ปังปอนด์

ปังปอนด์ หรือ ไอ้ตัวเล็ก
เป็นที่รู้จักกันในชื่อPangPond
ประเภทตลก
เนื้อเรื่องโดยภักดี แสนทวีสุข
ออกอากาศ
เครือข่ายช่อง 3
ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต (พฤษภาคม - กันยายน 2545)
ปังปอนด์ เดอะซี่รี่ส์ (ประมาณปี 2546)
ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง (สิงหาคม - ธันวาคม 2547)
ปังปอนด์ ตะลุยโลกหิมพานต์ (กันยายน - ธันวาคม 2549)
ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่ (เมษายน - มิถุนายน 2552)
ปังปอนด์จอมป่วน (กันยายน 2553 - ปัจจุบัน) ปังปอนด์ครอบครัวรักษ์โลก
การแสดงที่เกี่ยวข้อง
ไอ้ตัวเล็ก 317 ฉบับ (ปัจจุบัน)
ปังปอนด์ เดอะ คอมมิคส์ 89 เล่ม

ปังปอนด์ เป็นชื่อชุดการ์ตูนไทยซึ่งเป็นผลงานของ ภักดี แสนทวีสุข (ต่าย ขายหัวเราะ) เดิมใช้ชื่อการ์ตูนชุดนี้ว่า ไอ้ตัวเล็ก[1] เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมหาสนุกในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2532 ต่อมาจึงได้พิมพ์รวมเล่มในชื่อ "ไอ้ตัวเล็ก" โดยทยอยออกเป็นรายเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือใหม่เป็น "ปังปอนด์" และมีคำว่า "ไอ้ตัวเล็ก" อยู่ข้างบน ตามชื่อตัวละครเอกของการ์ตูนชุดนี้ ต่อมา การ์ตูนเรื่องปังปอนด์ได้รับการดัดแปลงไปเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ และ 3 มิติ ในปี พ.ศ. 2565 เพราะปัญหาเศรษฐกิจทางบรรลือสาสน์ได้ยกเลิกการวางจำหน่ายนิตยสารรายประจำในเครือทั้งหมดไปอย่างเงียบๆ[2]รวมถึงนิตยสาร ปังปอนด์ ด้วย โดยฉบับสุดท้ายที่วางจำหน่ายคือ ฉบับที่ 317 มีนาคม 2564 [3]

ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น

การ์ตูนชุดปังปอนด์ได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยบริษัท วิธิตา แอนิเมชัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบันลือกรุ๊ป (เครือเดียวกับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น) ในชื่อ "ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต" ออกฉายครั้งแรกเป็นตอน ๆ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างสูง จากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในดาราการ์ตูนชั้นนำของไทย และได้มีการตัดต่อใหม่สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี การ์ตูนชุดปังปอนด์ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างด้วยภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก 3 มิติตลอดทั้งเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาภาพยนตร์แอนิเมชันในประเทศไทยล้วนแต่เป็นภาพแบบ 2 มิติทั้งสิ้น และยังเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยเรื่องแรก ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ หลังจากนั้นบริษัท วิธิตายังได้สร้างการ์ตูนแอนิเมชันชุด ปังปอนด์ ต่อเนื่องออกมาหลายชุดจนถึงปัจจุบัน โดยการ์ตูนแอนิเมชันชุดล่าสุดคือ "ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่"

ในเดือนสิงหาคม 2546 การ์ตูนปังปอนด์ เดอะซีรีส์ ในรูปแบบ 2 มิติ ออกมาสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมอีกเช่นเคย พร้อมกับการเปิดตัวเพลงที่มีเนื้อหาสรรสร้างสังคม

ปังปอนด์ได้สร้างความสนุกสนานในรูปแบบกิจกรรมปรากฏอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างสีสัน และความสนุกสนานให้กับผู้ชม รวมถึงกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ค่านิยมของสังคมไทย เช่น การเข้าร่วมสืบทอดประเพณี ร่วมรดน้ำดำหัวศิลปินอาวุโส เนื่องในวันปีใหม่ไทย

