ปราสาทเคอนิชส์แบร์ค

ปราสาทเคอนิชส์แบร์ค พ.ศ. 2438
ปราสาทเคอนิชส์แบร์คฝั่งทิศตะวันออก พ.ศ. 2453

ปราสาทเคอนิชส์แบร์ค (เยอรมัน: Königsberger Schloss; รัสเซีย: Кёнигсбергский замок) คือปราสาทในเมืองเคอนิชส์แบร์ค เยอรมนี (คาลีนินกราด สหพันธรัฐรัสเซีย ในปัจจุบัน) และเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของเมือง ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของจังหวัดปรัสเซียตะวันออก (แคว้นคาลีนินกราด ในปัจจุบัน)

ประวัติศาสตร์

แต่เดิมบริเวณที่ตั้งของปราสาทเคยเป็นป้อมปราการปรัสเซียเก่านามว่า ทูวังสเตอ (Tuwangste) ใกล้กับแม่น้ำเพรเกิล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในการเดินทางสัญจรของปรัสเซีย ใกล้กันนั้นเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวปรัสเซียที่ภายหลังรู้จักกันในนาม เลอเบนิชท์, ซัคไฮม์ และทรักไฮม์ ต่อมาเหล่าอัศวินทิวทอนิกได้ร่วมกันสร้างป้อมปราการจากดินและไม้ขึ้น ภายหลังจากการรุกรานดินแดนบริเวณดังกล่าวได้สำเร็จในปี พ.ศ. 1798 และหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 1800 จึงได้มีการสร้างปราสาทออร์เดนบูร์กขึ้นจากหิน มีการขยายพื้นปราสาทให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งต่อเติมอีกหลายครั้งตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ในภายหลัง ป้อมปราการดังกล่าวถูกตั้งให้เป็นที่พำนักของขุนนางศักดินาชั้นแกรนด์มาสเตอร์ในระบอบทิวทอนิก ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่พำนักของผู้ปกครองแห่งดัชชีปรัสเซียในที่สุด

ใน สารานุกรมบริตานิกา พ.ศ. 2358 กล่าวถึงปราสาทไว้ว่า "ปราสาทอันงดงามที่ซึ่งท้องพระโรงยาว 83.5 เมตร และกว้าง 18 เมตร โดยปราศจากเสาค้ำยัน พร้อมหอสมุดอันเลิศเลอ ส่วนหอคอยแบบกอทิกก็สูงมาก (100 เมตร) และมีขั้นบันไดสู่จุดยอดจำนวน 284 ขั้น จึงสามารถมองเห็นบริเวณอันห่างไกลได้จากที่แห่งนี้" ทั้งนี้อาคารส่วนขยายอื่น ๆ ของปราสาทเรียงตัวกันเป็นจัตุรัสรูปสี่เหลี่ยมและตั้งอยู่ใกล้กันกับใจกลางของเมือง ซึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของระบอบทิวทอนิกในอดีต ต่อจากนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ปราสาทถูกปรับเปลี่ยนและต่อเติมอีก ปีกด้านตะวันตกของปราสาทเป็นที่ตั้งของโบสถ์พระราชวัง ชลอสส์เคียร์เคอ (Schloßkirche) อันเป็นสถานที่ที่พระเจ้าฟรีดริชที่ 1 ใช้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในปี พ.ศ. 2244 เช่นเดียวกับจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ในปี พ.ศ. 2404 ตามผนังและเสาค้ำยันประดับด้วยตราอาร์มของเครืองราชอิสริยาภรณ์เหยี่ยวดำของปรัสเซีย ส่วนบริเวณเหนือโบสถ์คือห้องโถงมอสโกวิเทอร์-ซาลขนาดยาว 83 เมตร สูง 18 เมตร นับว่าเป็นห้องโถงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจักรวรรดิเยอรมัน

ส่วนที่พำนักของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นและพิพิธภัณฑ์ปรัสเซีย (ปีกด้านทิศเหนือ) เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าชมได้ทุกวัน เป็นปกติเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการปิดไม่ให้เข้าชมอีกต่อไป โดยในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น พิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานนิทรรศการ ชุดสะสมของปรัสเซีย (Prussian collection) กว่า 240,000 รายการ ซึ่งเป็นชุดสะสมที่เก็บรวบรวมโดยกอสมุดแห่งรัฐและมหาวิทยาลัยเคอนิชส์แบร์ค เช่นเดียวกับภาพวาดโดยศิลปินโลวิส โครินธ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 ฟรีดริช ลาห์ส ได้นำขุดสำรวจบริเวณลานกว้างของปราสาท และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง งานศิลปะหลายชิ้นที่ยึดมาได้จากรัสเซียถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่นี้ คาดว่างานศิลปะบางส่วนในจำนวนนั้นถูกยึดมาจากห้องอำพันด้วย รวมถึงชุดสะสมของจังหวัดปรัสเซียตะวันออกก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ภายในอาณาบริวเณของปราสาทยังเป็นที่ตั้งของ บลุทเกอริชท์ (Blutgericht) โรงเตี๊ยมจำหน่ายไวน์ และมีการใช้รูปของฮันส์ ฟอน ซากาน เป็นเครื่องวัดทิศทางลมอีกด้วย

