ดัชนีราคาผู้บริโภค

ดัชนีราคาผู้บริโภค (อังกฤษ: consumer price index : CPI) หมายถึง ตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครอบครัวหรือผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ ในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาในปีที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน

ดัชนีราคาผู้บริโภค

ดัชนีราคาผู้บริโภค แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาสินค้าและบริการมักถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงค่าจ้างและเงินเดือนให้สอดคล้องกับราคาของที่เพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่มีการปรับค่าจ้างและเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะทำให้เงินจำนวนเดิมซื้อของได้น้อยลง นอกจากการต่อรองอัตรา ค่าจ้างและเงินเดือนของสหภาพแรงงาน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ก็ใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ เช่นเดียวกัน เช่น บริษัทบางแห่งในสหรัฐอเมริกากำหนดว่าค่าจ้างจะต้องเพิ่มขึ้น 1 เซ็นต์ต่อชั่วโมงเมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคเปลี่ยนไป 0.5 เป็นต้น ดัชนีราคาผู้บริโภคยังถูกใช้ในการปรับปรุงค่าเช่า การปรับอัตราค่าธรรมเนียมใช้ทางด่วน เป็นต้น และหากจะมองถึงสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปดัชนีราคาผู้บริโภคจะเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นภาวะของเงินเฟ้อ และยังใช้เป็นเครื่องวัดอำนาจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย

ดัชนีราคาผู้บริโภคสร้างได้โดยวิธีใช้ค่าเฉลี่ยสัมพัทธ์ถ่วงน้ำหนัก โดยใช้ถ่วงน้ำหนักคงที่ ข้อมูลจะได้มาจากการเก็บสถิติราคาสินค้าและบริการเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส แล้วนำมาเปรียบเทียบกับปีฐาน ราคาที่กล่าวถึงนี้ คือ ราคาขายปลีกที่ผู้บริโภค ซื้อขายกันอยู่ในตลาด สินค้าที่นำมาใช้คำนวณมีทั้งที่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพและสินค้าฟุ่มเฟือยใช้ในหมู่ผู้มีระดับรายได้ปานกลาง สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพก็ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การรักษาพยาบาล ส่วนพวกสินค้าฟุ่มเฟือยก็ได้แก่ บริการส่วนบุคคล พาหนะ และบริการการขนส่ง การบันเทิง ยาสูบ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล

ส่วนการเก็บราคาสินค้านั้นเก็บได้จากตลาดต่างๆที่กำหนดไว้เป็นประจำ และจัดเก็บตามลักษณะจำเพาะของสินค้าที่กำหนดให้กับสินค้าแต่ละรายการ ตามการสำรวจความนิยมของ ผู้บริโภค เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน จนถึงรายไตรมาส ตัวอย่างการคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค ลองคำนวณเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ ปี 2543 กับ ปี 2544 สมมติตัวเลข ปี 2543 เป็น 197.7 และปี 2544 เป็น 202.6 ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2544 เพิ่มจากปี 2543 ดังนี้ = (202.6/197.7) x 100 = 102.5 ดังนั้นดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 102.5-100 = 2.5 ดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2544 ที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจบ่งบอกได้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 ไม่ถือว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น

ข้อจำกัดในการใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค

การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำไปใช้

  • ดัชนีราคาผู้บริโภคใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าที่ซื้อขายกันในกลุ่มผู้ทำงานและมีรายได้ระดับกลางเท่านั้น ไม่สามารถจะนำไปใช้กับผู้มีรายได้ระดับอื่นหรือใช้กับคนทั่วไปได้ และไม่อาจใช้แทนดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคเฉพาะกลุ่มมีลักษณะแตกต่างกัน
  • ดัชนีราคาผู้บริโภคใช้วัดเฉพาะการเปลี่ยนแปลงราคาที่แท้จริงของสินค้าและบริการแต่ไม่ได้มีผลต่อการวัดปัจจัยอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายในการครองชีพของครอบครัว

คำไข (Keywords) : ดัชนีราคาผู้บริโภค / Consumer Price Index / CPI / การวัดเงินเฟ้อ / Indicator / เงินเฟ้อ / เงินฝืด / เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน / ความรู้อ้างอิง / นิยามธุรกิจ

อ้างอิง

  • ณรงค์ ธนาวิภาส. เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].
  • เสาวลักษณ์ เชฎฐาวิวัฒนา. คู่มือไขปริศนา ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].