พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าอีริคที่ 4 ผู้รีดไถเงิน | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์ภาพเฟรสโกในโบสถ์นักบุญเบ็นท์ ริงสเต็ด | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กและชาวเวนด์ | |||||
ครองราชย์ | 1232 – 1241 กษัตริย์ร่วม 1241 – 1250 กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว | ||||
ก่อนหน้า | วัลเดมาร์ที่ 2 และ วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ | ||||
ถัดไป | อเบล | ||||
ประสูติ | ราว ค.ศ. 1216 | ||||
สวรรคต | 10 สิงหาคม ค.ศ. 1250 อ่าวชเลใกล้ปราสาทก็อททร็อป | (34 ปี)||||
ฝังพระศพ | ครั้งแรกที่มหาวิหารชเลสวิก ครั้งต่อมาที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก | ||||
คู่อภิเษก | จัตตาแห่งแซกโซนี | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เป็นที่รู้จักในพระนาม อีริคผู้รีดไถเงิน หรือ Eric Ploughpenny (เดนมาร์ก: Erik Plovpenning); ราว ค.ศ. 1216 - 10 สิงหาคม ค.ศ. 1250) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กตั้งแต่ค.ศ. 1241 จนกระทั่งสวรรคตในปีค.ศ. 1250 รัชกาลของพระองค์สร้างความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองต่อพระราชอนุชาของพระองค์[1]
ช่วงต้นพระชนมชีพ
เจ้าชายอีริคทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ประสูติแต่เจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส[2] และเป็นพระเชษฐาในเจ้าชายอเบลและเจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ พระองค์ประสูติราวค.ศ. 1216
ในปีค.ศ. 1218 พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์คือ วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระราชบิดาและเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งชเลสวิก หลังจากยุวกษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคตก่อนที่จะได้เสวยราชย์ในปีค.ศ. 1231 อีริคจึงได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระมหากษัตริย์ที่มหาวิหารลุนด์ในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1232 โดยเป็นพระประมุขร่วมกับพระราชบิดาและเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกดัชชีชเลสวิกให้แก่เจ้าชายอเบล พระราชอนุชาของพระองค์ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปีค.ศ. 1241 พระองค์จึงได้สืบราชบัลลังก์[3]
รัชกาล
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 4 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hans Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
รัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ขมขื่น โดยเฉพาะการต่อต้านของพระราชอนุชา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิกทรงต้องการแยกตัวเป็นอิสระโดยได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเคานท์ในฮ็อลชไตน์ กษัตริย์อีริคที่ 4 ยังต้องทรงต่อสู้กับเหล่าชาวนาในแคว้นสคาเนีย ที่ก่อกบฏต่อการจ่ายภาษีหนักให้ทางการในเรื่องของการไถนา จำนวนคันไถของคนหนึ่งคนเป็นเครื่องวัดความมั่งคั่งของคนๆ นั้น ทำให้กษัตริย์ทรงได้รับฉายานามว่า "plough-penny" (ไถ-เงิน) (เดนมาร์ก: Erik Plovpenning) [4]
กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงครองราชย์ได้หนึ่งปี ก็เกิดความขัดแย้งกับพระราชอนุชา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิก ในปีค.ศ. 1242 ความขัดแย้งกินเวลาต่อเนื่องสองปีก่อนที่พระราชอนุชายินยอมที่จะพักรบในปีค.ศ. 1244 เพื่อร่วมรบในสงครามครูเสดในเอสโตเนีย ในขณะเดียวกันกษัตริย์อีริคทรงเผชิญปัญหากับภาคีทางศาสนาที่มองว่าพวกเขาต้องได้รับการยกเว้นการเสียภาษีตามที่กษัตริย์อีริคทรงประเมิน กษัตริย์อีริคทรงต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินของคริสตจักรเช่นเดียวกับผู้ถือครองที่ดินรายอื่น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงส่งเอกอัครสมณทูตมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์กับเหล่าบิชอปในโอเดนเซในปีค.ศ. 1245 การปัพพาชนียกรรมได้ถูกใช้เป็นคำขู่แก่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะมีอำนาจมากหรือน้อยที่ทำการล่วงเกินสิทธิพิเศษของคริสตจักรสมัยโบราณ สิ่งนี้ถูกส่งมาเตือนกษัตริย์อีริคที่ 4 ว่าคริสตจักรจะไม่ยอมหากพระองค์ยังคงดำเนินการประเมินทรัพย์สินของศาสนจักรเพื่อวัตถุประสงค์ทางภาษีต่อไป[5]
ในปีค.ศ. 1249 กษัตริย์อีริคทรงพิโรธใส่นีลส์ สติกเซน บิชอปแห่งรอสคิลด์ เขาได้หลบหนีออกจากเดนมาร์กในปีเดียวกัน กษัตริย์อีริคทรงยึดทรัพย์สินของบาทหลวงในเกาะเชลลันด์รวมถึงเมืองโคเปนเฮเกนซึ่งเป็นเมืองเกิดใหม่ แม้ว่ามีการแทรกแซงจากสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ทรงสนับสนุนการคืนสถานะของบิชอปและส่งคืนทรัพย์สมบัติให้สังฆมณฑล แต่ข้อพิพาทก็ไม่สามารถยุติได้ นีเอลส์ สติกเซนมรณภาพในปีค.ศ. 1249 ณ โบสถ์แคลร์โวซ์ ทรัพย์สินก็ไม่ถูกฟื้นคืนให้ให้สังฆมณฑลจนกระทั่งกษัตริย์อีริคที่ 4 สวรรคตในปีค.ศ. 1250[6]
ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์อีริคที่ 4 และพระราชอนุชาทั้งสองได้มาถึงจุดแตกหักอีกครั้งในปีค.ศ. 1246 เริ่มจากการที่กษัตริย์อีริคทรงยกทัพบุกฮ็อลชไตน์ โดยพยายามยึดดินแดนที่เคยเป็นของพระราชบิดาคืนมา ดยุกอเบลแห่งชเลสวิกทรงอภิเษกสมรสกับธิดาของอดอล์ฟที่ 4 แห่งฮ็อลชไตน์และทรงเคยเป็นผู้ปกครองของน้องชายในพระชายาทั้งสอง คือ เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ ได้แก่ โยฮันน์ที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล และเกอร์ฮาร์ดที่ 1 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-อิตเซโฮเอ เจ้าชายอเบล ดยุกแห่งชเลสวิกทรงบีบบังคับให้พระเชษฐายกเลิกแผนการโจมตีเสีย ในปีถัดมา ดยุกอเบลและทหารฮ็อลชไตน์ได้บุกเข้าไปคาบสมุทรจัตแลนด์และเกาะฟึน ได้เผาทำลายและปล้นสะดมตั้งแต่เมืองราเนอส์ไปจนถึงโอเดนเซ เจ้าชายอเบลได้รับการสนับสนุนจากสันนิบาตฮันเซอเมืองลือเบ็ค และพระราชอนุชาคือ เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ลอร์ดแห่งลอลลันด์และฟัลสเตอ และพระเชษฐาต่างมารดาคือ คนุด ดยุกแห่งเบคิงเงอ[7]
กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงตอบโต้ทันที ด้วยการยึดเมืองรีเบคืน และยึดเมืองสเวนบอร์กซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าชายอเบลได้รับเป็นมรดกจากพระราชบิดา ในปีค.ศ. 1247 พระองค์ยึดครองปราสาทอาเรสคอฟบนเกาะฟึน และจับกุมเจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ พระอนุชาและดยุกคนุด พระเชษฐาต่างมารดาไว้เป็นเชลย มีการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพด้วยเจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก (1217-1247) พระขนิษฐาในกษัตริย์อีริคที่ 4 พระนางทรงเป็นพระชายาในโยฮันที่ 1 มาร์เกรฟแห่งบรันเดนบูร์ก (ราวค.ศ. 1213-1266) โดยมีข้อตกลงให้กษัตริย์อีริคครอบครองเดนมาร์กทั้งหมด ในปีค.ศ. 1249 ชาวนาในสคาเนียลุกฮือก่อกบฏต่อต้านภาษีคันไถ กษัตริย์ทรงสามารถรักษาความสงบไว้ได้ด้วยการช่วยเหลือจากเกาะเชลลันด์ แต่ศาสนจักร ดยุกอเบลและชาวเยอรมันทางตอนใต้ของคาบสมุทรจัตแลนด์ได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรต่อต้านกษัตริย์[8] [9]
