ชิงชัย มงคลธรรม
ชิงชัย มงคลธรรม | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวลิต ยงใจยุทธ |
ก่อนหน้า | สุขวิช รังสิตพล |
ถัดไป | ชุมพล ศิลปอาชา |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวลิต ยงใจยุทธ |
หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 7 กันยายน พ.ศ. 2545 (22 ปี 126 วัน) | |
ก่อนหน้า | โยธินทร์ เพียรภูเขา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494 อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ความหวังใหม่ (10 พฤษภาคม 2545–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | ยุวพรรณ์ มงคลธรรม |
ชิงชัย มงคลธรรม (เกิด 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494) หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ 4 สมัย
ประวัติ
นายชิงชัย มงคลธรรม เขาเกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494[1] ที่อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 8 คนของนายอั้ง และนางจันทร นามสกุลมงคลธรรม ที่รับราชการเป็นครูทั้งคู่ จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมัยที่ยังเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอยู่
ชีวิตส่วนตัว นายชิงชัย มงคลธรรม มีเอกลักษณ์ประจำที่เป็นที่รู้จักดี คือ ชอบเป่าแคน จากการเคยรับราชการเป็นครูมาก่อน จึงเคยได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก ด้วย สมรสกับนางยุวพรรณ์ มงคลธรรม มีบุตรชาย 1 คน บุตรสาว 2 คน
นายชิงชัย รับราชการเป็นครูตามบิดา มารดา ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดพรรคธรรมสังคม ในปี พ.ศ. 2522 จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 จึงลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคความหวังใหม่ เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[2] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[3]
การรักษาพรรคความหวังใหม่
ในปี พ.ศ. 2544 ที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ตัดสินใจยุบพรรคความหวังใหม่เข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย
ความหวังใหม่ ยุบมารวมกับ พรรคไทยรักไทย ตาม ม.73 เมื่อ 22 มีนาคม 2545(สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย มีเพียง ชิงชัย มงคลธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบบัญชีรายชื่อ ขออยู่ฟื้นฟู พรรคความหวังใหม่/ และ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรบัญชีรายชื่อ ขอไปฟื้นฟู พรรคมวลชน/ ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรบัญชีรายชื่อ ย้ายไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์) ตามกรอบของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541[4]
นายชิงชัยได้แยกออกมาจากกลุ่มพลเอกชวลิตที่เข้ารวมกับพรรคไทยรักไทย เพื่อที่จะรักษาพรรคความหวังใหม่ไว้ จึงได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนับแต่บัดนั้น
แต่พรรคความหวังใหม่ในยุคของนายชิงชัย ไม่มีบทบาทในการเมืองระดับประเทศเลย อีกทั้งบทบาทของนายชิงชัยก็ได้เปลี่ยนกลายมาทำการเมืองในภาคของประชาชนแทน โดยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ที่มีนายสมาน ศรีงาม เป็นเลขาธิการ
ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 พรรคความหวังใหม่ ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อครบตามจำนวนที่ กกต. กำหนดให้ส่งได้ คือ 125 คน โดยมีหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 34[5] โดยนายชิงชัย เป็นผู้สมัครลำดับที่ 1[6] แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เป็นบุคคลที่พรรคความหวังใหม่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[7] ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายชื่อให้ กกต. ทราบก่อนการเลือกตั้ง
การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ
ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นายชิงชัยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วย ก่อนที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำการชุมนุมจะขึ้นมาปราศรัย และเขาได้เข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยอีกหลายครั้ง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2538 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[10]
อ้างอิง
- ↑ "ประวัติผู้สมัคร ส.ส." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-06. สืบค้นเมื่อ 2011-04-20.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๙ ราย)
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-25. สืบค้นเมื่อ 2013-06-25.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-06. สืบค้นเมื่อ 2005-03-06.
- ↑ "สมัครปาร์ตี้ลิสต์วันสุดท้ายเพิ่มอีก 8 พรรคการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-23.
- ↑ รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมนโยบายของพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกต. สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน 2554
- ↑ เปิดรายชื่อ บัญชีนายกฯ 45 พรรค 69 ชื่อ ไร้ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไทยรักษาชาติ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๙, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๓๘, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๘ ข หน้า ๒๖, ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๐
ก่อนหน้า | ชิงชัย มงคลธรรม | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สุขวิช รังสิตพล | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (15 สิงหาคม - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540) |
ชุมพล ศิลปอาชา |