ขนม
ขนม หมายถึง อาหารที่กินระหว่างมื้อ ซึ่งไม่ใช่มื้อหลัก โดยอาจกินเพื่อลดความหิว ความอร่อย หรือ เพิ่มพลังงาน โดยขนมบางอย่างอาจนับว่าเป็นของหวาน หรืออาหารว่างได้
ประเภทของขนม
ที่มาของคำ
คำว่า "ขนม" (ภาษาปาก: หนม) เป็นคำกร่อนมาจากคำภาษาไทยถิ่นรวมทั้งไทยลื้อ[1] คือคำว่า ข้าวหนม ข้าวนม หรือ เข้าหนม ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดยคำว่า ขนม แปลว่าหวาน[2] อย่างข้าวหนมก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้น ๆ เร็ว ๆ จึงเพี้ยนเป็นขนมไป[3][4] ส่วนที่มาจากข้าวนม (ข้าวเคล้านม) ออกจะดูเป็นแขกเพราะว่าอาหารของแขกบางชนิดใช้ข้าวมธุปายาสของแขกโบราณ (ดังที่นางสุชาดา ทำถวายพระพุทธเข้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม) และเช่นเดียวกันเมื่อพูดเร็ว ๆ จึงเพี้ยนกลายเป็นขนมแทน[5]
ข้อสันนิษฐานของคำว่า ขนม มาจากคำมอญที่เรียกขนมจีนว่า ขะนอม (ခၞံ) นั้น ศ.ดร.บรรจบ พันธุเมธา กล่าวว่าเฉพาะเส้นแป้งจำพวกเส้นขนมจีนในภาษามอญเท่านั้นที่เรียกว่า ขะนอม หรือ หะหนอม แต่ขนมจีนไม่ใช่ของหวาน[6] ส่วนขนมในภาษามอญ สมบัติ พลายน้อย กล่าวว่าได้ยินว่าเรียกว่าหวานไม่ใช่เรียกว่าขนม เวลาเขากินขนมเขาเรียกว่าเจี๊ยะหวาน[5]
คำว่า ขนม ยังสันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายูปัตตานี คือ กานม (Ganuṃ) หรือเรียกตามมาตรฐานภาษามลายูกลางว่า กันดุม (Gandum) ซึ่งคำนี้แปลว่า ข้าวสาลี[7] มีรากมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า godhūma (वेणुयव)[8] บ้างสันนิษฐานว่ามาจากคำเขมรว่า นุม หรือ น็วม (នំ) แปลว่า อาหารที่ทำจากแป้ง[9]
ซึ่งข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบที่นิยมใช้สำหรับทำอาหารว่างหรืออาหารประเภทแป้ง ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี ขนมปัง ขนมเค้ก ขนมอบ ซาลาเปา คุ้กกี้ แครกเกอร์ เค้ก โดนัท โรตี พาย ปาท่องโก๋และอื่นๆ ก่อนที่ข้าวสาลีจะนำไปประกอบอาหารต้องผ่านกระบวนการบดให้เป็นผงแป้ง จึงเรียกตามภาษาใต้ว่า ตือปงกานมซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเรียกกัน อันมีความหมายว่า แป้งสาลี ดังนัน "ขนม" จึงน่าจะเพี้ยนตามภาษาที่รับมาจากคำว่า "กานม" นั่นเอง
คำว่า ขนม มีใช้มานานหลายร้อยปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำผสมของอะไรจึงเป็นการยากที่จะสันนิษฐานให้แน่นอนได้ ของที่เรียกว่าขนมในสมัยโบราณ หรือในสมัยที่จะมีคำว่าขนมนั้นจะเป็นของที่เกิดจากข้าวตำป่น (แป้ง) แล้วผสมกับน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขนมรุ่นแรกในหนังสือไตรภูมิพระร่วง สมัยสุโขทัย นับเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบคำที่เกี่ยวข้องกับขนม[9] กล่าวถึงขนมต้มไว้เหมือนกัน เดิมมีแป้งกับน้ำตาล ต่อมามีคนดัดแปลงสอดไส้เข้าไปอีก ถึงตอนนี้ยังมีมะพร้าวปนอยู่ด้วย ขนมไทยจึงมี มะพร้าว แป้ง และน้ำตาล ไม่พ้น ของทั้ง 3 เป็นของพื้นเมืองที่หาได้โดยทั่วไป[5]
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2548). กระยานิยาย: เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 82. ISBN 974-323-553-1
- ↑ Rahim, Anuar bin Abdul. (2004). Thailand : A Traveller's Companion. (Translated by Phan, Nathalie). Singapore: Editions Didier Millet. p. 41. ISBN 981-4155-79-9. :- "Khanom is the general Thai word for " sweet , " and many street vendors specialize..."
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2515). เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย ชุดที่ ๒. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น. หน้า 300.
- ↑ นพพร สุวรรณพานิช. (2545). พจนานุกรมขนมนมเนยและไอศกรีม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก. หน้า 7. ISBN 978-974-7-83416-1
- ↑ 5.0 5.1 5.2 สมบัติ พลายน้อย. (2527). ขนมแม่เอ๊ย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น. หน้า 1–2.
- ↑ บรรจบ พันธุเมธา, โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยฯ กระทรวงศึกษาธิการ. (2522). ไปสอบคำไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. หน้า 59.
- ↑ BAILEY, H.W. (1979). Dictionary of Khotan Saka. New York: Cambridge University Press. ISBN 0-52-121737-7 LCCN 79-12086. p. 79. :- "ganama- 'wheat' Sid. 16r2 ganaṃ, BS godhūma-, Tib. gro; IV 25, 7 ganaṃ; compound 11 28, 37b2 ganama- kerai 'sower of wheat', [...] Indianized, O.Ind. godhūma-, details in M. Mayrhofer, Skt Et. Dic. s.v."
- ↑ S. MAHDIHASSAN. (1981, 21 July). "The Chinese Origin of the Sanskrit word for Wheat," Indian Journal of History of Science, 19(1) : 72(1984). :- "Max Muller among others tried to establish the etymology of the Sanskrit word, godhūma, for wheat, [...] Watt gives a number of synonyms signifying wheat with godhūma as the Sanskrit word."
- ↑ 9.0 9.1 เยาวนุช เวศร์ภาดา และวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (2541). ข้าว: วัฒนธรรมแห่งชีวิต Rice Thai Cultural Life (in English). (แปลโดย James Robert Haft, รัศมี เผ่าเหลืองทอง และวิมลศรี ตระกูลสิน). กรุงเทพฯ: แปลน โมทิฟ. ISBN 978-974-8-65501-7