การร้องทุกข์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
![ตราสัญลักษณ์ศาลอาญาระหว่างประเทศ](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/ae/International_Criminal_Court_logo.svg/200px-International_Criminal_Court_logo.svg.png)
ตามความในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) อันเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น บุคคลหรือองค์กรจะแจ้งความดำเนินคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศต่อศาลนั้นก็ได้[1] ถ้าบุคคลเป็นผู้ยื่น เรียกว่า "ร้องทุกข์" (complain) ถ้ารัฐภาคีศาลก็ดี หรือเลขาธิการสหประชาชาติก็ดี เป็นผู้ยื่น เรียกว่า "เสนอข้อหา" (refer) และเรียกรวมกันว่า "กล่าวโทษ" (communicate)[2]
นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2553 สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำกล่าวโทษแล้ว 8,874 ฉบับ ในจำนวนนั้น 4,002 ฉบับถูกยกเมื่อตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่า "อยู่นอกอำนาจศาลโดยแจ้งชัด"[1] และนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสืบสวนเรื่องราวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในประเทศยูกันดา ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ในประเทศเคนยา ในประเทศลิเบีย และในประเทศโกตดิวัวร์ รวมเจ็ดเรื่องด้วยกัน[3] กับทั้งกำลังพิเคราะห์โดยละเอียดซึ่งเรื่องราวอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศชาด ประเทศโคลอมเบีย ฉนวนกาซา และประเทศจอร์เจีย[4][5]
วิธีพิจารณา
อำนาจศาล
อำนาจชำระคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นแบ่งเป็นสามประเภท คือ[6][7][8]
- อำนาจตามสาระของคดี (jurisdiction ratione materiae) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ ความผิดอาญาสงคราม และความผิดอาญาฐานรุกราน
- อำนาจตามบุคคล (jurisdiction ratione personae) และอำนาจตามดินแดน (jurisdiction ratione tertiis) หรือที่เรียกว่า เขตศาล (territorial jurisdiction) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้น ณ ดินแดนของรัฐภาคีศาล หรือซึ่งผู้ถือสัญชาติรัฐภาคีเหล่านั้นกระทำขึ้น หรือความผิดซึ่งอยู่นอกเงื่อนไขดังกล่าว แต่เลขาธิการสหประชาชาติยื่นเรื่องราวขอให้ศาลพิจารณา หรือรัฐที่เกี่ยวข้องแถลงยอมรับอำนาจศาลแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ดี ต้องเป็นกรณีที่ศาลภายในไม่สามารถหรือไม่สมัครจะดำเนินคดีแล้วด้วย
- อำนาจตามเวลา (jurisdiction ratione temporis) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้นในหรือหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 อันเป็นวันเริ่มใช้ธรรมนูญกรุงโรมบังคับแล้วเท่านั้น
การกล่าวโทษ
ธรรมนูญกรุงโรมว่า บุคคลหรือองค์กรจะแจ้งความดำเนินคดีที่อยู่ในอำนาจศาลต่อศาลก็ได้ โดยให้แจ้งที่อัยการ คำกล่าวโทษเหล่านี้จะได้รับการพิเคราะห์สามชั้น คือ การตรวจเบื้องต้น (initial review), การรายงานมูลฐาน (basic reporting) และการพิเคราะห์โดยละเอียด (intensive analysis) ก่อนเริ่มสืบสวนตามคำกล่าวโทษนั้นต่อไป[1]
การตรวจเบื้องต้น
เมื่อได้รับคำกล่าวโทษแล้วทุกครั้ง อัยการต้อง "พิเคราะห์ความร้ายแรงแห่งข้อมูลที่ได้รับ" แล้ววินิจฉัยว่า มีมูลพอจะเริ่มสืบสวนหรือไม่[9] ที่ผ่านมา มีคำกล่าวโทษจำนวนมากถูกยกในระหว่างการพิเคราะห์ชั้นนี้ เนื่องจากปรากฏว่า "อยู่นอกอำนาจศาลโดยแจ้งชัด"
ตามข้อมูลทางสถิติตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ร้อยละแปดสิบของคำกล่าวโทษที่ได้รับนั้นถูกยก เนื่องจาก
