การวิจัย
การวิจัย (อังกฤษ: research) หมายถึงการกระทำของมนุษย์เพื่อค้นหาความจริงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กระทำด้วยพื้นฐานของปัญญา ความมุ่งหมายหลักในการทำวิจัยได้แก่การค้นพบ (discovering), การแปลความหมาย, และ การพัฒนากรรมวิธีและระบบ สู่ความก้าวหน้าในความรู้ด้านต่าง ๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายในโลกและจักรวาล การวิจัยอาจต้องใช้หรือไม่ต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็ได้
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาศัยการประยุกต์ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้แรงผลักดันจากความอยากรู้อยากเห็น การวิจัยเป็นตัวสร้างข้อมูลข่าวสารเชิงวิทยาศาสตร์และทฤษฎีที่มนุษย์นำมาใช้ในการอธิบายธรรมชาติและคุณสมบัติของสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา การวิจัยช่วยให้การประยุกต์ทฤษฎีต่าง ๆ มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การการกุศล กลุ่มเอกชนซึ่งรวมถึงบริษัทต่าง ๆ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำแนกได้เป็นประเภทตามสาขาวิทยาการและวิชาเฉพาะทาง คำว่าการวิจัยยังใช้หมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับวิชาการบางสาขาอีกด้วย
การวิจัยขั้นพื้นฐาน
วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยขั้นพื้นฐานคือการสร้างความก้าวหน้าในความรู้และความเข้าใจเชิงทฤษฎีของสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างตัวแปรต่าง ๆ (ดูสถิติ) ด้วยการบุกเบิกที่เกิดจากการผลักดันของความอยากรู้อยากเห็น, ความสนใจ และการรู้เองของตัวผู้วิจัยเอง เป็นการดำเนินการที่ยังไม่มีการคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ไว้ล่วงหน้าแม้ว่าในระหว่างการวิจัยจะมีการส่อว่าอาจนำผลไปประยุกต์เชิงปฏิบัติได้ก็ตาม คำว่า “พื้นฐาน” เป็นการบ่งชี้ว่าการวิจัยขั้นพื้นฐานเป็นการวางรากฐานให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างทฤษฎีที่บางครั้งอาจนำไปประยุกต์ในเชิงปฏิบัติได้ เนื่องจากการที่ไม่อาจประกันได้ว่าการวิจัยจะมีประโยชน์เชิงปฏิบัติได้ในระยะสั้นได้นี้เองที่ทำให้นักวิจัยขั้นพื้นฐานหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนได้ยากกว่าการวิจัยแบบอื่น
ตัวอย่างคำถามที่เกี่ยวกับการวิจัยขั้นพื้นฐาน:
- ทฤษฎีสตริงจะตอบทฤษฎีการรวมแรงครั้งใหญ่ในสาขาวิชาฟิสิกส์ได้หรือไม่?
- ในแง่มุมใดบ้างของจีโนมที่สามารถอธิบายความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตได้?
- เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิสูจน์หรือหักล้างข้อความคาดการณ์ของโกลด์บาช ได้ (เช่น ทุก ๆ เลขคู่จำนวนเต็มที่มากกว่า 2 สามารถเขียนเป็นผลรวมของสองเลขจำเพาะนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเลขจำเพาะที่เด่น
โดยประเพณีแล้ว การวิจัยขั้นพื้นฐานถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่จะต้องมาก่อนการวิจัยประยุกต์ ซึ่งก็เช่นกันที่จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนการพัฒนาสู่ขั้นการนำไปใช้งาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ การตัดขาดกันอย่างชัดเจนดังกล่าวนี้มีน้อยลงกลายเป็นการผสมผสานระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของเทคโนโลยีชีวภาพและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งการค้นพบพื้นฐานอาจทำขนานกันไปได้กับงานที่มุ่งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ และ ในภาคส่วนของการร่วมมือกันระหว่างรัฐและภาคเอกชนที่ช่วยกันค้นลึกละเอียดลงไปในบางสิ่งที่มีความสำคัญและน่าสนใจ
กระบวนการวิจัย
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์
โดยทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันว่าการวิจัยคือการกระทำตามกระบวนการที่มีโครงสร้างเฉพาะอันใดอันหนึ่ง แม้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวจะมีความผันแปรแตกต่างกันไปตามลักษณะของเนื้อหางานและตามนักวิจัยอยู่บ้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้:
- การวางเนื้อเรื่องและกำหนดชื่อเรื่อง
- การตั้งสมมุติฐาน
- การนิยามแนวคิด (Conceptual definition)
- การนิยามวิธีการทำวิจัย (Operational definition)
- การรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- การทดสอบและการปรับสมมุติฐาน
- การสรุปและการทำซ้ำ (iteration) ถ้าจำเป็น
ความเข้าใจผิดทั่ว ๆ ไปที่มักเกิดขึ้นได้แก่การคิดหรือการถือว่าได้พิสูจน์หรือได้ทดสอบสมมุติฐานไปแล้วด้วยกรรมวิธีนี้ แต่ที่จริงแล้ว โดยทั่วไปแล้วเราใช้สมมุติฐานตัวที่เราคาดว่าอาจจะใช้ได้เพื่อการสังเกตผลที่จะได้จากการทดลอง แต่ถ้าผลการทดลองออกมาไม่คงเส้นคงวาตามสมมุติฐานก็จะต้องล้มเลิกสมมุติฐานนั้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผลที่ออกมามีความคงเส้นคงวาตามสมมุติฐานจึงจะถือได้ว่าการทดลองนั้นสนับสนุนสมมุติฐาน การที่ใช้ภาษาอย่างระมัดระวังดังกล่าวนี้ก็เนื่องมาจากนักวิจัยทราบกันดีว่าสมมุติฐานทางเลือกหลาย ๆ สมมุติฐานที่อาจมีความคงเส้นคงวากับผลการสังเกตได้ ยังไม่อาจได้ถือว่าเป็นการพิสูจน์สมมติฐานได้แล้ว เป็นได้แต่เพียงการสนับสนุนการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ของในแต่ละครั้งที่มักชวนให้คิดว่าเป็นจริง ซึ่งก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการพิสูจน์ได้แล้วเช่นกัน สมมุติฐานที่มีประโยชน์จะช่วยให้นักวิจัยสามารถรับรองผลการคาดการณ์ได้จากความแม่นยำของการสังเกตเฉพาะคราวของการทดลองนั้น ๆ ในขณะที่ความแม่นยำของการสังเกตดีขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ตัวสมมุติฐานเดิมจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยให้เกิดความแม่นยำได้อีกต่อไป ในกรณีเช่นนี้ สมมุติฐานใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาท้าทายสมมุติฐานเดิมต่อไปอีก สมมุติฐานใหม่ที่ทำให้การคาดการณ์แม่นยำขึ้นนี้ก็จะกลายเป็นสมมุติฐานที่มาแทนที่
การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์
กรรมวิธีวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ประกอบด้วยเทคนิคและแนวทางที่นักประวัติศาสตร์ใช้แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์และหลักฐานอื่นมาใช้เพื่อวิจัย แล้วจึงจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา มีแนวทางหลายแนวที่นักประวัติศาสตร์นำมาใช้ในการทำงานภายใต้หัวข้อ “คำวิจารณ์ภายนอก”, “คำวิจารณ์ภายใน”, และ “การสังเคราะห์” สิ่งเหล่านี้รวมถึง “คำวิจารณ์ขั้นสูง” (higher criticism) และ “การวิจารณ์ตัวบท” (textual criticism) ถึงแม้ว่าบางรายการมีความแปรผันต่างกันไปตามเนื้อเรื่องและตามตัวนักวิจัยก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้ว แนวคิดของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมดจะมีรูปแบบดังนี้:
- การบ่งชี้วันเวลาดั้งเดิม
- หลักฐานของสถานที่
- การยอมรับและรับรองผู้แต่ง
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- การบ่งชี้ถึงความซื่อสัตย์สุจริต (integrity)
- แหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้
ระเบียบวิธีวิจัย
เป้าหมายการวิจัย
เป้าหมายของการวิจัยได้แก่การสร้างความรู้ใหม่ซึ่งมี 3 รูปแบบ (ขอบเขตระหว่างรูปแบบยังคงมีความคลุมเครืออยู่ดังได้กล่าวมาแล้ว)
- การวิจัยเชิงบุกเบิก (Exploratory research) เป็นการสร้างโครงร่างและบ่งชี้ปัญหาใหม่ ๆ
- การวิจัยเชิงก่อ (Constructive research) เป็นการพัฒนาทางแก้ปัญหา
- การวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical research) เป็นการทดสอบความเป็นไปได้ของทางแก้ปัญหาโดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
ประเภทของการวิจัย
การวิจัยอาจแบ่งออกได้ประเภทที่ชัดเจนได้ 2 ประเภทคือ
ระเบียบวิธีวิจัยที่มีการใช้
ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้โดยนักวิชาการทั่วไปรวมถึง:
- การวิจัยเชิงปฏิบัติ
- ชาติพันธุ์วรรณา
- วิธีเดลฟาย
- การวิเคราะห์เชิงสถิติ
- การจำลอง หรือ ซีมิวเลชัน
- แบบจำลอง
- แบบจำลองคณิตศาสตร์
- การสัมภาษณ์
- แบบสอบถาม
- การทำแผนที่ (Cartography)
- กรณีศึกษา (Case study)
- การจำแนกประเภท (Classification)
- การวิเคราะห์ข้ออ้างอิง (Citation Analysis)
- การถือชาติพันธุ์ของผู้บริโภค (Consumer ethnocentrism) และ CETSCALE
- ตัวบทหรือการวิเคราะห์ตัวบท (Content or Textual Analysis)
- ประสบการณ์ (Experience)
- การรู้เอง (intuition)
- การทดลอง (Experiment)
- การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant observation)
- ปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)
- วิธีวิทยาคิว (Q methodology)
- การสำรวจเชิงสถิติ (Statistical survey)
การวิจัยโดยทั่วไปมักใช้รูปแบบการทำงานคล้ายรูปร่างของนาฬิกาทราย[1] แบบจำลองนาฬิกาทรายเริ่มด้วยการวิจัยที่มีสเปกตรัมที่กว้างแล้วบีบให้แคบลง เน้นจุดที่ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเพื่อการใช้โดยผ่านระเบียบวิธีการของโครงการวิจัย แล้วจึงขยายการวิจัยให้กว้างขึ้นใหม่ในรูปของการถกเถียงและผลที่ได้ออกมา
การตีพิมพ์
การตีพิมพ์ทางวิชาการ หมายถึงระบบที่ถือกันว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้นักวิชาการผู้มีความรู้เสมอกันทำการทบทวนผลงาน (peer review) ก่อนที่จะเผยแพร่แก่ผู้อ่านในวงกว้าง ผลงานทางวิชาการส่วนใหญ่ตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารวิชาการ หรือในรูปของหนังสือ ในแวดวง “การตีพิมพ์ STM” ย่อมาจากการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, และการแพทย์ (Science, Technology, and Medicine)