ลอบปลงพระชนม์
กษัตริย์อีริคทรงระดมพลและมุ่งหน้าสู่ดัชชีเอสโตเนียเพื่อปกป้องฐานทัพของพระองค์ที่นั่นในปีค.ศ. 1249 แต่เมื่อทรงเสด็จกลับเดนมาร์กในปีค.ศ. 1250 พระองค์ทรงนำกองทัพไปที่ฮ็อลชไตน์เพื่อป้องกันการยึดครองป้อมปราการที่เรนส์บูร์กและเพื่อสั่งสอนเหล่าเคานท์เยอรมันว่าพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์ของพวกเขาอยู่ พระอนุชาของพระองค์ เจ้าชายอเบล ดยุกแห่งชเลสวิกเสนอให้พระเชษฐาเข้ามาประทับที่ปราสาทก็อททร็อปในชเลสวิก ในเย็นวันนั้นกษัตริย์เดนมาร์กทรงเล่นเกมพนันกับหนึ่งในอัศวินชาวเยอรมัน มหาดเล็กของดยุกและกลุ่มชายฉกรรจ์ได้บุกเข้ามาจับกุมกษัตริย์เป็นนักโทษ พวกเขามัดตัวพระองค์และลากพระองค์ออกจากตำหนักของดยุกและลงเรือพายออกไปยังอ่าวชเล กลุ่มชายฉกรรจ์พายเรืออกไปเป็นลำที่สอง เมื่อกษัตริย์อีริกทรงได้ยินเสียงของศัตรูของพระองค์คือ เลฟ กัดมุนด์เซน (ราวค.ศ. 1195-1252) พระองค์ก็ตระหนักได้ว่าต้องทรงถูกสังหารแน่ หนึ่งในผู้จับกุมพระองค์ได้รับค่าจ้างวางเพื่อมอบความตายแก่กษัตริย์ด้วยคมขวาน กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงถูกตัดพระเศียรและพระบรมศพถูกโยนทิ้งอ่าวชเล เช้าวันต่อมา ชาวประมงสองคนได้พบพระวรกายไร้เศียรของกษัตริย์ติดอยู่กับตาข่ายดักปลา พวกเขานำพระบรมศพไปที่โบสถ์คณะโดมินิกันในชเลสวิก ต่อมาพระบรมศพของพระองค์ถูกย้ายไปฝังที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1257[10] [11]
พระราชอนุชาของกษัตริย์อีริค คือ เจ้าชายอเบล ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก กษัตริย์อเบลทรงยืนยันว่าพระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์ แต่ภายในเวลาหนึ่งปีครึ่ง กษัตริย์อเบลก็ถูกลอบปลงพระชนม์ สุดท้ายพระอนุชาอีกองค์ก็ได้ครองราชย์ต่อ คือ พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก[12]
อภิเษกสมรสและพระโอรสธิดา
กษัตริย์อีริคที่ 4 ทรงอภิเษกสมรสในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1239 กับจัตตาแห่งแซกโซนี ธิดาในอัลเบร็ชท์ที่ 1 ดยุกแห่งแซกโซนี (ราวค.ศ. 1175-1260)[13] ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกันดังนี้
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าหญิงโซเฟีย สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน | ค.ศ. 1241 | ค.ศ. 1286 | อภิเษกสมรส ค.ศ. 1260 กับ พระเจ้าวัลเดมาร์แห่งสวีเดน[2] มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งสวีเดน เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์ เจ้าชายอีริค วัลเดมาร์สันแห่งสวีเดน เจ้าหญิงมารีนาแห่งสวีเดน เคานท์เตสแห่งดีโปลซ์ เจ้าหญิงรีเชซาแห่งสวีเดน สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์ เจ้าหญิงคาทารีนา วัลเดมาร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน เจ้าหญิงมาร์กาเรธา วัลเดมาร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน | |
- | เจ้าชายคนุดแห่งเดนมาร์ก | ค.ศ. 1242 | ค.ศ. 1242 | สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ |
- | เจ้าหญิงอิงเงอบอร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ | ค.ศ. 1244 | ค.ศ. 1287 | อภิเษกสมรส 11 กันยายน ค.ศ. 1261 กับ พระเจ้ามักนุสที่ 6 แห่งนอร์เวย์[2] มีพระโอรส 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายโอลาฟแห่งนอร์เวย์ เจ้าชายมักนุสแห่งนอร์เวย์ พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งนอร์เวย์ พระเจ้าโฮกุนที่ 5 แห่งนอร์เวย์ |
- | เจ้าหญิงจัตตา อธิการิณีอารามนักบุญอักเนทา | ค.ศ. 1246 | ค.ศ. 1284 | ไม่อภิเษกสมรส อธิการิณีอารามนักบุญอักเนส, รอสคิลด์[2] |
- | เจ้าชายคริสตอฟแห่งเดนมาร์ก | ค.ศ. 1247 | ค.ศ. 1247 | สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ |
- | เจ้าหญิงอักเนส อธิการิณีอารามนักบุญอักเนทา | ค.ศ. 1249 | ค.ศ. 1288/1295 | อธิการิณีอารามนักบุญอักเนส, รอสคิลด์ เป็นที่เล่าลือว่าทรงอภิเษกสมรสกับอีริค ลอร์ดแห่งลังก์เอลันด์[2] |
อ้างอิง
- ↑ "Erik 4. Plovpenning, 1216-50". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Line 2007, p. 581.
- ↑ "Berengaria (ca. 1197-1221)". Dansk Kvindebiografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Erik Plovpenning". Danmarks Konger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-06. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Den hellige Erik Plovpenning (1216-1250)". Den katolske kirke. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Niels Stigsen". roskildehistorie.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Christoffer 1., ca. 1219-1259". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Arreskov Slot". danskefilm.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2020.
- ↑ "Johann I. (Markgraf von Brandenburg)". Allgemeine Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2020.
- ↑ "The Monastery of Ringsted and the St. Bendt's Church". Visit Ringsted. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-17. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Lave Gudmundsen". Dansk Biografisk Leksikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Christoffer 2. 1276-1332". Danmarks Historien (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Albrecht I. (Albert)". Deutsche Biographie. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
แหล่งที่มาอื่น
- Line, Philip (2007). Kingship and State Formation in Sweden: 1130 - 1290. (Brill Publishers). ISBN 978-90-47-41983-9
- Bain, Robert Nisbet (1905) Scandinavia: A Political History of Denmark, Norway and Sweden from 1513 to 1900 (Cambridge: University Press)
ก่อนหน้า | พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 | พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ร่วมกับ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 (1232 - 1241) (ค.ศ. 1241 - ค.ศ. 1250) |
พระเจ้าอเบล | ||
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 พระประมุขแต่เพียงผู้เดียว |
ดยุกแห่งชเลสวิก ร่วมกับ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 (ค.ศ. 1216 - ค.ศ. 1232) |
พระเจ้าอเบล |