- ร้อยละ 5 อยู่นอกอำนาจตามเวลา เพราะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2545
- ร้อยละ 24 อยู่นอกอำนาจตามสาระของคดี จำพวกนี้มักว่าด้วยคนเข้าเมือง ความประมาทเลินเล่อทางแพทย์ ความมั่นคงทางสังคม บำเหน็จบำนาญ และแรงงาน
- ร้อยละ 13 อยู่นอกอำนาจตามบุคคลหรือตามดินแดน
- ร้อยละ 38 ปรากฏ "แจ้งชัดว่าไม่มีมูลเพียงพอ" (manifestly ill-founded) จำพวกนี้มักขาดเหตุผลในการใช้สิทธิทางศาลหลายประการ หรือไม่ระบุเหตุผลดังกล่าว เช่น กล่าวหาว่ามีการสมคบคิดกัน แต่ไม่ระบุรายละเอียด หรือเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศหรือท้องถิ่น
การรายงานมูลฐาน และการพิเคราะห์โดยละเอียด
เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเรื่องที่กล่าวโทษนั้นอยู่ในอำนาจศาล คำกล่าวโทษก็จะเข้าสู่ "การรายงานมูลฐาน" เพื่อ "พิเคราะห์ทั่วไปในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย" และประมวลข้อหาตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่มีพร้อมอยู่แล้ว มีสถิติว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีคำกล่าวโทษอยู่ในชั้นรายงานมูลฐานนี้ยี่สิบสามฉบับ
เมื่อผ่านชั้นรายงานมูลฐานั้นแล้ว คำกล่าวโทษจะได้รับการพิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อประมวลข้อมูลพิสดารจากแหล่งข้อมูลเปิด พิเคราะห์การกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ ตรวจปัจจัยสี่ แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม และถ้าคดีซับซ้อน ก็จะวางแผนการสืบสวนอย่างมีศักยภาพ มีสถิติว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา มีคดีสิบรายอยู่ในชั้นพิเคราะห์โดยละเอียด รวมถึง เรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศชาด ประเทศโคลอมเบีย ประเทศโกตดิวัวร์ ประเทศจอร์เจีย และประเทศเคนยา[4]
การสืบสวน
ครั้นแล้ว อัยการจะพิเคราะห์ "ปัจจัยสี่" (four factors) ดังต่อไปนี้ เพื่อเริ่มสืบสวนอย่างเป็นทางการ คือ
- มีเหตุควรเชื่อหรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาล
- ความผิดอาญานั้นร้ายแรงหรือไม่
- ความผิดอาญานั้นไม่อยู่ในอำนาจองค์กรตุลาการภายในแล้วใช่หรือไม่ (ศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่เต็มใจทำคดีแล้วใช่หรือไม่) และ
- คดีเป็นประโยชน์แก่ความยุติธรรมหรือไม่
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 International Criminal Court, September 2010, Communications, Referrals and Preliminary Examinations, Accessed 27 February 2011
- ↑ International Criminal Court. "Referrals and Communications"PDF. Accessed 20 March 2008.
- ↑ International Criminal Court, 2010. Situations and cases Accessed 1 January 2010.
- ↑ 4.0 4.1 International Criminal Court 20 August 2008. "ICC Prosecutor confirms situation in Georgia under analysis". Accessed on 20 August 2008.
- ↑ "ICC prosecutor eyes possible Afghanistan war crimes", Reuters, 2009-09-09
- ↑ ดู ข้อ 12 และ 13 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ดู ข้อ 17 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ ดู ข้อ 20 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรมฯ เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Article 15 of the Rome Statute เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Accessed 20 March 2008.