หมึก (สัตว์)

หมึก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ดีโวเนียน หรือ คาร์บอนิฟอรัส–ปัจจุบัน
Loligo plei
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
Bather, 1888
อันดับ
  • †Belemnoidea
    • †Aulacocerida
    • †Belemnitida
    • †Hematitida
    • †Phragmoteuthida
  • Neocoleoidea (เซฟาโลพอดที่ยังมีชีวิตอยู่มากที่สุด)

หมึก เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และว่องไว มีหนวดรอบปาก 4-5 คู่ บนหนวดมีปุ่มดูดเรียงเป็นแถว มีหน้าที่จับเหยื่อป้อนเข้าปาก

เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา ชั้นเซฟาโลพอดซึ่งเป็นชั้นของสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม ชั้นย่อย Coleoidea ต่างจากกลุ่มสัตว์ที่ใกล้เคียงกันคือ Nautiloidea ซึ่งมีเปลือกแข็งห่อหุ้มภายนอกร่างกาย แต่หมึกส่วนใหญ่กลับมีกระดูกหรือเปลือกอยู่ภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นทุ่นหรือพยุงร่างกาย ซึ่งเรียกว่า ลิ้นทะเล ยังมีบางชนิดที่ไม่มีกระดูก แต่มีกระดูกอ่อนทดแทนเพื่อใช้ในการพยุงโครงสร้างร่างกาย

คำว่า Cephalopoda ซึ่งเป็นชื่อชั้นที่ใช้เรียกหมึก มาจากภาษากรีกแปลรวมกันว่า "สัตว์หัว-เท้า" (head-footed animals) เนื่องจากหมึกเป็นสัตว์ที่ไม่มีแขนขา เพียงแต่มีระยางค์ยื่นออกจากจากรอบ ๆ บริเวณปากเรียกว่า หนวด เท่านั้นเอง

หมึกวิวัฒนาการมาจากมอลลัสกา ในปลายยุคแคมเบรียน หรือราว 500 ล้านปีก่อน แต่กระนั้นหมึกและหอยในยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังมีระบบทางร่างกายหลายอย่างเหมือนกัน กล่าวคือ ระบบทางเดินอาหาร, ปาก, ฟัน และกล้ามเนื้อแบบแมนเทิล

ปัจจุบัน ได้มีการค้นพบหมึกแล้วว่า 1,000 ชนิด ชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ หมึกมหึมา (Mesonychoteuthis hamiltoni) ซึ่งเป็นหมึกในอันดับหมึกกล้วย อาศัยอยู่ในห้วงน้ำลึกของมหาสมุทรแอตแลนติก อาจยาวได้ถึง 14 เมตร นับเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย และเล็กที่สุดมีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตรด้วยซ้ำ เช่น หมึกในวงศ์ Idiosepiidae เป็นต้น

หมึกมีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการใช้เป็นอาหารมาช้านาน ในแทบทุกวัฒนธรรม หมึกถือเป็นสัตว์ทะเลที่ใช้ปรุงเป็นอาหาร ซึ่งสามารถปรุงสุดได้ทั้งสดและตากแห้ง เช่น ในอาหารไทย เช่น หมึกผัดกะเพรา หรือ หมึกย่าง เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะลิ้นทะเล ซึ่งมีแคลเซียมเป็นจำนวนมาก จึงนิยมให้นกหรือสัตว์ปีกกินเพื่อเพิ่มแคลเซียมในร่างกาย

นอกจากนี้แล้ว หมึกยังมักถูกอ้างอิงถึงในวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะหมึกยักษ์หรือหมึกที่มีขนาดใหญ่ เช่น โจมตีใส่เรือดำน้ำนอติลุสของกัปตันนีโม ในนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Twenty Thousand Leagues Under the Sea เป็นต้น[1]

สำหรับหมึกที่พบในน่านน้ำไทย ได้แก่ หมึกกระดองลายเสือ (Sepia pharaonis), หมึกกล้วย (Photololigo duvauceli), หมึกหอม (Sepioteuthis lessoniana), หมึกสายราชา (Octopus rex) เป็นต้น เลือดหมึกมีสีน้ำเงิน

