พายุโซนร้อนแฮเรียต (พ.ศ. 2505)

พายุโซนร้อนแฮเรียต
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
เส้นทางการเคลื่อนตัวพายุโซนร้อนแฮเรียตขณะพัดเข้าสู่ประเทศไทย,
เส้นทางการเคลื่อนตัวพายุโซนร้อนแฮเรียตขณะพัดเข้าสู่ประเทศไทย,
เส้นทางการเคลื่อนตัวพายุโซนร้อนแฮเรียตขณะพัดเข้าสู่ประเทศไทย,
ก่อตัว 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505
สลายตัว 30 ตุลาคม พ.ศ. 2505
ความเร็วลม
สูงสุด
เฉลี่ยลมใน 1 นาที:
95 กม./ชม. (60 ไมล์/ชม.)
ความกดอากาศต่ำสุด 1003 เฮกโตปาสกาล (มิลลิบาร์ 29.62 นิ้วปรอท)
ผู้เสียชีวิต เสียชีวิต 911 คน ในประเทศไทย บาดเจ็บ 252 คน สูญหาย 142 คน /และผู้เสียชีวิตในปากีสถานตะวันออกประมาณ50,000ราย[1]
ความเสียหาย 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 1962)
พื้นที่ได้รับ
ผลกระทบ
 ไทย
ส่วนหนึ่งของ
ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2505

พายุโซนร้อนแฮเรียต เป็นพายุที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียตพัดขึ้นฝั่งที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้

ประวัติพายุ

พายุนี้เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชั่น 78W ตามลำดับการตั้งชื่อนานาชาติ หรือ 6225 ตามลำดับการตั้งชื่อของ JMA (อุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น)[2] ในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505 แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา[3] จากนั้นก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายังจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อชม.[4] หลังจากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ตุลาคม ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ตุลาคม [5] พายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยในขณะขึ้นฝั่งพายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 กิโลเมตร [6] ก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน

เหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่าก่อนพายุเคลื่อนขึ้นฝั่งได้เกิดลมงวงช้างขึ้นหลายสายตั้งแต่ตอน 16.00 น. แรงลมพัดบ้านเรือนจนโยกคลอน และหลังคาหลุดปลิวลอยไปทั่วทั้งเมือง เกิดคลื่นยักษ์พัดเข้าใส่แหลมตะลุมพุกจนหมู่บ้านที่มีอยู่หลายร้อยหลังคาเรือน เหลืออยู่เพียง 5 หลังเท่านั้น จากนั้นฝนก็ตกหนักต่อไปจนถึง 19.00 น. เกิดลมพัดแรงอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วสงบลง แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที ก็เกิดลมพัดแรงอีกระลอก พัดบ้านเรือนพังทลายลงจนหมด และมีคลื่นสูงใหญ่กว่าระลอกแรก[7] โดยคลื่นยักษ์สูงเท่ากับยอดต้นมะพร้าวกวาดบ้านเรือนลงทะเลหายไป และแม่น้ำปากพนังเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมืองภายในเวลาไม่กี่นาที[8]

ความเสียหาย

พายุโซนร้อนแฮเรียตส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส [9] มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหายอีก 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน[10] ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดพังทั้งหลัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 791 ล้านต้น[7] สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดเดินรถเพราะภูเขาดินพังทลายทับรางระหว่างสถานีรถไฟช่องเขากับสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ ประเมินความเสียหายกว่า 377-1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังประเมินกันว่าพายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอรมเซิร์จขึ้นเป็นบริเวณกว้างโดยเกิดคลื่นสูงใหญ่กว่า 4 เมตร [11] พัดกระหน่ำอีกหลายหมู่บ้านริมฝั่งทะเล

ความช่วยเหลือ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชานุเคราะห์ผู้ประสบวาตภัยในครั้งนี้หลายๆ ประการ โดยโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ จดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 และพระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท และให้วิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต กระจายข่าวให้ประชาชนร่วมบริจาคกับพระองค์[12] ส่วนสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวถึงคนไทยทั้งชาติว่ารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง มีนานาประเทศทั้งอังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ยื่นมือให้ความช่วยเหลือและบริจาคให้กับผู้ประสบภัย [13]

ภาพยนตร์

ภาพยนตร์ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน นำแสดงโดยฉัตรชัย เปล่งพานิช, ธันญ์ ธนากร, ศศิธร พานิชนก, ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล และพรหมพร ยูวะเวส ออกฉายในปีพ.ศ. 2545

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. CYCLONE_HAZARD_IN_BANGLADESH[URL เปล่า]
  2. "พายุโซนร้อนแฮเรียด – มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก พ.ศ. 2505"รายงานภัยพิบัติ
  3. "เหตุการณ์พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงในประเทศไทย"[ลิงก์เสีย]สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  4. "บทความ (เสริม) สตอมเสิร์ท (Storm Surge) ภัยที่ต้องรู้" เก็บถาวร 2015-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมอุตุนิยมวิทยา
  5. "พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คาบ 62 ปี" เก็บถาวร 2013-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมอุตุนิยมวิทยา
  6. "วิธีป้องกันภัยจากลมพายุ"Alarms
  7. 7.0 7.1 "วาตภัยที่แหลมตะลุมพุก"เทศบาลเมืองทุ่งสง
  8. ""ข้อมูลจริงจาก เหตุการณ์ มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-15. สืบค้นเมื่อ 2013-04-21.
  9. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสง ค์ เล่มที่ ๓๔"สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย"[ลิงก์เสีย]
  10. "บทความภัยพิบัติทางธรรมชาติในภาคใต้:ภัยใกล้ตัวที่ต้องรับมือ"[ลิงก์เสีย]ข่าวการพัฒนาภาคใต้ จากสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554
  11. "คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm serge)"[ลิงก์เสีย]วารสารอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2551
  12. "25 ต.ค.รำลึกมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก"[ลิงก์เสีย]จากโอเคเนชั่น โดยเบดูอิน วันที่ อังคาร ตุลาคม 2554
  13. "ชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุก"ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช , 06 กุมภาพันธ์ 2555