ต่อมาในในปี พ.ศ. 2487 กองทัพอากาศสหราชอาณาจักรปฏิบัติการทิ้งระเบิดในเคอนิชส์แบร์ค ส่งผลให้ไฟไหม้ปราสาทเสียหายทั้งหมด[1] อย่างไรก็ตาม ส่วนของกำแพงหินที่หนาทึบรอดพ้นการถูกทำลายจากทั้งการทิ้งระเบิดทางอากาศและการระดมยิงปืนใหญ่ของฝ่ายโซเวียตมาได้ เช่นเดียวกับการสู้รบในเขตเมืองเคอนิชส์แบร์คช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 ช่วยปกป้องไม่ให้ซากปรักหักพังของปราสาทถูกทำลายไปมากกว่าเดิม จนในที่สุดเมืองเคอนิชส์แบร์คที่ถูกทำลายล้างจากสงครามก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นคาลีนินกราดในปี พ.ศ. 2489 มาจนถึงปัจจุบัน

ลานกว้างและโบสถ์ภายในปราสาท

คาลีนินกราดถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยหวังให้เป็นเมืองต้นแบบ แต่ไม่หลงเหลือไว้ซึ่งความเป็นเยอรมันในอดีตอยู่เลย ต่อมาเลโอนิด เบรจเนฟ ออกคำสั่งให้ทำลายซากปรักหักพังที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของปราสาท เพื่อไม่ให้เป็นที่ย้ำเตือนถึง "ลัทธิทหารนิยมของปรัสเซีย" ในอดีต ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบรรดานักศึกษาและนักวิชาการในคาลีนินกราด ในที่สุดซากที่เหลืออยู่จึงถูกระเบิดทำลายในปี พ.ศ. 2511 อย่างไรก็ตาม ซากปรักหักพังของมหาวิหารเคอนิชส์แบร์คที่อยู่บริเวณใกล้เคียงและเป็นที่ฝังศพของอิมมานูเอล คานต์ ไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย แต่ถูกคงไว้เช่นนั้นไปจนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 คาบเกี่ยวช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มหาวิหารจึงถูกบูรณะปฏิสังขรณ์และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

ปัจจุบัน

ในปัจจุบัน จัตุรัสกลางเมืองของคาลีนินกราดถูกสร้างขึ้นบนบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของปราสาท ซึ่งแม้ว่าจะชื่อจัตุรัสกลางเมืองแต่แท้จริงแล้วตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของใจกลางเมือง ติดกันกับจัตุรัสคือที่ตั้งของ "บ้านโซเวียต" (House of Soviets) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแนวคูเมืองมาก่อนที่จะถูกถมกลบ เดิมทีในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลต้องการใช้ให้เป็นอาคารที่ทำการของฝ่ายปกครองกลาง แต่แผนพัฒนาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เมื่ออาคารขนาดใหญ่ทั้งหลังเริ่มจมลงสู่พื้นดินทีละเล็กทีละน้อย เนื่องจากรากฐานของตึกไม่มั่นคงมากพอ อันเป็นผลมาจากการถล่มของอุโมงค์ใต้ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชั้นใต้ดินของปราสาท ผู้คนจำนวนมากเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การแก้แค้นของชาวปรัสเซีย" หรือ "ปีศาจร้าย" อย่างไรก็ตาม งานโยธาภายนอกของอาคารก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด พร้อมกับการมาเยี่ยมชมของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินในปี พ.ศ. 2548 ในขณะที่งานด้านในตัวอาคารยังคงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

หน่วยงานราชการของเมืองคาลีนินกราดชุดปัจจุบันถกเถียงกันว่าควรนำงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมของรัสเซียมาสร้างปราสาทขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งการบูรณะปราสาทขึ้นมาใหม่นี้แตกต่างจากการบูรณะมหาวิหารเคอนิชส์แบร์ค เนื่องจากต้องทำการสร้างปราสาทขึ้นมาใหม่หมดทั้งหลังเพราะไม่มีเศษซากใดของตัวอาคารเก่าหลงเหลืออยู่เลย ดังนั้นแผนดังกล่าวจงตกไปชั่วขณะ และเปลี่ยนไปเป็นแผนการปูพื้นหินให้กับจัตุรัสของเมืองแทน

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมประจำภูมิภาค มีฮาอิล อันเดรเยฟ ประกาศว่าจะจัดการลงประชามติในประเด็นการสร้างปราสาทขึ้นมาใหม่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งก่อนหน้าแต่ตั้งใจจะจัดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แล้ว แต่ด้วยแรงกดดันจากเรื่องงบประมาณทำให้การลงประชามติดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป[2][3]

ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2544 นิตยสารเยอรมัน แดร์ ชปีเกิล (Der Spiegel) ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การขุดค้นบริเวณส่วนที่เคยเป็นห้องใต้ดินของปราสาท ดำเนินการโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะคาลีนินกราด ซึ่งคาดว่าจะมีการค้นพบสมบัติที่ถูกฝังอยู่หลายชิ้นรวมไปถึงส่วนที่เหลือของห้องอำพัน และเมื่อขุดค้นก็พบสิ่งของนับพันชิ้นอยู่จริง ๆ จนในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2548 มีการขุดพบหีบศพสีเงินอันลึกลับพร้อมกับเหรียญโลหะและเครื่องรางของขลังจำนวนหนึ่ง สร้างความตื่นเต้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก ทั้งนี้มีการวางแผนไว้ว่าเมื่อการขุดค้นสิ้นสุดลงจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมห้องใต้ดินบางส่วนของปราสาทในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งต่อไป

ดูเพิ่ม

  • ความตกลงพ็อทซ์ดัม

อ้างอิง

  1. Isabel Denny,The fall of Hitler's fortress city: the battle for Königsberg, 1945. MBI Publishing Company, 2007, p.163.
  2. http://kaliningrad.kp.ru/online/news/681098/
  3. http://www.klops.ru/news/23509.html