พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอน

อัลฟอนโซที่ 1
รูปปั้นแกะสลักของพระเจ้าอัลฟอนโซใน ปาร์เกกรันเดโฆเซอันโตนิโอลาบอร์เดตา ในซาราโกซา
กษัตริย์แห่งอารากอน
กษัตริย์แห่งปัมโปลนา
ครองราชย์28 กันยายน ค.ศ. 1104 – 8 กันยายน ค.ศ. 1134
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอน
รัชกาลถัดไปพระเจ้ารามีโรที่ 2 แห่งอารากอน (อารากอน)
พระเจ้าการ์เซีย รามีเรซแห่งนาวาร์ (ปัมโปลนา)
ประสูติค.ศ. 1073/1074
สิ้นพระชนม์8 กันยายน ค.ศ. 1134 (60 พรรษา)
ฝังพระศพวิหารซันเปโดรเอลบิเอโฆ
พระมเหสีสมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งเลออน
ราชวงศ์ราชวงศ์ฆีเมเนซ
พระบิดาพระเจ้าซันโช รามีเรซแห่งอารากอนและนาวาร์
พระมารดาเฟลิซี เดอ รูซี

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 (สเปน: Alfonso I; อารากอน: Alifonso I; บาสก์: Alfontso I.a) หรือ พระเจ้าอัลฟอนโซนักรบ (สเปน: Alfonso El Batallador; อารากอน: Alifonso lo Batallero; บาสก์: Alfontso Borrokalaria) เสด็จพระราชสมภพ ค.ศ. 1073 สิ้นพระชนม์เดือนกันยายน ค.ศ. 1134 ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอารากอนและนาวาร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1104 จนถึงปี ค.ศ. 1134

อัลฟอนโซเป็นพระโอรสคนที่สองของพระเจ้าซันโชที่ 5 รามิเรซ และเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอน (พระเชษฐา) พระองค์ทรงได้รับการทาบทามจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยาให้แต่งงานกับอูร์รากา ภรรยาม่ายของแรมงแห่งบูร์กอญที่ต่อมากลายเป็นพระราชินีผู้ปกครองกัสติยา เลออน และกาลิเซีย ภายหลังเมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1109 ราชอาณาจักรคริสเตียนทั้งสี่ คือ อารากอน นาวาร์ กัสติยา และเลออน ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแต่เพียงในนาม และอัลฟอนโซที่ 1 สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิต่อจากพระสสุระ ทว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเลออนและกัสติยาเกลียดชังจักรพรรดิชาวอารากอน, เพราะอูร์รากาชิงชังพระสวามีคนที่สองของตนเอง และเพราะแบร์นาร์ อาร์ชบิชอปชาวฝรั่งเศสสายกลูว์นีแห่งโตเลโดต้องการให้อัลฟอนโซ รามิเรซ พระโอรสเลี้ยงของพระองค์ (พระโอรสวัยทารกของอูร์รากากับพระสวามีคนแรกชาวบูร์กอญ) ครองบัลลังก์จักรพรรดิ ด้วยการกระตุ้นของแบร์นาร์ สมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้การแต่งงานของอัลฟอนโซกับอูร์รากาเป็นโมฆะ แต่พระเจ้าอัลฟอนโซยังคงมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองในราชอาณาจักรตอนกลางต่อไปจนกระทั่งยอมวางมือจากการอ้างสิทธิ์เพื่อหลีกทางให้พระโอรสเลี้ยงในท้ายที่สุดหลังการสิ้นพระชนม์ของอูร์รากาในปี ค.ศ. 1126

อัลฟอนโซได้ฉายานามนักรบจากการทำเรกองกิสตา ทรงประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ทางทหารในหุบเขาเอโบรตอนกลางซึ่งพระองค์ได้รับชัยชนะอันน่าทึ่งเหนือชาวมัวร์ ทรงยึดซาราโกซาได้ในปี ค.ศ. 1118 และยึดเอเฆอา, ตูเดลา, กาลาตายุด, บอร์ฆา, ตาราโซนา, ดาโรกา และมอนเรอัลเดลกัมโปได้ ในปี ค.ศ. 1125 ทรงเป็นผู้นำในการยกกองกำลังลงใต้รุกรานไปไกลถึงอันดาลูซิอา ในการสู้รบพระองค์ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากผู้ปกครองอาณาจักรเคานต์ต่าง ๆ ทางตอนเหนือของเทือกเขาพิรินี ผลลัพธ์ที่ได้คืออารากอนเข้าไปพัวพันในความวุ่นวายในฝรั่งเศสตอนใต้ พระเจ้าอัลฟอนโซบาดเจ็บสาหัสในการรบที่ไม่ประสบความสำเร็จกับชาวมุสลิมในยุทธการที่ฟรากา ด้วยความเลื่อมใสในศาสนาอย่างสุดซึ้ง พระองค์ยกราชอาณาจักรของตนให้อัศวินเทมพลาร์และอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ แต่อดีตผู้อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ไม่ยอมรับเรื่องนี้ ท้ายที่สุดอาณาจักรก็ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของเคานต์แห่งบาร์เซโลนา


