ปลานวลจันทร์ทะเล

ปลานวลจันทร์ทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 100–0Ma ครีเทเชียสตอนต้น–ปัจจุบัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: อันดับปลานวลจันทร์ทะเล
วงศ์: ปลานวลจันทร์ทะเล
วงศ์ย่อย: Chaninae

Lacépède, 1803
สกุล: Chanos

(Forsskål, 1775)
สปีชีส์: Chanos chanos
ชื่อทวินาม
Chanos chanos
(Forsskål, 1775)
ชื่อพ้อง
  • Butirinus argenteus Jerdon, 1849
  • Butirinus maderaspatensis Jerdon, 1849
  • Chanos arabicus Lacepède, 1803
  • Chanos chloropterus Valenciennes, 1847
  • Chanos cyprinella Valenciennes, 1847
  • Chanos gardineri Regan, 1902
  • Chanos indicus (van Hasselt, 1823)
  • Chanos lubina Valenciennes, 1847
  • Chanos mento Valenciennes, 1847
  • Chanos mossambicus (Peters, 1852)
  • Chanos nuchalis Valenciennes, 1847
  • Chanos orientalis Valenciennes, 1847
  • Chanos salmoneus (Forster, 1801)
  • Chanos salmonoides Günther, 1879
  • Cyprinus pala Cuvier, 1829
  • Cyprinus palah (Cuvier, 1829)
  • Cyprinus tolo Cuvier, 1829
  • Leuciscus palah Cuvier, 1829
  • Leuciscus salmoneus (Forster, 1801)
  • Leuciscus zeylonicus Bennett, 1833
  • Lutodeira chanos (Forsskål, 1775)
  • Lutodeira chloropterus (Valenciennes, 1847)
  • Lutodeira indica van Hasselt, 1823
  • Lutodeira mossambica Peters, 1852
  • Lutodeira mossambicus Peters, 1852
  • Lutodeira salmonea (Forster, 1801)
  • Mugil chanos Forsskål, 1775
  • Mugil salmoneus Forster, 1801

ปลานวลจันทร์ทะเล หรือ ปลานวลจันทร์ เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดได้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chanos chanos อยู่ในวงศ์ Chanidae ซึ่งถือเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้และสกุลนี้[2][3][4] แต่พบสกุลที่สูญพันธุ์จากยุคครีเทเชียสเท่าที่พบอย่างน้อย 5 ชนิด[4]

ปลานวลจันทร์ทะเลมีรูปร่างเพรียวยาว เกล็ดเล็กละเอียดสีเงินแวววาว ครีบหางเว้าลึก ครีบท้องและครีบหลังเล็ก เป็นปลาที่มีความปราดเปรียวว่องไว พบได้ตามชายฝั่งทะเลแถบอบอุ่นทั่วภูมิภาคของโลก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารได้แก่ ปลาอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า และสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ รวมถึงสาหร่ายทะเลด้วย มีขนาดโตเต็มที่ยาวได้ถึง 1.5 เมตร ในประเทศไทยพบมากที่แถบจังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และบางส่วนในจังหวัดตราด โดยมีการสำรวจพบครั้งแรกที่บ้านคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[5]

ลูกปลาวัยอ่อนจะเข้ามาอาศัยเจริญเติบโตในป่าชายเลน ในราวเดือนเมษายน–พฤษภาคม การที่จะนำลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อเพื่อเป็นปลาเศรษฐกิจจะกระทำในช่วงเวลานี้ โดยปลาจะวางไข่ในเวลากลางคืน ไข่เป็นแบบไข่ลอย มีสีเหลืองอ่อน ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 36 ชั่วโมง ลูกปลาในระยะแรกจะมีลำตัวใส และจะพัฒนาการเหมือนตัวเต็มวัยในอายุราว 21 วัน ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 7 เดือนก็สามารถจับขายได้ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย และยังส่งลูกปลาไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐ, ไต้หวัน ที่นั่นนิยมรับประทานปลานวลจันทร์ทะเลด้วยการแปรรูปเป็นลูกชิ้นเนื้อปลา ส่วนหัวและท้องนิยมต้มใส่ขิงรับประทาน[5] ชาวฟิลิปปินส์รู้จักปลาชนิดนี้เหมือนที่ชาวไทยรู้จักปลาทู[6] นอกจากจะใช้บริโภคเป็นปลาเศรษฐกิจแล้ว ยังนิยมตกเป็นเกมกีฬาและเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 จากการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในเชิงพาณิชย์ หลังจากที่ได้ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลานิลจากมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นแล้ว จึงเริ่มมีการเพาะเลี้ยงโดยมีการนำปลาส่วนหนึ่งที่จับได้จากธรรมชาติไปทดลองเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน ในโครงการพระราชดำริ และนำลูกปลาไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ด้วยองค์ความรู้ทางการประมงในขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอ เรื่องการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลก็ได้ถูกลืมเลือนหายไป จนกระทั่งในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2544 จึงมีรับสั่งเรื่องปลานวลจันทร์ทะเลอีกครั้ง กรมประมงจึงทำการศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังจนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2553 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 จึงเริ่มถ่ายองค์ความรู้นี้แก่ชาวประมงเกษตรกรได้ นอกจากการบริโภคสดแล้ว ปลานวลจันทร์ทะเลยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ปลากระป๋อง, ลูกชิ้น, ปลานวลจันทร์ทะเลตากแห้งหรือแดดเดียว, ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม หรือทำเป็นน้ำยารับประทานคลุกกับขนมจีน เป็นต้น[7]

ปลานวลจันทร์ทะเลยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า "ปลาดอกไม้", "ปลาชะลิน" หรือ "ปลาทูน้ำจืด" เป็นต้น[8]

อ้างอิง

  1. Freyhof, J.; Sparks, J.S.; Kaymaram, F.; Feary, D.; Bishop, J.; Al-Husaini, M.; Almukhtar, M.; Hartmann, S.; Alam, S.; Al-Khalaf, K. (2019). "Chanos chanos". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T60324A151598011. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-2.RLTS.T60324A151598011.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. Eschmeyer, W. N.; R. Fricke, บ.ก. (4 January 2016). "Catalog of Fishes". California Academy of Sciences. สืบค้นเมื่อ 25 January 2016.
  3. Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2015). "Chanidae" ในฐานข้อมูลปลา. ฉบับ October 2015
  4. 4.0 4.1 Nelson, J. S. (2006). Fishes of the World (4th ed.). Hoboken, NJ: John Wiley & Sons. pp. 135–136. ISBN 978-0-471-25031-9.
  5. 5.0 5.1 หน้า 24 เกษตร, ปลานวลจันทร์ทะเล ตลาดยังสดใส, "เกษตรนวัตกรรม". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,759: วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
  6. ชนิดของสัตว์ : ในป่าชายเลน
  7. หน้า 7, ปลานวลจันทร์ทะเล หนึ่งเดียวในพระราชกระแสรับสั่ง โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21344: วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 10 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  8. [https://web.archive.org/web/20120831122605/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-23-search.asp เก็บถาวร 2012-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นวลจันทร์ทะเล น. จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ปลานวลจันทร์ทะเล ที่วิกิสปีชีส์