ในสาขาวิชาที่มั่นคงแล้วส่วนใหญ่จะมีวารสารวิชาการและแหล่งตีพิมพ์เป็นของตนเอง แต่ก็มีวารสารวิชาการหลายเล่มที่เป็นสหสาขาวิชาที่ตีพิมพ์บทความวิชาการหลายสาขาหลักและสาขารองในเล่มเดียวกัน ประเภทของวิชาการที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ทั้งที่เป็นงานวิจัยหรือที่เป็นความรู้เพื่อเผยแพร่ก็ยังมีความผันแปรหลากหลายระหว่างสาขาด้วยเช่นกัน
การตีพิมพ์งานทางวิชาการในขณะนี้ส่วนมากกำลังอยู่ในระยะของช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเริ่มมาจากการตีพิมพ์ในรูปอีเล็กทรอนิกส์ แบบจำลองทางธุรกิจการตีพิมพ์มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะรูปแบบทางอีเล็กทรอนิกส์ นับตั้งแต่ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2535- พ.ศ. 2539 ที่เริ่มมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของทรัพยากรข้อมูลข่าวสารอีเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะวารสารวิชาการซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ปัจจุบันมีแนวโน้มหลักเกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะวารสารวิชาการที่มีชือเสียงหลายเล่มที่พัฒนาเป็น ระบบเปิด (open access) ระบบดังกล่าวนี้เปิดมี 2 รูปแบบได้แก่: การตีพิมพ์ระบบเปิดที่บทความบางส่วนหรือเกือบทั้งหมดยอมให้ผู่อ่านเข้าสืบค้นได้นับตั้งแต่วันตีพิมพ์ กับ ระบบเข้ากรุอัตโนมัติ (self-archiving) ที่ยอมให้ผู้เขียนบทความสำเนาบทความของตนเองนำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดมูลค่าทางเว็บไซต์
ทุนวิจัย
เงินทุนที่ใช้ในการทำวิจัยเกือบส่วนใหญ่ได้มาจากแหล่งสำคัญ 2 แหล่งได้แก่ รัฐบาล (ส่วนใหญ่ผ่านมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และในบางกรณีผ่านทางกองทัพ) และองค์การธุรกิจ (ผ่านหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบริษัท) มีนักวิจัยระดับอาวุโสหลายคนที่ใช้เวลาของการวิจัยไม่น้อยไปในกานเขียนข้อเสนอขอรับทุนวิจัย เงินทุนวิจัยเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการช่วยสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังถือเป็นเกียรติภูมิของผู้วิจัยอีกด้วยหากได้รับเงินทุนมาจากแหล่งทุนที่มีชื่อเสียง ตำแหน่งทางวิชาการบางตำแหน่งของสถาบันบางแห่งถือเป็นเงื่อนไขด้วยว่าจะต้องเป็นผู้เคยได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนบางแห่ง เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา เงินทุนวิจัยรัชดาภิเศกสมโภช หรือทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสภาวิจัยแห่งชาติของประเทศไทยเป็นต้น
ศัพทมูลวิทยา
คำว่า “research” มาจากภาษาฝรั่งเศส recherche, ที่มาจากคำ rechercher, หมายถึงการค้นหาอย่างใกล้ชิด ซึ่งคำว่า "chercher" หมายถึง "ค้นหา"; ซึ่งมีความหมายทั่วไปว่า 'สำรวจอย่างถี่ถ้วน'
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำ “วิจัย” อย่างสั้น ๆ ว่าหมายถึงการค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา
ดูเพิ่ม
- รายชื่อสาขาการศึกษาระดับปริญญาเอก (สหรัฐอเมริกา)
- นวัตกรรม
- การชุมนุมทางวิชาการ
- การวิจัยดำเนินงาน
- งานวิจัยที่มีความเริ่มแรก
- Advertising Research
- Creativity techniques
- Demonstrative evidence
- Due Diligence
- Empirical research
- European Charter for Researchers
- Internet research
- Lab notebook
- Marketing research
- Open research
- Participatory action research
- Psychological research methods
- Research and development
- Social research
- Empirical evidence
- Conceptual framework
อ้างอิง
- ↑ Structure of Research, Trochim, W.M.K, (2006). Research Methods Knowledge Base.