ต้นชีวิต


อารามซันเปโดรเดซิเรซาในบาเยเดเฮโช จังหวัดเฮวสกา ที่อินฟันเตอัลฟอนโซ ซันเชซได้รับการศึกษา

พระองค์ใช้ชีวิตช่วงแรกในอารามซีเรซา ศึกษาด้านการอ่านเขียน และฝึกฝนทักษะด้านการทหารภายใต้การอบรมสั่งสอนของโลเป การ์เซสผู้เป็นนักแสวงบุญ ซึ่งต่อมาเมื่ออพระเจ้าอัลฟอนโซได้ครองบัลลังก์ ทรงตอบพระอาจารย์ด้วยการพระราชทานเคานตีเปโดรลาให้


ในช่วงที่พระเชษฐาครองราชย์ พระองค์มีส่วนร่วมในการยึดเฮวสกา ซึ่งต่อมากลายเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรและเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ พระองค์ทำศึกร่วมกับเอลซิดในบาเลนเซีย ทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งลอร์ดแห่งบรีเอล, ลูนา, อาร์เดเนส และไบโลจากพระบิดา


การสิ้นพระชนม์ที่เกิดขึ้นติดๆ กันของอิซาเบลกับเปโดร พระโอรสธิดาของพระเชษฐา ที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1103 และ 1104 ตามลำดับ ทำให้อัลฟอนโซกลายเป็นทายาทในบัลลังก์

ความขัดแย้งจากการแต่งงาน


ภาพวาดพระราชินีอูร์รากาที่ 1 แห่งกัสติยาจากคริสต์ศตวรรษที่ 12

พระองค์เป็นชายที่หลงใหลในการต่อสู้ ทรงสู้รบกับชาวคริสต์และชาวมัวร์มากว่า 29 สมรภูมิ ในวัย 30 กว่าพรรษา ทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1109 กับพระราชินีอูร์รากาผู้ทะเยอทะยาน ภรรยาม่ายของแรมงแห่งบูร์กอญ พระนางเป็นหญิงที่มีความทะเยอทะยานซึ่งไม่เหมาะจะเป็นช้างเท้าหลัง การแต่งงานถูกจัดแจงขึ้นโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออน พระบิดาของอูร์รากา เพื่อรวมสองรัฐหลักของชาวคริสต์เข้าด้วยกันกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มอัลโมราวิด ทว่าอูร์รากากลับหวงแหนสิทธิ์ในฐานะพระราชินีผู้ปกครองของพระองค์ และครัวเรือนแบบหนึ่งสามีหลายภรรยาของพระบิดาไม่ได้สอนให้พระองค์รู้จักรักนวลสงวนตัว สองสามีภรรยาจึงทะเลาะกันจนเปิดสงครามเข้าใส่กัน ด้วยไพร่พลที่มีมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ทรงชนะในสมรภูมิกันเดสปินาและสมรภูมิเบียดันโกส แต่ผู้สนับสนุนที่ไว้ใจได้ของพระองค์มีเพียงชาวอารากอน ซึ่งมีจำนวนไม่มากพอที่จะกำราบกัสติยาและเลออน ในปี ค.ศ. 1110 การแต่งงานของพระเจ้าอัลฟอนโซกับพระราชินีอู่ร์รากาถูกสมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้เป็นโมฆะ เนื่องจากทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่สองกัน แต่พระองค์ปฏิเสธผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาและยังคงมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับพระราชินีอูร์รากาจนถึงปี ค.ศ. 1144[1] ระหว่างที่แต่งงานกัน ทรงเรียกตัวเองว่า "กษัตริย์และจักรพรรดิแห่งกัสติยา โตเลโด อารากอน ปัมโปลนา โซบราเบ และริบาโกร์ซา" เพื่อแสดงสิทธิ์ของพระองค์ในฐานะพระสวามีของพระราชินีอูร์รากา และสิทธิ์ในฐานะผู้สืบทอดดินแดนของพระบิดา ทรงใช้ตำแหน่งจักรพรรดิด้วยเหตผลว่าพระองค์ปกครองราชอาณาจักรสามแห่ง

ความสัมพันธ์กับคริสตจักร

พระองค์ทะเลาะกันคริสตจักร โดยเฉพาะนิกายซิสเตอร์เชียน รุนแรงพอๆ กับที่ทะเลาะกับพระมเหสี ทรงขับไล่อาร์ชบิชอปเบร์นาร์ดออกนอกประเทศและเนรเทศคณะนักบวชของซาฮากูน สุดท้ายพระองค์ถูกบังคับให้วางมือจากกัสติยาและเลออน เพื่อหลีกทางให้พระโอรสเลี้ยง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งกัสติยา พระโอรสของพระราชินีอูร์รากากับพระสวามีคนแรก การเข้ามาแทรกแซงของสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 2 ทำให้อัลฟอนโซทั้งสองทำข้อตกลงร่วมกันได้

