ประทุษวาจา
ประทุษวาจา (อังกฤษ: hate speech) คือ ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ เป็นต้น[1][2]
กฎหมายในบางประเทศระบุว่า ประทุษวาจา หมายถึง ถ้อยคำ ท่วงทีหรือพฤติกรรม ลายลักษณ์อักษร หรือการแสดงออกอย่างใด ๆ ซึ่งต้องห้าม เพราะอาจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การต่อต้าน หรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองไว้[3][4][5][6] ในบางประเทศ ผู้เสียหายจากประทุษวาจาสามารถร้องขอการเยียวยาตามกฎหมายได้
เว็บไซต์ที่ใช้ประทุษวาจานั้นเรียก "เฮตไซต์" (hate site) ส่วนใหญ่มีลานประชาคมอินเทอร์เน็ต (internet forum) และย่อข่าวซึ่งนำเสนอแนวคิดบางแนวโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันว่า บนโลกอินเทอร์เน็ตควรมีเสรีภาพในการพูดด้วยหรือไม่ การประชุมอภิปรายข้อถกเถียงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees) อย่างต่อเนื่อง[7]
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ข้อ 4 ประณามและให้รัฐภาคีตรากฎหมายลงโทษ "ความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหนือกว่าทางเชื้อชาติ หรือความเกลียดชังอันเกิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ การช่วยกระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และการกระทำรุนแรงหรือกระตุ้นให้เกิดการกระทำรุนแรงนั้นต่อชนเชื้อชาติหนึ่งเชื้อชาติใด หรือกลุ่มบุคคลที่มีสีผิวอื่นหรือเผ่าพันธุ์กำเนิดอื่น ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินต่อกิจกรรมชาตินิยม"[8] ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ 20 ว่า "การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย"[9] อย่างไรก็ดี วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไมเคิล โอฟลาเฮอร์ตี (Michael O'Flaherty) พร้อมด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Committee) ออกอรรถกถาสามัญ (general comment) ฉบับที่ 34 ว่า ประทุษวาจาไม่เข้าข่ายรุนแรงถึงขนาดต้องห้ามตามข้อ 20 ดังกล่าว[10]
ในประเทศไทย ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติคำว่า "ประทุษวาจา" ขึ้นเมื่อต้น พ.ศ. 2557[11] และเคยมีแนวคิดจะบรรจุบทบัญญัติเกี่ยวกับประทุษวาจาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ถูกตัดออกในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ[11]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ Definitions for "hate speech", Dictionary.com. Retrieved 25 June 2011
- ↑ Nockleby, John T. (2000), “Hate Speech,” in Encyclopedia of the American Constitution, ed. Leonard W. Levy and Kenneth L. Karst, vol. 3. (2nd ed.), Detroit: Macmillan Reference US, pp. 1277-1279. Cited in "Library 2.0 and the Problem of Hate Speech," by Margaret Brown-Sica and Jeffrey Beall, Electronic Journal of Academic and Special Librarianship, vol. 9 no. 2 (Summer 2008).
- ↑ Criminal Justice Act 2003
- ↑ An Activist's Guide to The Yogyakarta Principles; p125 by Yogyakarta Principles in Action
- ↑ Kinney, Terry A. (2008). "Hate Speech and Ethnophaulisms". The International Encyclopedia of Communication. Blackwell Reference Online. doi:10.1111/b.9781405131995.2008.x. สืบค้นเมื่อ 10 March 2010.
- ↑ Uslegal.com: Hate speech Retrieved 31 July 2012
- ↑ Report of the High Commissioner for Human Rights on the use of the Internet for purposes of incitement to racial hatred, racist propaganda and xenophobia, and on ways of promoting international cooperation in this area, Preparatory Committee for the World Conference Against Racism, Racial Discrimination, Xenophobia, and Related Intolerance, United Nations, 27 April 2001
- ↑ Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination, Article 4
- ↑ International Covenant on Civil and Political Rights, Article 20
- ↑ Paragraph 54 of "Draft general comment No. 34", UN Human Rights Committee Hundredth and first session, 3 May 2011
- ↑ 11.0 11.1 รามสูต, พิรงรอง (2558-02-11). "ประทุษวาจา (hate speech) เบื้องต้น สำหรับสังคมไทย". tcijthai.com. Bangkok: ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. สืบค้นเมื่อ 2561-06-16.
{cite web}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)