ภิกษุ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
|
ภิกษุ หรือ พระภิกษุ (บาลี: ภิกฺขุ; สันสกฤต: ภิกฺษุ) เป็นคำใช้เรียก "นักบวชชาย" ในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คู่กับภิกษุณี (นักบวชหญิง) คำว่า ภิกษุ เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่สาธารณะทั่วไปสำหรับทุกศาสนา มีความหมายว่า ผู้ขอ (ขออาหาร เป็นต้น) และสามารถแปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ก็ได้ ดังรูปวิเคราะห์ว่า "วฏฺฏสํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ"
ในประเทศไทยและประเทศลาว มีคำเรียกภิกษุเถรวาทว่า "พระ" แปลว่าผู้ประเสริฐ เป็นคำที่เรียกกันมาแต่โบราณเพื่อเป็นการยกย่องนักบวชในพระพุทธศาสนา[ต้องการอ้างอิง]
ความเป็นมาของภิกษุ
การบวชเป็นภิกษุเถรวาท
ประเภทของการบวชเป็นภิกษุ
เป็นชื่อเรียกวิธีอุปสมบทเป็นภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้น ๆ โดยพระพุทธเจ้าประทานให้ด้วยพระองค์เอง ด้วยการตรัสว่า "เอหิภิกขุ...." ซึ่งแปลว่า "จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่ดีที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
ตรัสเท่านี้ ก็เป็นภิกษุแล้ว เพราะคำตรัสขึ้นต้นว่า เอหิ ภิกขุ จึงเรียกการอุปสมบทแบบนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เรียกผู้ได้รับการอุปสมบทว่า เอหิภิกขุ
การอุปสมบทแบบนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นท่านแรก จึงถือว่าท่านเป็นปฐมสาวกหรือเป็นปฐมภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้นได้ทรงเลิกวิธีอุปสมบทแบบนี้ ทรงเปลี่ยนเป็นวิธีติสรณคมนูปสัมปทา และเป็นวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจาซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ติสรณคมนูปสัมปทา
แปลว่า การอุปสมบทด้วยการเข้าถึงไตรสรณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุโดยการรับไตรสรณคมน์ หมายถึงการอุปสมบทเป็นภิกษุแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา กล่าวคือในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทเองที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรให้เป็นภิกษุได้โดยวิธีให้กุลบุตรนั้นรับไตรสรณคมน์เท่านั้น ซึ่งการบวชแบบนี้สำเร็จได้โดยบุคคล คือพระสาวกรูปใดรูปหนึ่งก็สามารถบวชกุลบุตรได้ ต่อมาภายหลังทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทโดยสงฆ์คือให้ทำเป็นสังฆกรรมที่เรียกว่าแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา จึงเลิกวิธีบวชพระแบบ ติสรณคมนูปสัมปทา แต่ทรงอนุญาตให้ใช้วิธีนี้บวชสามเณร ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตราบเท่าทุกวันนี้
ญัตติจตุตถกรรมวาจา
เป็นสังฆกรรม 1 ใน 4 อย่างของภิกษุสงฆ์ที่ทำร่วมกัน จัดเป็นสังฆกรรมที่มีน้ำหนักมาที่สุด หนักแน่นที่สุด ใช้ทำกรรมที่สำคัญมาก เช่น การให้อุปสมบท การให้ปริวาส ให้อัพภาน การสวดสมนุภาสน์ เป็นต้น
วิธีการ คือ จะมีการสวดญัตติขึ้นก่อน 1 ครั้ง และ สวดอนุสาวนา 3 ครั้ง เมื่อรวมกันจึงเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม แปลว่า กรรมมีญัตติเป็นที่ 4, หมายความว่า กิจกรรมของสงฆ์ที่ทำร่วมกันโดยต้องทำการสวดญัตติขึ้นก่อน แล้วตามด้วยอนุสาวนาอีก 3 ครั้ง
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม (กรรมมีญัตติเป็นที่ 4) ไม่เรียกว่า ญัตตฺยาทิกรรม (กรรมมีญัตติเป็นเบื้องต้น) เป็นต้น มีเพราะตรัสเป็นโวหารแบบปฏิโลม (นับย้อนศร) เหมือนคำว่า ผสฺสปญฺจมํ (ธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5) ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมนั่นเอง
การบวชเป็นภิกษุเถรวาทในประเทศไทย
ผู้ที่จะเป็นภิกษุได้จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการพิธีอุปสมบทโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยก่อน เช่น ต้องมีอายุ 20 ปี (เพราะตามธรรมเนียมสมัยนั้นถือว่าอายุ 7-19 ปีจัดเป็นวัยผู้น้อย) และต้องมีส่วนสูง 150 ซม. ขึ้นไป ไม่มีโรคร้ายแรง ต้องมีอุปัชฌาย์รับรอง ต้องทำพิธีในอุโบสถ
ศีล 227
การเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องถือศีลทั้งหมด 227 ข้อซึ่งเป็นข้อห้ามของพระภิกษุสงฆ์เถรวาทตามพระวินัยบัญญัติ จัดอยู่ในส่วนอาทิพรหมจาริยกาสิกขา ศีล 227 จัดเป็นสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางข้อกำหนดไม่พึงละเมิดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ และเพื่อเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานอันเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ หากมีพระภิกษุล่วงละเมิดซึ่งเรียกว่า อาบัติ จะต้องได้รับโทษตามสถานหนัก-เบา ถ้ามีโทษหนักก็ให้ปาราชิกหรือขาดจากความเป็นพระสงฆ์ หรือโทษเบาก็ให้แก้ได้โดยกล่าวแสดงความผิดของตนกับพระภิกษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำนึกผิดและเพื่อจะตั้งใจประพฤติตนใหม่ หรือที่เรียกว่า การแสดงอาบัติ, ปลงอาบัติ อาบัติต่าง ๆ ก็จะมีดังต่อไปนี้
ชื่ออาบัติ | ระดับอาบัติ | ตัวอาบัติ | การแก้อาบัติ |
---|---|---|---|
ปาราชิก 4 | ครุกาบัติ | ปาราชิก | ลาสิกขา |
สังฆาทิเสส 13[1] | ครุกาบัติ | สังฆาทิเสส | ประพฤติวุฏฐานวิธี |
อนิยต 2[2] | ครุกาบัติ, ลหุกาบัติ ตามแต่กรณี | เป็นได้ทั้งปาราชิก, สังฆาทิเสส และปาจิตตีย์ ตามแต่กรณี | ลาสิกขา, ประพฤติวุฏฐานวิธี หรือแสดงอาบัติ |
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30[3] | ลหุกาบัติ | ปาจิตตีย์ | สละวัตถุและแสดงอาบัติ |
ปาจิตตีย์ 92[4] | ลหุกาบัติ | ปาจิตตีย์ | แสดงอาบัติ |
ปาฏิเทสนียะ 4[5] | ลหุกาบัติ | ปาฏิเทสนียะ | แสดงอาบัติ |
เสขิยวัตร 75[6] | ลหุกาบัติ | ทุกกฎ | แสดงอาบัติ |
อธิกรณสมถะ 7[7] | - | - | (วิธีระงับอธิกรณ์) |
อ้างอิง
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ อนิยต สิกขาบทที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ เสขิยกัณฑ์. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [6]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ อธิกรณสมถะธรรม. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 10-7-52
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548