การลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่อง
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/4f/Lot_Flight_16_landing_4.jpg/220px-Lot_Flight_16_landing_4.jpg)
การลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่อง หรือ การลงจอดโดยใช้ใต้ท้องเครื่อง (อังกฤษ: Belly landing / Gear-up landing) เกิดขึ้นเมื่ออากาศยานลงจอดโดยไม่ใช้ล้อลงจอด แต่ใช้ส่วนล่างของลำตัวเครื่องหรือใต้ท้องเครื่องเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการลงจอดนั้นแทน แต่โดยปกติแล้ว การลงจอดโดยไม่กางล้อลงจอด (gear-up landing) มักจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่นักบินลืมกางล้อลงจอด แต่ การลงจอดโดยใช้ใต้ท้องเครื่อง (belly landing) มักจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดเหตุขัดข้องใดๆ หนึ่งๆ ที่ส่งผลให้ไม่สามารถกางล้อลงจอดได้
ในการลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่อง เครื่องบินมักจะได้รับความเสียหายอย่างหนักและมีความเสี่ยงที่เครื่องบินจะพลิกคว่ำ พังทลาย หรือลุกไหม้ได้หากลงจอดเร็วหรือแรงเกินไป นักบินจึงจำเป็นต้องใช้ความแม่นยำสูงสุดเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องบินจะลงจอดตรงและราบเรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะที่รักษาความเร็วให้เพียงพอต่อควบคุมเครื่องบิน แต่ถ้าหากมีลมกระโชกแรง ทัศนวิสัยไม่ดี เครื่องบินได้รับความเสียหาย หรือเครื่องมือหรืออุปกรณ์ควบคุมไม่ตอบสนอง ความเสี่ยงในการลงจอดจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่องเป็นอุบัติเหตุทางเครื่องบินที่พบบ่อยที่สุดประเภทหนึ่ง และโดยปกติจะไม่ถึงแก่ชีวิตหากดำเนินการอย่างระมัดระวัง[ต้องการอ้างอิง]
ตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 ลอตโปลิชแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 16 เป็นเครื่องบินโบอิง 767 กัปตันตาแดอุช วรอนา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากสูญเสียระบบล้อลงจอดระหว่างเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาตินวร์กลิเบอร์ตีสู่ท่าอากาศยานวอร์ซอโชแปง เครื่องบินที่เกิดเหตุเป็นลำที่ใหม่ที่สุดในฝูงบิน โดยได้ลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่องในกรุงวอร์ซอและเกิดเพลิงไหม้เล็กน้อย แต่ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดได้รับการอพยพออกไปโดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ท่าอากาศยานถูกปิดให้บริการนานกว่าหนึ่งวันหลังจากอุบัติการณ์ดังกล่าว[1]
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ปากีสถานอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 8303 เป็นเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ได้ลงจอดโดยที่ไม่กางล้อลงจอดเนื่องจากความผิดพลาดของนักบิน แม้ว่าลูกเรือจะพยายามบินวนกลับ แต่การลงจอดโดยไม่กางล้อลงจอดทำให้เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาล้มเหลวขณะจากบินวนกลับ ส่งผลให้เครื่องบินตกในย่านที่พักอาศัยที่มีประชากรหนาแน่นใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติอัลลามา อิกบัล นครการาจี โดยมีผู้เสียชีวิต 97 รายจากทั้งหมด 99 รายบนเครื่อง และหนึ่งรายบนพื้นดิน
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2023 เฟดเอกซ์เอกซ์เพรส เที่ยวบินที่ 1376 เป็นเครื่องบินโบอิง 757 ซึ่งทำการบินจากท่าอากาศยานแชตตานูกาเมโทรโพลิตัน มุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเม็มฟิส ถูกบังคับให้บินกลับและลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่องหลังไม่สามารถกางล้อลงจอดได้ เครื่องบินได้ไถลออกนอกทางวิ่งโดยไม่มีลูกเรือบนเครื่องได้รับบาดเจ็บ[2]
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เครื่องบินโบอิง 737-800 ดำเนินการเชจูแอร์ เที่ยวบินที่ 2216 ลงจอดโดยใช้ลำตัวเครื่องที่ท่าอากาศยานมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังระบบลงจอดขัดข้องจากรายงานนกชนเครื่องบิน เครื่องบินไม่สามารถหยุดบนทางวิ่งได้ ชนเข้ากับรั้วกั้นเขตสนามบินและระเบิดลุกเป็นไฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 179 ราย มีผู้รอดชีวิต 2 ราย จากผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องทั้งหมด 181 ราย[3][4][5]
อ้างอิง
- ↑ "LOT belly landing in Warsaw". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 April 2012. สืบค้นเมื่อ 1 November 2011.
- ↑ Pare, Mike (October 5, 2023). "WATCH: Federal investigator arrives at Chattanooga Airport after crash landing". Chattanooga Times Free Press. สืบค้นเมื่อ October 9, 2023.
- ↑ "Jeju Air plane crashes while landing in South Korea; 28 dead". สืบค้นเมื่อ December 29, 2024.
- ↑ "At least 47 people dead in South Korea plane crash". สืบค้นเมื่อ December 29, 2024.
- ↑ "Fiery plane crash kills 179 in worst airline disaster in South Korea". สืบค้นเมื่อ January 6, 2025.