และในเดือนมีนาคม 2551 ดาราการ์ตูนปังปอนด์ ได้รับการแต่งตั้งจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่ง “ยุวทูตลดโลกร้อน” ในการช่วยรณรงค์การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนไปสู่เด็กและเยาวชน

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว วันนี้กองทัพสินค้าปังปอนด์จึงยังคงได้รับความนิยมจากเยาวชน จากกระแสการตอบรับการ์ตูนไทยของผู้ชมในเมืองไทย

ในเดือน กันยายน 2551 บริษัท เน็ท ลีดเดอร์ โฮลดิ้งส์ บริษัทที่ให้บริการทางด้านดิจิตอลมีเดีย ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์และมีเครือข่ายอยู่ในยุโรป, จีน สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ร่วมสนับสนุนคาแรกเตอร์ไทยอย่าง “ปังปอนด์” ให้ไปแสดงผลงาน แอนิเมชั่นไทยสู่เอเชียแปซิฟิก

ในเดือน สิงหาคม 2552 ปังปอนด์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ยุวทูตวัยใส” เพื่อร่วมรณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่คนไทยในระยะยาว[4]

ตัวละคร

ตัวละครดั้งเดิม

ปังปอนด์
เด็กชายผมสามเส้น มีนิสัยซุกซน มองโลกเหมือนกับเป็นสวนสนุก มีเรื่องต้องเล่นมากมาย แต่ความขี้เล่นของเขาบางครั้งไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น อายุ 5 ขวบ
นินจา
น้องชายของปังปอนด์ อายุอ่อนกว่าปังปอนด์ 2 ปี จุดเด่นคือมีเส้นผม 2 เส้น ในการตูนชุดไอ้ตัวเล็กระบุว่าชาติก่อนนินจาเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ แต่เพราะความป่วนของปังปอนด์ได้ทำให้เขาต้องจุติลงมาเกิดเป็นน้องชายของปังปอนด์ในเวลาต่อมา
ต่าย
เป็นพ่อของปังปอนด์ อายุ 34 ปี ทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับบอกอวิติ๊ด
กุ้ง
ภรรยาของต่าย อายุ 30 ปี (ในปังปอนด์ แม่กุ้งจะเป็นผอมสูง 178 ไว้ผมยาว ส่วนในการ์ตูนสามช่องจบ แม่กุ้งจะเป็นผู้หญิงอ้วนไว้ผมหยิก ชอบใส่เสื้อลายจุด)
มิ้งค์
หลานสาวของต่าย อายุ 11 ปี แต่นับถือพ่อต่ายและแม่กุ้งเหมือนพ่อแม่ตัวเอง
หูตูบ
สุนัขที่ชอบมาเล่นกับปังปอนด์ตอนเด็กๆ ปรากฏอยู่ในการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กระยะแรก ๆ
บิ๊ก
สุนัขพันธุ์บางแก้ว สัตว์เลี้ยงของปังปอนด์ อายุ 2 ขวบ
หนุมาน
เป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" ที่ข้ามมิติมามีบทบาทร่วมกับปังปอนด์และนินจา ปรากฏอยู่ในไอ้ตัวเล็กฉบับหนังสือการ์ตูนบางตอน นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนชุดของหนุมานโดยเฉพาะพิมพ์แทรกในหนังสือการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กด้วย แต่ปัจจุบันได้เลิกตีพิมพ์แล้ว สำหรับในแอนิเมชั่นชุดปังปอนด์ หนุมานได้ปรากฏตัวครั้งแรกใน "ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต"