การจำแนก

ตัวอย่างของ Ostenoteuthis siroi จากวงศ์ Ostenoteuthidae ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
  • ชั้น Cephalopoda
    • ชั้นย่อย Nautiloidea: หอยนา
    • ชั้นย่อย †Ammonoidea: ไอทีป
    • ชั้นย่อย Coleoidea
      • ชั้น †Belemnoidea: เบเลนอยด์ (สูญพันธุ์)
        • สกุล †Jeletzkya
        • อันดับ †Hematitida
        • อันดับ †Phragmoteuthida
        • อันดับ †Donovaniconida
        • อันดับ †Aulacocerida
        • อันดับ †Belemnitida
      • ชั้น Neocoleoidea
        • อันดับใหญ่ Decapodiformes
          • ?อันดับ †Boletzkyida
          • อันดับ Spirulida: หมึกเขาแกะ
          • อันดับ Sepiida: หมึกกระดอง
          • อันดับ Sepiolida: หมึกบ็อบเทล
          • อันดับ Teuthida: หมึกกล้วย
        • อันดับใหญ่ Octopodiformes
          • วงศ์ †Trachyteuthididae (ไม่แน่นอน)
          • อันดับ Vampyromorphida: หมึกแวมไพร์
          • อันดับ Octopoda: หมึกสาย, หมึกยักษ์
  • (อันดับไม่จัดเข้าพวก)
    • วงศ์ †Ostenoteuthidae[2]

การเคลื่อนที่โดยทั่วไปของหมึก

การเคลื่อนที่ของหมึกจะใช้วิธีขับน้ำจากบริเวณส่วนในของลำตัวผ่านออกทางท่อที่อยู่ใกล้ ๆ หัว จึงทำให้เกิดแรงดันตัวให้พุ่งไปอีกด้านหนึ่ง ขณะเคลื่อนที่จะลู่หนวดตัวเองไว้เพื่อไม่ให้ต้านน้ำ นอกจากนี้แล้วหมึกยังมีอวัยวะที่ช่วยในการพยุงตัวที่เรียกว่า Statocyst ซึ่งหลักการทำงานเหมือนกับแท่งกระดูกในหูของมนุษย์ที่ช่วยในการทรงตัว จึงช่วยให้หมึกสามารถพุ่งไปในทิศทางต่าง ๆ ได้ทั้งขึ้นและลง นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งที่คล้ายกับกระดูกอ่อนที่เรียกว่า Statolith จะอยู่ในระหว่างเซลล์ประสาทแบบขน ซึ่งในกลุ่มหมึกกล้วยจะมีอวัยวะส่วนนี้วิวัฒนาการถึงขีดสุด นับว่าได้ว่า

หมึกหอม (Sepiotenthis lessoniana) หมึกชนิดหนึ่งที่พบได้ในน่านน้ำไทย

การหายใจของหมึก

หมึกจะมีจังหวะการยืดหดตัวของผนังลำตัว ที่จะกระตุ้นการดูดน้ำเข้าและขับน้ำออก น้ำที่มีออกซิเจนจะให้ไหลผ่านเหงือกตลอดเวลา โดยการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อลำตัว ช่องตัวและลิ้นปิดเปิด มีการทดลองพวกหมึกกระดองในสกุล Sepia ในภาวะปกติ จะมีอัตราการหายใจเข้า 55 ครั้งต่อนาที การหายใจจะเพิ่มขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นหรือระหว่างการเคลื่อนที่ก็จะมีการยืดหดตัวอย่างแรง

สีสันและการพรางตัว

หมึกเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดในโลก ที่สามารถพรางตัวได้ด้วยการเปลี่ยนสีลำตัวได้อย่างรวดเร็วคล้ายกับสีของหลอดนีออน เนื่องจากเซลล์บนผิวหนังของหมึกที่เรียกว่า Chromatophore ซึ่งอยู่ด้านบนลำตัวมากกว่าด้านข้าง ด้านในมีเม็ดสี เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะดึงผนังของเซลล์เหล่านี้ให้ขยายใหญ่ขึ้น จึงทำให้สีสันของหมึกสามารถแปรเปลี่ยนไปมาได้ ซึ่งการเปลี่ยนสีของหมึกนั้นไม่ได้ไปเป็นเพื่อการพรางตัวอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังแสดงออกถึงอารมณ์ได้อีกด้วย ในกลุ่มหมึกกระดองในเวลากลางวัน อาจจะซุกซ่อนตัวเพื่อพักผ่อน ด้วยการใช้ท่อพ่นน้ำที่เรียกว่า Funnel พ่นพื้นทรายให้เป็นแอ่ง แล้วซุกซ่อนตัวไว้ใต้ทรายนั้น

นอกจากนี้แล้ว หมึกยังมีสารเคมีพิเศษที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดไหนในโลกอีกด้วย นั่นคือ น้ำหมึก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาษาไทยด้วย น้ำหมึกในหมึกมีไว้เพื่อการป้องกันตัวและหลบหนีจากศัตรู เช่น ปลาขนาดใหญ่และสัตว์ทะเลกินเนื้อชนิดอื่น ๆ เช่น แมวน้ำหรือโลมา ที่กินหมึกเป็นอาหาร น้ำหมึกของหมึกนั้น แท้จริงแล้วเป็นเมือกอย่างหนึ่ง ที่มีสารแขวนลอยสีดำเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นของเหลวฟุ้งกระจายในน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งในน้ำหมึกนั้นมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นด่างซึ่งจะทำให้ปลาที่ล่าหมึกนั้นเกิดอาการมึนชาไปได้ชั่วขณะ ประกอบกับหมึกใช้เป็นม่านควันกำบังตัวหนีไปได้ด้วย หมึกนั้นจะพ่นน้ำหมึกออกมาจากท่อเดียวกับที่ใช้พ่นน้ำ

