คีกิลยาฮ์

คีกิลยาฮ์ในเทือกเขาอูลาฮัน-ซิส

คีกิลยาฮ์ หรือ คีซีลียาฮ์[1] (รัสเซีย: кигиляхи; ซาฮา: киһилээх, แปลว่า "คนหิน" หรือ หินรูปคน) เป็นธรณีสัณฐานลักษณะคล้ายเสา โดยทั่วไปมีองค์ประกอบเป็นหินแกรนิตหรือหินทราย ลักษณะเช่นนี้เป็นผลจากการกัดกร่อนโดยน้ำแข็ง[2] คีกิลยาฮ์ส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นในยุคเครตาเชียส และมีอายุราว 120 ล้านปี[3]

เสาหินเหล่านี้มีลักษณะคล้ายมนุษย์ และมีความสำคัญทางวัฒนธรรมในวัฒนธรรมยาคุต[4][5] ตามปรัมปราวิทยาชาวยาคุตเชื่อว่าคีกิลยาฮ์มีที่มาจากคนในสมัยโบราณกาล[5]

คำว่า "คีซีลีย์" (kisiliy) ในภาษายาคุตแปลว่า "ที่ที่มีคน"[3] ส่วน คีซิลยาฮ์ แปลว่า "เขาที่มีคน" หรือ "เขาที่แต่งงาน[แล้ว]"[6] คำว่า "คีกิลยาฮ์" เป็นรูปเพี้ยนมาจากคำเดิมในภาษายาคุตว่า "คีซิลยาฮ์"[7]

ที่ตั้ง

หินเหล่านี้สามารถพบได้ในประเทศรัสเซียในแถบซาฮา (ยาคูเทีย) โดยเฉพาะในที่ราบลุ่มไซบีเรียตะวันออก ได้แก่:[5]

  • ที่ราบสูงอาลาเซยา
  • ที่ราบสูงอานาบาร์
  • คาบสมุทรคีกิลยาฮ์ รวมถึงเขาและแหลมคีกิลยาฮ์, เกาะบอลชอย เลียฮอฟสกี และหมู่เกาะไซบีเรียใหม่
  • เทือกเขาคีซิลยาฮ์ในเทือกเขาแชร์สกี[2]
  • เขาคีซิลยาฮ์-ทัส ในที่ราบลุ่มคอลีมา บนฝั่งทางขวาของแม่น้ำอาลาเซยา[3][8]
  • คียุน-ทัส
  • เกาะเชตีรยอฮ์สตอลบอวอย ในหมู่เกาะเมวเดจยี ในทะเลไซบีเรียตะวันออก
  • หมู่เกาะไซบีเรียใหม่
  • ที่ราบสูงโอเมียคอน
  • เทือกเขาโปโลอุสนี
  • เกาะสตอลโบวอย ในทะเลลัปเตฟ
  • เทือกเขาซูวอร์ อูยาตา[9]
  • อูลาฮัน ซิส[10]

นอกจากในแถบยาคูเตียแล้วยังสามารถพบธรณีสัณฐานลักษณะคล้ายกันได้บนเกาะโปโปวา-ชุกชีนา และที่ราบสูงปูโตรานา ในแคว้นครัสโนยาร์สค์[11]

ประวัติศาสตร์

แฟร์ดีนันท์ วรังเกิล เคยเขียนรายงานถึงคีกิลยาฮ์บนเกาะเชตีรีโยฮ์สตอลโบวอย (Chetyryokhstolbovoy) ในหมู่เกาะเมวเดจยีในทะเลไซบีเรียตะวันออก ระหว่างการเดินทางไปสำรวจเกาะดังกล่าวในปี 1821-1823 ที่ซึ่งเขาตั้งชื่อเกาะตามเสาหินที่พบ (Chetyryokhstolbovoy แปลว่า "สี่เสา") โดยบรรดาเสาหินบนเกาะนี้มีความสูง 15 เมตร (49 ฟุต)[2]

ในสมัยโซเวียต ได้มีการตั้งชื่อคาบสมุทรหนึ่งบนเกาะบอล ชอย เลียฮอฟสกี ว่าคาบสมุทรคีกิลยาฮ์ โดยกัปตันวลาดีมีร์ โวโรนิน ซึ่งในเวลานั้นประจำอยู่ที่สถานีโพลาร์บนเกาะหลังพบเสาหินขนาดใหญ่บนคาบสมุทรนั้น[12]

ดูเพิ่ม

  • มอนอลิธ
  • พินนาเคิล (ธรณีวิทยา)
  • เบย์ดจาราฮ์
  • ยาร์ดัง

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น