ฟรีดริช ชิลเลอร์
ฟรีดริช ชิลเลอร์ Friedrich Schiller | |
---|---|
เกิด | โยฮัน คริสท็อฟ ฟรีดริช ชิลเลอร์ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1759 มาร์บัคอัมเน็คคาร์ ดัชชีเวือร์ทเทิมแบร์ค จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
เสียชีวิต | 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1805 ไวมาร์ ดัชชีซัคเซิน-ไวมาร์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ | (45 ปี)
อาชีพ | กวี, นักเขียนบทละคร, นักเขียน, นักประวัติศาสตร์, นักปรัชญา |
สัญชาติ | เยอรมัน |
แนวร่วมในทางวรรณคดี | ชตวร์มอุนท์ดรัง, สำนักคลาสสิกไวมาร์ |
ผลงานที่สำคัญ |
|
คู่สมรส | ชาร์ล็อทเทอ ฟ็อน เล็งเงอเฟ็ลท์ |
บุตร | 4 คน |
ญาติ | Johann Kaspar Schiller | (พ่อ), Elisabeth Dorothea Schiller , born Kodweiß (แม่), Christophine Reinwald (sister)
ลายมือชื่อ |
โยฮัน คริสท็อฟ ฟรีดริช ฟ็อน ชิลเลอร์ (เยอรมัน: Johann Christoph Friedrich von Schiller) เป็นกวี นักเขียนบทละคร นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักการแพทย์ และนักปรัชญาชาวเยอรมัน หลัง ค.ศ. 1788 ชิลเลอร์ได้เป็นเพื่อนสนิทกับโยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ นักปรัชญาชื่อดัง ทั้งคู่มักจะพบปะถกเถียงเรื่องสุนทรียศาสตร์อยู่เสมอ ชิลเลอร์ยังเป็นคอยผลักดันให้เกอเทอทำงานหลายอย่างที่คั่งค้างจนแล้วเสร็จ คนในยุคปัจจุบันเรียกความสัมพันธ์และข้อถกเถียงของทั้งคู่ว่าคตินิยมคลาสสิกไวมาร์ (Weimar Classicism) ชิลเลอร์ยังเป็นผู้แต่งโคลงกลอนเยอรมันที่ชื่อปีติศังสกานท์ ซึ่งถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน
งานนิพนธ์ของชิลเลอร์มีลักษณะเด่นชัดในแง่ว่าไม่มีงานจำพวกโคลงรักอ่อนหวาน หรือโคลงที่แสดงความรู้สึก ความอ่อนไหวในอารมณ์ของเดี่ยวบุคคล ชิลเลอร์เขียนแต่งานที่เกี่ยวข้องกับมวลชนส่วนรวม มีภาษาและรูปแบบที่สง่าจริงจัง เนื้อหาเกี่ยวกับความคิด (Gedankenlyrik) แสดงอุดมคติสูงส่ง ต้องการเสนอคุณธรรม ความดีงามที่จะจรรโลงสังคมและมนุษย์โลกให้อยู่ด้วยกันอย่างสุขสันติ มีเกียรติ และมีเสรีภาพ[1]
ประวัติ
ฟรีดริช ชิลเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1759 ในเมืองชนบทมาร์บัค แคว้นเวือร์ทเทิมแบร์ค เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของแพทย์ทหาร ดร.โยฮัน คัสพาร์ ชิลเลอร์ (Johann Kaspar Schiller) กับนางเอลีซาเบ็ท โดโรเทอา ค็อดไวส์ (Elisabeth Dorothea Kodweiß) ส่วนบุตรอีก 5 คนเป็นลูกสาว ชิลเลอร์เติบโตมาในครอบครัวเคร่งศาสนา ตอนเด็กเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล การศึกษาคัมภีร์ทำให้เขาเริ่มสนใจการเขียนบทละคร[2] ช่วงที่ฟรีดริชเกิดเป็นช่วงที่บิดาติดราชการในสงครามเจ็ดปี บิดาของเขาตั้งชื่อลูกชายคนนี้ตามนามของพระเจ้าฟรีดริชมหาราช แต่แทบทุกคนเรียกเขาสั้น ๆ ว่าฟริทซ์ (Fritz)[3]
ดร.คัสพาร์ผู้เป็นบิดาแทบจะไม่ได้อยู่ติดบ้านในช่วงสงคราม ถึงกระนั้นเขาก็พยายามปลีกตัวมาเยี่ยมครอบครัวเสมอ[4] เมื่อสงครามสิ้นสุดใน ค.ศ. 1763 ดร.คัสพาร์ได้รับคำสั่งไปประจำการอยู่ที่เมืองชเวบิชกมึนท์ ทำให้ครอบครัวต้องย้ายบ้านตามไปที่นั่น แต่เนื่องจากปัญหาด้านค่าครองชีพ ทำให้ครอบครัวเลือกจะลงหลักปักฐานที่เมืองลอร์ช (Lorch) เมืองเล็ก ๆ ใกล้เคียงแทน[5]