ตัวละครในภาคแอนิเมชัน

ปังปอนด์
เด็กชายผมสามเส้น มีนิสัยซุกซน มองโลกเหมือนกับเป็นสวนสนุก มีเรื่องต้องเล่นมากมาย แต่ความขี้เล่นของเขาบางครั้งไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น อายุ 5 ขวบ
บิ๊ก
สุนัขพันธุ์บางแก้ว สัตว์เลี้ยงของปังปอนด์ อายุ 2 ขวบ
แสนดี
เป็นเพื่อนของปังปอนด์ ชอบทำอาหารและชอบแมว แต่แพ้ขนแมว (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
เล่ง, หง
เป็นฝาแฝดพี่น้อง รักศิลปะการต่อสู้แบบจีน (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
ไทซัน
เป็นคนที่ชอบใช้กำลัง และกินจุ อายุ 6 ขวบ (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
ต่าย
สามีของกุ้ง อายุ 34 ปี ทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับบอกอวิติ๊ด
กุ้ง
ภรรยาของต่าย อายุ 25 ปี (ในปังปอนด์ แม่กุ้งจะมีลักษณะผอม มีส่วนสูงมากถึง 180 ไว้ผมยาว)
กำแหง
เป็นพ่อของไทซัน อดีตเคยเป็นนักมวยมาก่อน อายุ 35 (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญภัยโลกแมลง)
ครูไม้เลี้ยว
ครูอดีตก่อนโรงเรียนมหาสนุกเดอะสคูลเคยมาก่อน (ในปังปอนด์ ผมยาวที่มีหกเส้น ไว้ผมยาว)

แอนิเมชันของปังปอนด์ในชุดต่าง ๆ

ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ตอน ตะลุยโลกอนาคต (ในรูปแบบ 3 มิติ)
ปังปอนด์ เดอะซีรีส์ (ในรูปแบบ 2 มิติ)
ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง (ในรูปแบบ 3 มิติ)
ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ตะลุยป่าหิมพานต์ (ในรูปแบบ 3 มิติ)
ปังปอนด์ “ลดโลกร้อน กับ ปังปอนด์” (ในรูปแบบตูนเฉด เป็นทคนิคผสมระหว่าง 2D และ 3D)
ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่ (ในรูปแบบ 3 มิติ)
  • มีนาคม พ.ศ. 2552 ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันเสาร์ 15.45 – 16.15 น.
ปังปอนด์จอมป่วน (ในรูปแบบ 2 มิติ)
  • กันยายน ปี พ.ศ. 2553 ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.20-08.50 น. [6]
ปังปอนด์กับก๊วนชวนสงสัย
  • พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2557 ทุกวันอังคาร เวลา 15.30 น. ออกอากาศทางช่อง 3

การตอบรับ

ปังปอนด์ได้รับรางวัลการ์ตูนแอนิเมชั่นดีเด่น สำหรับเยาวชนจากสำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2545-2546 และรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนดีเด่น สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2547 จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ปังปอนด์เป็นตัวการ์ตูนไทยชุดแรก ที่ได้รับเลือกลงพิมพ์บนตราไปรษณียากร เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2546 [1] จากการที่ปังปอนด์ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศให้ดำรงตำแหน่งเพื่อนยุวทูตความดี ตั้งแต่ปี 2546

ตัวละครปังปอนด์ ยังได้รับความนิยมที่ประเทศจีน และทางรัฐบาลจีนได้เลือกให้ตัวละครดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของทูตทางวัฒนธรรม[7]

รางวัลที่ได้รับ

  • ปี 2545-2546 การ์ตูนแอนิเมชั่นดีเด่น สำหรับเยาวชนจากสำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ
  • ปี 2546 – ปัจจุบัน ปังปอนด์ได้รับเลือกเป็น เพื่อนยุวทูตความดี จากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ
  • ปี 2547 บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนดีเด่น สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2547 จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ
  • ปี 2551 ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำรงตำแหน่ง “ยุวทูตลดโลกร้อน” รณรงค์เรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนไปสู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว
  • ปี 2552 ได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ยุวทูตวัยใส” รณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
TAM Prime Minister Award 2005
  • การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติ ชุด ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง ได้รับรางวัล Best Animation for television – TV series ประเภท Long Form
  • การ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ ชุด ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 Best Animation for television –TV series ประเภท Long Form

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 แสตมป์น่าสนใจในอดีต. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 64
  2. หนังสือขายหัวเราะ หายไปไหน?
  3. ฉบับ 317 ที่ Meb อีบุ้ค
  4. ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น (2002)
  5. "ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่" หรือ "PangPond Hero Begins". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  6. "ปังปอนด์จอมป่วน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  7. สามทหาร. นักวาดการ์ตูนไทยยังไม่ตาย. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1713. 14-20 มิถุนายน พ.ศ. 2556. ISSN 1686-8196. หน้า 33

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น