ซูเปอร์แฟมิคอม
ด้านบน: อเมริกาเหนือ ซูเปอร์นินเท็นโด ด้านล่าง: ญี่ปุ่น ซูเปอร์แฟมิคอม | |
ผู้ผลิต | นินเท็นโด |
---|---|
ชนิด | เครื่องเล่นวิดีโอเกม |
ยุค | ยุคที่สี่ |
วางจำหน่าย | 21 พฤศจิกายน 1990 (JP) 13 สิงหาคม 1991 (NA) 11 เมษายน 1992 (EU) |
ยอดจำหน่าย | 20 ล้านเครื่อง (US) 49.10 ล้านเครื่อง (ทั่วโลก)[1] |
สื่อ | ตลับเกม |
ซีพียู | 16-bit 65c816 Ricoh 5A22 3.58 MHz |
บริการออนไลน์ | Satellaview (เฉพาะในญี่ปุ่น) |
รุ่นก่อนหน้า | แฟมิคอม |
รุ่นถัดไป | นินเท็นโด 64 |
ซูเปอร์แฟมิคอม (ญี่ปุ่น: スーパーファミコン; โรมาจิ: Sūpāfamicon; อังกฤษ: Super Famicom/SFC) หรือชื่อที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาคือ ซูเปอร์นินเท็นโดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซิสเตม (อังกฤษ: Super Nintendo Entertainment System/SNES) เป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมของบริษัทนินเท็นโด
ซูเปอร์แฟมิคอมเป็นเครื่องเล่นเกมรุ่นที่สองของนินเท็นโด (นับเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมยุคที่สี่) ถัดจากแฟมิคอม เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมเป็นเครื่องเกมคอนโซลแบบ 16 บิทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้น สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างเครื่องเมกาไดรฟ์ของเซกาได้ แม้แต่หลังจากที่ยุคของเกม 16 บิทจะสิ้นสุดลงไปนานแล้ว เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมก็ยังเป็นที่นิยมของนักสะสม และนักพัฒนาอีมูเลเตอร์
ประวัติ
ในปี 1988 เซกาได้ผลิตเครื่องเล่นเกม 16 บิทรุ่นใหม่ที่ชื่อ "เมกาไดรฟ์" ออกวางตลาด เครื่องเมกาไดรฟ์มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแฟมิคอมของนินเทนโด ในช่วงแรกทางนินเทนโดยังลังเลที่จะเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่มาทดแทนเครื่องแฟมิคอมที่เริ่มจะล้าสมัยแล้ว
เครื่องซูเปอร์นินเทนโดออกแบบโดยนาย มาซายูกิ อุเอมูระ ผู้ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครื่องแฟมิคอม และเครื่องซูเปอร์นินเทนโดได้ออกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 ในราคา 25,000 เยน ซึ่งการวางขายก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สามารถขายได้ถึง 300,000 เครื่องภายในไม่กี่ชั่วโมงแรก สร้างกระแสในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมขายดีมากจนถึงกับไปดึงดูดความสนใจของพวกยากูซ่า ทำให้ทางนินเทนโดถึงกับต้องตัดสินใจเลื่อนย้ายสินค้าในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันการปล้นชิงเลยทีเดียว ความสำเร็จอย่างล้นหลามนี้ ทำให้นินเทนโดยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในวงการอุตสาหกรรมวิดีโอเกมเอาไว้ได้ เครื่องซูเปอร์นินเทนโดออกวางขายในอเมริกาในปี 1991 โดยทางนินเทนโดได้ออกแบบรูปร่างของเครื่องใหม่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ซูเปอร์ นินเทนโด เอนเตอร์เทนเม้นท์ ซิสเทม (SNES) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน
สงครามคอนโซล
การมาถึงของเครื่องซูเปอร์นินเทนโดก่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างนินเทนโดและเซกา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสงครามคอนโซลที่ดุเดือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเกมคอนโซล เซกาได้เจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นโดยมุ่งหมายให้เครื่องเมกาไดรฟ์ของตนมีเกมที่เจาะกลุ่มตลาดที่เป็นผู้ใหญ่กว่า และดีไซน์และเน้นความ "เท่ห์" ยอดขายของเครื่องซูเปอร์นินเทนโดและเมกาไดรฟ์เสมอกันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1992[2] โดยที่ไม่มีใครเป็นผู้นำตลาดอย่างถาวรเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุดนินเทนโดก็เป็นผู้ชนะ สามารถครอบครองตลาดเครื่องเกมคอนโซลของประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ได้[3]
SNES-CD
เมื่อยุคของสื่อบันทึกข้อมูลด้วย CD-ROM มาถึง ทางนินเทนโดได้ให้ความสนใจกับสื่อบันทึกชนิดใหม่นี้ จนเมื่อบริษัทคู่แข่งอย่างเซกา ได้ออกอุปกรณ์เสริมที่ทำให้เครื่องเมกาไดรฟ์เล่นเกมจาก CD ได้ที่ชื่อ SEGA-CD ขึ้นมา ทางนินเทนโดจึงมีความต้องการพัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับเล่น CD ของตนขึ้นมาบ้าง ทางนินเทนโดได้ติดต่อกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำอย่างโซนี่และฟิลิปในการร่วมทุนกันพัฒนาอุปกรณ์เสริมดังกล่าว แต่การร่วมทุนพัฒนากับทั้ง 2 บริษัทต่างก็ประสบความล้มเหลวทั้งคู่ นินเทนโดจึงจึงหันไปทุ่มเทความสนใจให้กับการพัฒนาเครื่องเกมรุ่นใหม่ที่ใช้ตลับอย่างเครื่องนินเทนโด 64แทน แต่การเข้าร่วมทุนพัฒนาที่ไม่สำเร็จนี้ได้เป็นจุดกำเนิดเครื่องเกมคอนโซลยุคใหม่ 2 เครื่อง บริษัทโซนี่ได้เอาสิ่งที่เหลือจากการพัฒนาที่ล้มเหลวมาพัฒนาต่อเป็นเครื่องเพลย์สเตชัน ส่วนทางฟิลิปก็ได้พัฒนาเครื่อง CD-I ขึ้นมา[4]
เกม
มีเกมสำหรับซูเปอร์แฟมิคอมออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 1,757 เกม โดยมีการวางจำหน่ายในอเมริกาเหนือ 717 เกม, ในยุโรป 521 เกม, และในญี่ปุ่น 1,448 เกม เกมของซูเปอร์แฟมิคอมหลายเกมได้รับการยกย่องว่าเป็นเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล เช่น ซูเปอร์มาริโอเวิลด์ (1990), เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: อะลิงก์ทูเดอะพาสท์ (1991), ดองกีคองคันทรี (1994), เอิร์ธบาวด์ (1994), ซูเปอร์เมทรอยด์ (1994), โยชีไอแลนด์ (1995)
ยอดจำหน่าย
เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมขายได้ 49.10 ล้านเครื่องทั่วโลก โดยในอเมริกาขายได้ 23.35 ล้านเครื่อง ในญี่ปุ่นขายได้ 17.17 ล้านเครื่อง เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น โดยเครื่องเกมที่มียอดขายรองลงมาคือเครื่องเมกาไดรฟ์และ TurboGrafx-16
อ้างอิง
- ↑ จำนวนการขายเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม เก็บถาวร 2009-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน(อังกฤษ)
- ↑ "16-bit games take a bite out of sales - computer games". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2012-06-04.
- ↑ "A Brief History of Game Consoles". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-02-24.
- ↑ "Sony to Play Games". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2009-02-24.