แม้ครอบครัวจะมีความสุขดีที่ลอร์ช แต่ดร.คัสพาร์กลับทำงานอย่างไม่มีความสุขที่นั่น ชิลเลอร์ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในลอร์ช แต่คุณภาพการศึกษาที่นั่นแย่มาก ฟรีดริชกับพี่สาวจึงมักจะโดดเรียนเป็นประจำ[6] ครอบครัวชิลเลอร์ต้องการให้ฟรีดริชบวชเป็นพระ จึงฝากฝังบาทหลวงคนหนึ่งให้สอนภาษาละตินและกรีกให้เขา ฟรีดริชในวัยเด็กดูจะตื่นเต้นกับการเป็นนักบวชมาก เขามักเอาผ้าคลุมสีดำมาตัวแล้วเล่นเป็นนักบวชตามประสาเด็ก[7]
ในปีค.ศ. 1766 ครอบครัวชิลเลอร์ย้ายไปยังเมืองลูทวิชส์บวร์ค เมืองหลวงของดัชชีเวือร์ทเทิมแบร์ค เนื่องจากดร.คัสพาร์ไม่ได้รับเงินเดือนมาสามปีแล้ว ที่ผ่านมาพวกเขาอยู่ได้ด้วยเงินเก็บซึ่งบัดนี้แทบจะไม่เหลือ ดร.คัสพาร์ได้รับการบรรจุเป็นแพทย์ทหารในกองทหารรักษาการณ์ของลูทวิชส์บวร์ค[8]
เด็กชายชิลเลอร์เป็นที่สะดุดตาของดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค เขาถูกส่งตัวเขาเข้าเรียนโรงเรียนทหารของดยุก และได้เรียนวิชาแพทย์ที่นั่น เนื่องจากฟรีดริชมักป่วยออด ๆ แอด ๆ เสมอจึงหวังจะนำวิชาแพทย์มารักษาตัวเอง ที่โรงเรียนทหาร ชิลเลอร์มีโอกาสได้อ่านหนังสือของรูโซและเกอเทอ และเริ่มพูดคุยเรื่องอุดมคติคลาสสิกกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน เขาเขียนบทละครเรื่อง จอมโจร (Die Räuber) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพี่น้องชนชั้นสูงสองคน คนพี่เป็นแกนนำนักเรียนกลุ่มกบฏไปจัดตั้งกองกำลังในป่าโบฮีเมียและกลายเป็นกองโจรคุณธรรมอย่างโรบินฮูด ส่วนคนน้องซึ่งสืบทอดยศตระกูลเป็นฝ่ายปฏิวัติหัวสาธารณรัฐนิยมที่ต้องการแก้ไขความเสื่อมทรามทางสังคม บทละครนี้ทำให้เขากลายเป็นดาวเด่นขึ้นมา[9]
ใน ค.ศ. 1780 เขาได้รับบรรจุเป็นแพทย์ทหารในเมืองชตุทท์การ์ทซึ่งเป็นงานที่เขาไม่ชอบเอาเสียเลย ชิลเลอร์หนีออกจากกรมทหารเพื่อไปแสดงละคร จอมโจร ในเมืองมันไฮม์ นั่นทำให้เขาถูกจับกุมตัวและขังคุกเป็นเวลาสองสัปดาห์ ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คยังได้สั่งห้ามเขาตีพิมพ์งานประพันธ์ใด ๆ อีกในอนาคต[10]
เขาหนีออกจากชตุทท์การ์ทใน ค.ศ. 1782 และเดินทางผ่านฟรังค์ฟวร์ท, มันไฮม์, ไลพ์ซิช, เดรสเดิน จนถึงไวมาร์ ฐานะทางการเงินของชิลเลอร์ไม่ค่อยสู้ดีนักจนต้องขอความช่วยเหลือจากครอบครัวรวมถึงจากสตรีแต่งงานแล้วคนหนึ่ง[11] ชิลเลอร์ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ไวมาร์ใน ค.ศ. 1787 แต่สองปีต่อมาได้งานเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาในเยนา ใน ค.ศ. 1803 เขาได้รับการประดับคำว่า ฟ็อน (von) ไว้ในนามสกุลเป็นเกียรติยศ[11]
อ้างอิง
- ↑ อำภา โอตระกูล. ร้อยกรองและร้อยแก้วในวรรณคดีเยอรมัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
- ↑ Simons, John D (1990). "Frederich Schiller". Dictionary of Literary Biography, Volume 94: German Writers in the Age of Goethe: Sturm und Drang to Classicism. ISBN 9780810345744.
- ↑ Lahnstein 1984, p. 18.
- ↑ Lahnstein 1984, p. 20.
- ↑ Lahnstein 1984, pp. 20–21.
- ↑ Lahnstein 1984, p. 24.
- ↑ Lahnstein 1984, p. 25.
- ↑ Lahnstein 1984, p. 27.
- ↑ "Johann Anton Leisewitz", Encyclopædia Britannica
- ↑ "Friedrich Schiller biography". Studiocleo.com. สืบค้นเมื่อ 6 November 2013.
- ↑ 11.0 11.1 Friedrich Schiller, Encyclopædia Britannica, retrieved 17 March 2014