จังหวัดไพรแวง
จังหวัดไพรแวง ខេត្តព្រៃវែង | |
---|---|
แผนที่ประเทศกัมพูชาเน้นจังหวัดไพรแวง | |
พิกัด: 11°29′N 105°20′E / 11.483°N 105.333°E | |
ประเทศ | กัมพูชา |
ยกฐานะเป็นจังหวัด | 1907 |
เมืองหลัก | ไพรแวง |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | Chea Somethy (พรรคประชาชนกัมพูชา) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 4,883 ตร.กม. (1,885 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | 16 |
ประชากร (2008)[1] | |
• ทั้งหมด | 947,357 คน |
• อันดับ | 4 |
• ความหนาแน่น | 190 คน/ตร.กม. (500 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | 6 |
เขตเวลา | UTC+7 |
รหัสต่อ | +855 |
รหัส ISO 3166 | KH-14 |
อำเภอ | 12 แห่ง |
ตำบล | 116 แห่ง |
หมู่บ้าน | 1,139 แห่ง |
บทความนี้มีอักษรในตระกูลอักษรพราหมีปรากฏอยู่ คุณอาจเห็นสัญลักษณ์อื่นแทนตัวอักษร หรือมองเห็นสระวางผิดตำแหน่ง หากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง |
ไพรแวง[2] หรือ เปร็ยแวง[2] (เขมร: ព្រៃវែង) เป็นจังหวัดหนึ่งใน 25 แห่งของประเทศกัมพูชา มีเมืองหลักในชื่อเดียวกัน มีพื้นที่ 4,883 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 947,000 คนในปี ค.ศ. 2008 ทำให้เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ
จังหวัดไพรแวงตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีการตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่น ชื่อจังหวัดมีความหมายว่า "ป่าซึ่งยาว" หรือ "ป่าซึ่งใหญ่" ทว่าในความเป็นจริงพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ของจังหวัดหายไปตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนเนื่องจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม
ประวัติศาสตร์
ช่วงต้นคริสตกาล พื้นที่จังหวัดเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองหลวงในเชิงการปกครอง (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดอานซางของประเทศเวียดนาม) กับเมืองหลวงด้านเศรษฐกิจ (นครบอเรย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาแก้ว) ต่อมาเมื่ออาณาจักรเจนละเริ่มมีอำนาจในพื้นที่ ศูนย์กลางอาณาจักรจึงถูกย้ายไปทางตะวันตกไกล ไปยังเกาะเกร (កោះកេរ្ដិ៍) และพระนคร ทำให้แถบไพรแวงถูกลดบทบาทลง
คริสต์ศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อาณาจักรเขมรได้ย้ายเมืองหลวงกลับมาทางตะวันออก เนื่องจากตำแหน่งเดิมถูกรุกรานโดยสยาม ตั้งเป็นกรุงอุฎุงค์ (ឧដុង្គ) ละแวก และพนมเปญตามลำดับ ส่วนไพรแวงไม่ได้รับการตั้งเป็นศูนย์กลางเนื่องจากอยู่ใกล้อาณาจักรอันนัมมากเกินไป อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1473 ได้ปรากฏการตั้งค่ายทหารขึ้นในบาภน็อมเพื่อต่อต้านการรุกรานของสยาม
เมื่อครั้งที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเห็นว่าไพรแวงมีศักยภาพต่อการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการประมง ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับอาณานิคมโคชินไชนาของฝรั่งเศสอีกด้วย ทำให้ต่อมาเกิดการแผ้วถางป่าครั้งใหญ่เพื่อแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร
ในปี ค.ศ. 1975 ยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ จังหวัดไพรแวงประสบภาวะทุพภิกขภัยเป็นครั้งแรก จนถึงปี ค.ศ. 1977 ชาวจังหวัดไพรแวงหลายพันคนถูกสังหารและฝังโดยเขมรแดงเป็นจำนวนมาก ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 กองทัพเวียดนามจึงเข้ายึดและปลดปล่อยไพรแวงจากอิทธิพลของเขมรแดงได้สำเร็จ ทำให้ไพรแวงเป็นพื้นที่แรก ๆ ของกัมพูชาที่ได้รับอิสระจากอิทธิพลเขมรแดง
ภูมิศาสตร์
จังหวัดไพรแวงทีอาณาเขตติดต่อดังนี้ เริ่มจากทิศตะวันตกเรียงตามเข็มนาฬิกา จังหวัดกันดาล จังหวัดกำปงจาม จังหวัดตโบงฆมุม จังหวัดสวายเรียง และประเทศเวียดนาม มีแม่น้ำที่สำคัญของประเทศไหลผ่านสองสายคือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัก
จังหวัดไพรแวงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,883 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของพื้นที่ประเทศกัมพูชา (181,035 ตารางกิโลเมตร) พื้นที่กว่า 3,100 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 63.5 ของพื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ป่าไม้มีเพียง 194.61 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่จังหวัด นอกเหนือจากนี้เป็นพื้นทีที่มีการตั้งถิ่นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำ และพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
การแบ่งเขตการปกครอง
จังหวัดไพรแวงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ 116 ตำบล 1,139 หมู่บ้าน รายชื่ออำเภอมีดังนี้[3]
- ในวงเล็บคือรหัสทางภูมิศาสตร์และชื่ออำเภอในภาษาเขมร
- อำเภอบาภน็อม (1401, បាភ្នំ)
- อำเภอก็อมจายมาร (1402, កំចាយមារ)
- อำเภอก็อมพงตระแบก (1403, កំពង់ត្របែក)
- อำเภอกัญจะเรียจ (1404, កញ្ច្រៀច)
- อำเภอเมสาง (1405, មេសាង)
- อำเภอเพียมชรอ (1406, ពាមជរ)
- อำเภอเพียมรอ (1407, ពាមរ)
- อำเภอเพียเรือง (1408, ពារាំង)
- อำเภอพระสเฎจ (1409, ព្រះស្ដេច)
- อำเภอไพรแวง (1410, ព្រៃវែង)
- อำเภอโพธิ์เรียง (1411, ពោធិ៍រៀង)
- อำเภอซีธรกัณฎาล (1412, ស៊ីធរកណ្ដាល)
- อำเภอสวายอันทร (1413, ស្វាយអន្ទរ)
ประชากร
จังหวัดไพรแวงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 947,357 คน คิดเป็นร้อยละ 7.07 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มี 13,388,910 คน[1] ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมและการประมง (825,818 คน คิดเป็นร้อยละ 80.54 และ 140,685 คน คิดเป็นร้อยละ 13.72 ของจำนวนประชากรจังหวัดตามลำดับ) นอกจากนี้ทำอาชีพค้าขายและรับราชการ ความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 194 คนต่อตารางกิโลเมตร
ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นชาวเขมร มีชนกลุ่มน้อยเพียงร้อยละ 1.13 ของจำนวนประชากร ซึ่งได้แก่ ชาวญวน มุสลิมจาม และลาว
เศรษฐกิจ
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมของตะกอนเมื่อเกิดน้ำท่วม จังหวัดไพรแวงจึงเป็นภูมิภาคที่เอื้อต่อการทำเกษตรและประมง จนได้รับฉายาว่าเป็น "เข็มขัดใหญ่สีเขียวของกัมพูชา"
จังหวัดไพรแวงมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศ ผลผลิตจากข้าวจากจังหวัดนี้มากถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตจากพืชทั้งหมดของประเทศ นอกจากข้าวแล้วยังมีพืชชนิดอื่น เช่น ยาสูบ ถั่วเขียว อ้อยทำน้ำตาล ปาล์มทำน้ำตาล มันสำปะหลัง งา ผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วง และมะม่วงหิมพานต์ ในอดีตเคยมีการปลูกยางพาราและเคยเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด แต่ได้ถูกละทิ้งไปในสมัยสงครามกลางเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อน
ถึงแม้ว่าจังหวัดไพรแวงจะเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรม แต่อัตราความยากจนยังคงสูงมากเป็นลำดับต้นของประเทศ โดยประชากรกว่าร้อยละ 53 ของจังหวัดถูกจัดอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน และกว่าร้อยละ 36 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้จังหวัดไพรแวงมีอัตราการย้ายถิ่นออกสูงกว่าย้ายเข้า
อ้างอิง
- กระทรวงเกษตร การป่าไม้ และการประมงกัมพูชา
- ↑ 1.0 1.1 General Population Census of Cambodia 2008 - Provisional population totals, สถาบันสถิติแห่งชาติ กระทรวงการวางแผนประเทศ, 3 กันยายน 2551
- ↑ 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
- ↑ Map 16. Administrative Areas in Prey Veng Province by District and Commune