึกฮอโลคอสต์[15][16] ในวันครบรอบ 75 ปี ใน ค.ศ. 2020 ฟอรัมผู้นำโลก เวิร์ลฮอโลคอสต์ฟอรัม จัดขึ้นที่อิสราเอลโดยประธานาธิบดีเรอูเวน ริฟลิน ผู้เข้าร่วม ได้แก่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เจ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี และวอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ประธานาธิบดียูเครน[17]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Online Exhibition — the liberation of Auschwitz". United States Holocaust Memorial Museum. สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
- ↑ "The cessation of mass extermination / Evacuation / History / Auschwitz-Birkenau". Auschwitz-Birkenau State Museum. สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
- ↑ Hojka & Kulpa 2016, p. 8.
- ↑ Piper 2009, p. 212.
- ↑ Wachsmann 2015, pp. 1767, 1772.
- ↑ 6.0 6.1 "What a Soviet soldier saw when his unit liberated Auschwitz 70 years ago". The Washington Post. 27 January 1945. สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 1770.
- ↑ Stone 2015, p. 30.
- ↑ Stone 2015, p. 47.
- ↑ Schmaltz 2009, p. 218.
- ↑ 11.0 11.1 Stone 2015, p. 46.
- ↑ Wachsmann 2015, p. 33.
- ↑ Stone 2015, pp. 46–47.
- ↑ Stone 2015, p. 48.
- ↑ "The European Union and Holocaust remembrance" (PDF). European Parliament. สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
- ↑ "International Holocaust Remembrance Day". United States Holocaust Memorial Museum (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
- ↑ Gross, Judah Ari. "With 10,000 officers, police gear up to protect massive Holocaust commemoration". Times of Israel. สืบค้นเมื่อ 21 January 2020.
แหล่งที่มา
- Hojka, Piotr; Kulpa, Sławomir (2016). Kierunek Loslau. Marsz ewakuacyjny więźniów oświęcimskich w styczniu 1945 r. (ภาษาโปแลนด์). Wodzisław Śląski: Museum in Wodzisław Śląski. ISBN 978-83-927256-0-2.
- Piper, Frantiszek (2009). "Auschwitz II-Birkenau". ใน Megargee, Geoffrey P. (บ.ก.). Early Camps, Youth Camps, and Concentration Camps and Subcamps under the SS-Business Administration Main Office (WVHA). Encyclopedia of Camps and Ghettos, 1933–1945. Vol. 1. Bloomington: United States Holocaust Memorial Museum. pp. 209–214. ISBN 978-0-253-35328-3.
- Schmaltz, Florian (2009). "Monowitz". ใน Megargee, Geoffrey P. (บ.ก.). Early Camps, Youth Camps, and Concentration Camps and Subcamps under the SS-Business Administration Main Office (WVHA). Encyclopedia of Camps and Ghettos, 1933–1945. Vol. 1. Bloomington: United States Holocaust Memorial Museum. pp. 215–220. ISBN 978-0-253-35328-3.
- Stone, Dan (2015). The Liberation of the Camps: The End of the Holocaust and Its Aftermath (ภาษาอังกฤษ). New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-21603-5.
- Strzelecki, Andrzej (2001). The Evacuation, Dismantling and Liberation of KL Auschwitz (ภาษาอังกฤษ). Oświęcim: Auschwitz-Birkenau State Museum. ISBN 978-83-85047-95-7.
- Wachsmann, Nikolaus (2015). KL: A History of the Nazi Concentration Camps. London: Macmillan. ISBN 9780374118259.