นกกีวีสีน้ำตาล
นกกีวีสีน้ำตาล | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Apterygiformes |
วงศ์: | Apterygidae |
สกุล: | Apteryx |
สปีชีส์: | A. australis |
ชื่อทวินาม | |
Apteryx australis Shaw, 1813 | |
ชนิดย่อย[2] | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
นกกีวีสีน้ำตาล หรือ นกกีวีสีน้ำตาลใต้ หรือ นกกีวีธรรมดา (อังกฤษ: Brown kiwi, Southern brown kiwi, Common kiwi[3]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Apteryx australis) เป็นนกกีวีชนิดหนึ่ง จัดเป็นนกกีวีชนิดที่รู้จักกันมากที่สุด
มีรูปร่างลักษณะทั่วไปเหมือนกับนกกีวีสีน้ำตาลเกาะเหนือ (A. mantelli) ที่ถูกแยกชนิดกันชัดเจนเมื่อปี ค.ศ. 2000 คือ มีขนปกปุยปกคลุมลำตัวสีน้ำตาล จะงอยปากแหลมยาว ปีกมีขนาดสั้นซ่อนอยู่ภายใต้ขนที่หนา พบกระจายพันธุ์เฉพาะเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ตั้งแต่บริเวณทิศใต้จนถึงทิศตะวันตก และยังสามารถพบได้ในพื้นที่ที่ราบสูง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ[2]
- A. a. australis เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป
- A. a. lawryi พบกระจายพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลของทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะใต้ แถบฟยอร์ดแลนด์ มีความสูง 40 เซนติเมตร[3]
นกกีวีสีน้ำตาล เป็นนกที่มีอายุขัยได้ถึง 30 ปี และเป็นนกที่มีขนาดของไข่ใหญ่ที่สุดในบรรดานกทั้งหมดเมื่อกับขนาดลำตัว ไข่ของนกกีวีมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ถึง 6 เท่า มีน้ำหนักถึง 1 ปอนด์ และเมื่อตัวเมียตั้งท้อง ไข่ในช่องท้องเมื่อมีการพัฒนาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดันอวัยวะภายในของนกตัวเมียจนทิ่มกับกระดูก และท้องโย้จนแทบติดกับพื้นดิน ซึ่งนกตัวเมียจะได้รับความเจ็บปวดมาก จนบางครั้งต้องลงไปแช่ตัวในน้ำ ตัวเมียใช้ระยะเวลาการตั้งท้องนานเพียง 2 สัปดาห์ โดยวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟัก โดยใช้ระยะเวลานานกว่า 80 วัน หรือ 3 เดือน เท่ากับการตั้งท้องของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเท่ากันโดยเฉลี่ย ลูกนกเมื่อฟักออกมา ยังไม่ต้องกินอาหาร เนื่องจากมีถุงไข่แดงติดกับตัวมาด้วย ลูกนกกีวีเมื่อฟักออกมาจะมีขนปกคลุมทั้งตัวแตกต่างจากนกจำพวกอื่นอย่างชัดเจน นกกีวีตัวเมียหนึ่งตัวจึงสามารถมีลูกได้ทั้งหมด 30 ตัวตลอดอายุขัย และตัวผู้ขณะที่ฟักไข่ ในบางครั้งที่ต้องออกหาอาหาร ไข่จะไม่ได้รับความอบอุ่น ความหนาวเย็นของอากาศจะซึมแทรกเข้าไปในไข่ ซึ่งอุณหภูมิแบบนี้จะส่งผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนที่อยู่ภายใน แต่สำหรับนกกีวีสีน้ำตาลแล้ว ช่วงเวลานั้นตัวอ่อนจะหยุดพัฒนาการได้นานราว 1 ชั่วโมง[4]
นอกจากนี้แล้ว อุณหภูมิโดยปกติในร่างกายของนกกีวีสีน้ำตาลจะอยู่ที่ 7 องศาฟาเรนไฮน์ นับว่าต่ำที่สุดในบรรรดานกทั้งหมด เนื่องจากต้องการเก็บความอบอุ่นไว้ในร่างกาย เมื่อต้องอาศัยอยู่ในป่าที่มีความหนาวเย็น
นกกีวีสีน้ำตาล เป็นสัตว์ขี้ตื่น ขี้อาย มักชอบหลบตัวในพุ่มไม้ อันเป็นสัญชาตญาณที่ตกทอดมาในพันธุกรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เพื่อหลบหนีสัตว์นักล่าหรือสัตว์กินเนื้อ เช่น สโทธ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อันเป็นภัยคุกคาม นกกีวีสีน้ำตาลอาศัยอยู่ในโพรงที่ขุดขึ้นบนพื้นดิน และมีการป้องกันตัวด้วยการกระโดดถีบด้วยอุ้งตีน[4]
รูปภาพ
-
โครงกระดูกนกกีวีสีน้ำตาล
-
ภาพนกกีวีสีน้ำตาลและไข่ (ค.ศ. 1913)
-
วิดีโอคลิปนกกีวีสีน้ำตาลชนิดย่อย A. a. lawryi
อ้างอิง
- ↑ BirdLife International (2012). "Apteryx australis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
- ↑ 2.0 2.1 จาก itis.gov
- ↑ 3.0 3.1 Davies, S.J.J.F. (2003). "Kiwis". In Hutchins, Michael. Kiwis. 8 Birds I Tinamous and Ratites to Hoatzins (2 ed.). Farmington Hills, MI: Gale Group. pp. 89–92. ISBN 0-7876-5784-0.
- ↑ 4.0 4.1 New Zealand ดินแดนแห่งนก, "Mutant Planet", ทางแอนิมอลแพลนเน็ต. สารคดีทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Apteryx australis ที่วิกิสปีชีส์