การป้องกันตัวและการล่าเหยื่อ

หมึกสายวงน้ำเงินใต้ (Hapalochlaena maculosa) เป็นชนิดของหมึกสายวงน้ำเงินที่พบในน่านน้ำไทย

หนวดหมึกนั้น นอกจากใช้จับเหยื่อแล้วยังใช้เพื่อข่มขู่และต่อสู้อีกด้วย เมื่อหมึกชูหนวดคู่หน้าที่ยาวกว่าหนวดอื่น หมายความว่า มันพร้อมที่จะสู้ ซึ่งหมึกโดยเฉพาะตัวผู้มักจะต่อสู้กัน เพื่อแย่งตัวเมียและปกป้องอาณาเขตหากิน สมองและการมองเห็นของหมึกนั้นวิวัฒนาการมาดีที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสั้นหลังทั้งหมด ระบบประสาทเมื่อเทียบกับมนุษย์แล้วถือว่าดีกว่าถึง 50 เท่า

หมึกเมื่อจะล่าเหยื่อ จะเริ่มต้นด้วยการจ้องเหยื่อก่อน และกะระยะให้พอดีที่จะจู่โจมเข้าใส่ ซึ่งหมึกจะใช้หนวดที่แข็งแรงมัดรัดเหยื่อไว้ก่อนที่จะใช้ขากรรไกรที่แข็งแรงและคมเหมือนปากนกแก้ว ฉีกกัดเหยื่อ นอกจากนี้แล้วในน้ำลายของหมึกยังมีสารเคมีที่เรียกว่า Chephalotoxin ซึ่งมีเฉพาะในกลุ่มหมึกยักษ์และหมึกกระดองเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทในสัตว์จำพวกกุ้งปูเท่านั้น เพื่อตกเป็นอาหารตามธรรมชาติของหมึก แต่ทว่าในหมึกน้ำลึกบางชนิดก็ไม่มีน้ำหมึกที่ว่านี้

นอกจากนี้แล้ว หมึกในสกุล หมึกสายวงน้ำเงิน ซึ่งเป็นหมึกในกลุ่ม หมึกยักษ์หรือหมึกสาย เป็นหมึกขนาดเล็กกว่า แต่ทว่าในน้ำลายมีพิษที่ร้ายแรงมาก เทียบเท่ากับพิษของงูเห่า 20 ตัวเลยทีเดียว[3]

โดยมากแล้ว หมึกจะใช้เวลากลางคืนออกหาอาหาร ส่วนกลางวันนั้นใช้พักผ่อนนอนหลับ หมึกทุกชนิดเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะออกล่าเหยื่อที่เป็นสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งหมึกด้วยกันเอง

การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต

หมึกส่วนมากจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4 ปี อย่างหมึกกระดองมีอายุขัยราว 240 วัน หมึกถือเป็นสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตเร็วมาก เมื่ออายุถึง 3 เดือน ก็สามารถสืบพันธุ์ได้ หมึกมักจะจับคู่เป็นคู่ ๆ โดยในหมึกกระดองตัวผู้จะมีถุงสเปิร์ม ซึ่งตัวผู้จะใช้หนวดดึงถุงสเปิร์มนี้ไว้ในตัวตัวเมียบริเวณรอบปาก ในขณะที่หมึกกล้วยจะทิ้งไว้ข้างลำตัว

หมึกจะวางไข่ไว้ในโพรงหรือติดกับวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ เช่น หินหรือปะการัง เมื่อฟักเป็นตัวแล้ว หมึกในวัยเล็กจะมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ หมึกตัวเมียในกลุ่มหมึกกระดองเมื่อวางไข่แล้ว น้ำหนักจะค่อย ๆ ลดลงและตายลงในที่สุด ในขณะที่หมึกยักษ์ตัวเมียจะดูแลไข่และดูแลลูกจนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว

อ้างอิง

  1. "ปลาหมึกยักษ์ (Giant Squid)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-07-11.
  2. Garassino A. & Donovan D. T. (2000). "A New Family Of Coleoids From The Lower Jurassic Of Osteno, Northern Italy". Palaeontology 43(6): 1019-1038, 5 plates. PDF เก็บถาวร 2020-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. หมึกบลูริง[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น