การขยายอำนาจทางทหาร

พระเจ้าอัลฟอนโซทรงเป็นที่จดจำในด้านการทหารมากกว่าการเมืองการปกครอง สี่ปีแรกของการเป็นกษัตริย์ ทรงใช้เวลาไปกับการทำสงครามกับชาวมุสลิมแทบไม่ขาด ในปี ค.ศ. 1105 ทรงพิชิตเอเฆอาและเตาสเต และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กัสเตยาร์และฆัสลิโบลซึ่งเป็นอาณาเขตของชาวคริสต์ ในปี ค.ศ. 1106 ทรงคว้าชัยเหนืออัลมุสตะอินแห่งซาราโกซาที่บันติเอร์รา และในปี ค.ศ. 1107 ทรงยึดตามาริเตเดลิเตราและเอสเตบันเดลาลิเตรา ความขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิ์ในอาณาจักรทั้งสี่ (อารากอน, นาวาร์, กัสติยา และเลออน) ในปี ค.ศ. 1109 ทำให้การพิชิตอาณาเขตมุสลิมของพระองค์หยุดนิ่งไปหลายปี แต่ในปี ค.ศ. 1117 ทรงเตรียมพร้อมที่จะสู้รบอีกครั้ง


ในปี ค.ศ. 1118 สภาตูลูสประกาศสงครามครูเสดกับราชอาณาจักรมุสลิมในสเปน กองทัพของพระเจ้าอัลฟอนโซรีบรุกคืนไปทั่วคาบสมุทรไอบีเรีย และมาถึงซาราโกซาในเดือนพฤษภาคม หลังการปิดล้อมอันยาวนาน สุดท้ายเมืองก็แตกในวันที่ 18 ธันวาคม พระเจ้าอัลฟอนโซได้ประกาศให้ซาราโกซาเป็นเมืองหลวงของพระองค์ทันที ปีต่อมาทรงยึดดินแดนเพิ่ม ก่อนจะกลับไปซาราโกซาในปี ค.ศ. 1120 เพื่อขับไล่กองทัพมุสลิมที่พยายามจะยึดเมืองกลับไป


ตลอดระยะเวลาสิบห้าปี ทรงรุกรานอาณาเขตมุสลิมอย่างต่อเนื่อง เมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์มากขึ้น อุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จของพระองค์คือการขัดแย้งกับผู้นำของราชอาณาจักรคริสเตียนแห่งอื่นๆ ในสเปนตอนเหนือและฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายครั้งที่ทำให้พระองค์ต้องทิ้งการสู้รบไปปกป้องอาณาเขตของตนเอง

การสิ้นพระชนม์

พระเจ้าอัลฟอนโซสิ้นพระชนม์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1134 หลายเดือนหลังความสำเร็จครั้งสุดท้ายในการยึดฟรากาด้วยกองทัพที่มีเพียงอัศวิน 500 คน หลุมฝังศพของพระองค์อยู่ในอารามซันเปโดรในเฮวสกา


ตามพินัยกรรมของพระเจ้าอัลฟอนโซ ทรงยกราชอาณาจักรให้อัศวินสามกลุ่มซึ่งขุนนางของราชอาณาจักรของพระองค์ไม่ยอมรับการตัดสินใจนี้ รามีโร พระอนุชาเพียงคนเดียวของพระเจ้าอัลฟอนโซบวชเป็นพระในนิกายเบเนดิกตินมาตั้งแต่เด็ก ข้อผูกมัดที่พระองค์มีต่อคริสตจักร, ภาวะอารมณ์ และการให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะถือครองพรหมจรรย์ทำให้พระองค์ไม่คู่ควรที่จะปกครองราชอาณาจักรที่ถูกคุกคามทางทหารอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออน ในฐานะกษัตริย์ผู้ปกครองและลูกหลานตามกฎหมายของพระเจ้าซันโชที่ 3 แห่งปัมโปลนา (นาวาร์) พยายามเสนอตนแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางท้องถิ่น ขุนนางของนาวาร์หันไปหาเปโดร เด อาตาเรส พระนัดดาของพระปิตุลานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซ ขณะที่ขุนนางอารากอนสนับสนุนบิชอปรามีโร


สุดท้ายขุนนางนาวาร์ได้เลือกการ์เซีย รามีเรซ ลอร์ดแห่งมอนซอน ลูกหลานของบุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าการ์เซีย ซันเชซที่ 3 แห่งปัมโปลนา เป็นกษัตริย์ ขณะที่ชาวอารากอนนำตัวรามีโรออกมาจากอารามและตั้งเป็นกษัตริย์ จับพระองค์แต่งงานกับแอนเญ็ส น้องสาวของดยุคแห่งอากีแตน

อ้างอิง

  1. Chisholm, Hugh, ed. (1911). "Alphonso s.v. Alphonso I., king of Aragon". Encyclopædia Britannica. 1 (11th ed.). Cambridge University Press. pp. 734–735.