มลาอิกะฮ์

มลาอิกะฮ์ต่าง ๆ และอิสรอฟีล (ภาพล่าง) ในหนังสือ ความแปลกของสิ่งถูกสร้างและความประหลาดของสรรพสิ่ง (The Wonders of Creation and the Oddities of Existence) ของซะกะรียา อัลก็อซวีนีย์ (Zakariya al-Qazwini) เมื่อปี พ.ศ. 1813

มลาอิกะฮ์[1] (อาหรับ: ملائكة) เป็นคำพหูพจน์ของ มะลัก (อาหรับ: ملك) ในไทยบางแห่งเรียก เทพบริวาร[2] มีความหมายเดียวกับทูตสวรรค์ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ มีหน้าที่ถวายงานรับใช้แก่อัลลอฮ์[3]

ความเป็นมาของมลาอิกะฮ์

คำว่า มลาอิกะฮ์ มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า มาลาอิก หมายถึง "บ่าวผู้สวามิภักดิ์​ บ่าวผู้รับใช้ผู้ยินยอมจำนน​ตามพระประสงค์​ของاللهพระผู้สร้างแต่เพียงหนึ่ง"

มลาอิกะฮ์จึงเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ที่ถูกสร้างจากรัศมี และมลาอิกะฮ์มีอยู่มากมายหาคณานับ[3]ไม่มีใครรู้จำนวนได้นอกจากอัลลอฮ์ มลาอิกะฮ์ไม่มีเพศ ไม่บริโภค และไม่ดื่ม มลาอิกะฮ์เป็นบ่าวที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่บิดพริ้ว ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่มีความคิดที่จะเลือกทำอะไรหรือทำสิ่งใดโดยลำพังได้ เพราะมลาอิกะฮ์มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์เพียงอย่างเดียว

มนุษย์ปุถุชนทั่วไปมิอาจมองเห็นมลาอิกะฮ์ได้[3] เว้นแต่นบี เพราะมลาอิกะฮ์มีกายละเอียดเปรียบได้ดั่งลมที่มนุษย์มิอาจเห็นได้ แต่ลมนั้นสามารถทำให้ใบไม้พริ้วไหวได้ แต่มนุษย์สามารถเห็นมลาอิกะฮ์ได้ก็ต่อเมื่อมลาอิกะฮ์จำแลงกายมาเป็นมนุษย์เท่านั้น ด้วยเหตุที่มลาอิกะฮ์เป็นบ่าวผู้ถวายรับใช้ต่ออัลลอฮ์ ศาสนาอิสลามจึงกำหนดให้มุสลิมมีศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ด้วย[3]

มลาอิกะฮ์ทั้ง 10

มลาอิกะฮ์ที่มุสลิมทุกคนควรทราบนั้นมีทั้งหมด 10 ตน

  1. ญิบรีล (นามูส, รูหูลกุดุส และรูหุลอะมีน) เป็นผู้นำในบรรดามลาอิกะฮ์ทั้งหลาย และเป็นผู้นำวะฮฺยูจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)ไปยังบรรดานบีและเราะซูล
  2. มีกาอีล เป็นผู้ควบคุมระบบสุริยจักรวาล และนำปัจจัยยังชีพ (ริชกี) มาให้แก่บรรดามัคลูกทั้งหลาย
  3. อิซรออีล (มะลิกุลเมาตฺ) ทำหน้าที่ ถอดวิญญาณมัคโละตามเวลาที่กำหนดไว้
  4. อิสรอฟีล เป่าแตร (ศูรฺ) เมื่อถึงกำหนดวันสิ้นโลก (วันกิยามะฮฺ) และวันฟื้นคืนชีพ
  5. รอกีบ ผู้บันทึกอันมีเกียรติ อยู่ประจำข้างซ้ายและข้างขวาของมนุษย์ บันทึกความดี ความชั่วของมนุษย์
  6. อะตีด ผู้บันทึกอันมีเกียรติ อยู่ประจำข้างซ้ายและข้างขวาของมนุษย์ บันทึกความดี ความชั่วของมนุษย์
  7. มุนกัรฺ ทำหน้าที่ สอบสวนคนตายในสุสาน (กุโบรฺ)
  8. นะกีรฺ ทำหน้าที่ สอบสวนคนตายในสุสาน
  9. ริฎวาน คอยดูแลและเฝ้าประตูสวรรค์
  10. มาลิก (ซะบานียะฮฺ) คอยดูแลและเฝ้าประตูนรก

มลาอิกะฮ์อื่น ๆ

นอกจากนี้อัลกุรอานระบุอีกว่า มีมลาอิกะฮ์จำนวนหนึ่งที่แบกหามพระบัลลังก์ของอัลลอฮ์ ซึ่งอัลกุรอานไม่ได้ระบุว่าในปัจจุบันมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ระบุว่า ในวันอาคิเราะฮฺ มลาอิกะฮ์ผู้แบกบัลลังก์มีจำนวน 8 ตน นอกจากนั้นยังมีมลาอิกะฮ์อีกมากมายที่ห้อมล้อมพระบัลลังก์ คอยสรรเสริญสดุดีพระองค์และวิงวอนขอให้อัลลอฮ์ทรงอภัยให้แก่บรรดาศรัทธาชนผู้สำนึกผิด

อัลกุรอานได้เล่าเรื่องของมลาอิกะฮ์ที่ลงมาบอกข่าวดีแก่นบีอิบรอฮีม นบีซะกะรียา และมัรยัมมารดานบีอีซา และมลาอิกะฮ์ที่มาบอกให้ลูฏออกจากเมืองก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น เนื่องจากว่าเมืองโซโดมกำลังจะถูกทำลาย

นอกจากนี้อัลลอฮ์ยังได้ทรงส่งมลาอิกะฮ์ลงมาในนครบาบิโลน เพื่อเป็นข้อทดสอบสำหรับมนุษย์ในเรื่องไสยศาสตร์

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 68
  2. "ด้านศาสนา". ปลูกปัญญาเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-20. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561. {cite web}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 บรรจง บินกาซัน. อิสลามสำหรับผู้เริ่มสนใจอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสืออิสลาม, 2546, หน้า 23-24