ราโมน บารังเกที่ 3 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา
ราโมน บารังเกที่ 3 (กาตาลา: Ramon Berenguer III) หรือ ผู้ยิ่งใหญ่ (el Gran; ค.ศ. 1082–1131) เป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนา, ฌิโรนา และอูโซนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1086 (ร่วมกับบารังเก ราโมนที่ 2 และครองตำแหน่งเพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1097) และเป็นเคานต์แห่งพรอว็องส์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในชื่อราโมน บารังเกที่ 1 ด้วยสิทธิ์ของภรรยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1112 จนเสียชีวิตในบาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 1131
ประวัติ
ราโมน บารังเกเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1082 ในเมืองรอแดซ ไวเคาน์ตีรอแดซ เคาน์ตีตูลูซ ราชอาณาจักรแฟรงก์ เขาเป็นบุตรชายของราโมน บารังเกที่ 2[1] ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา ปกครองร่วมกับบารังเก ราโมนที่ 2 ผู้เป็นอา เขากลายเป็นผู้ปกครองเดี่ยวในปี ค.ศ. 1097 เมื่อบารังเก ราโมนที่ 2 ถูกบังคับให้ออกไปจากประเทศ
เพื่อตอบโต้การรุกรานที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มอัลโมราวิดใน ค.ศ. 1102 ราโมนโจมตีกลับโดยมีอาร์มังก็อลที่ 5 เคานต์แห่งอูร์เฌ็ลย์ให้ความช่วยเหลือ แต่พ่ายแพ้และอาร์มังก็อลถูกสังหารที่สมรภูมิมุลยารูซา[2]
ในช่วงที่เขาปกครอง ชาวกาตาลามุ่งมั่นกับการขยายอาณาเขตออกไปทั้งสองฝั่งของเทือกเขาพิรินี ด้วยการแต่งงานและการยึดมาเป็นบริวารทำให้เขาสามารถรวมเคาน์ตีกาตาลาเกือบทั้งหมด (ยกเว้นอูร์เฌ็ลย์กับปาราลาดา) เข้ากับดินแดนของตน เขาได้สืบทอดต่อเคาน์ตีบาซาลูกับซาร์ดัญญา และแต่งงานกับดุส ทายาทหญิงแห่งพรอว็องส์ อำนาจของเขาจึงแผ่ไพศาลไปทางตะวันออกจนถึงนิส
ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเคานต์แห่งอูร์เฌ็ลย์ ราโมน บารังเกสามารถพิชิตบาร์บัสโตรและบาลาเกได้ และยังสานสัมพันธไมตรีกับปิซาและเจนัว สาธารณรัฐทางทะเลจากอิตาลี และในปี ค.ศ. 1114 และ ค.ศ. 1115 ได้ร่วมมือกับปิซาโจมตีเกาะมุสลิมมาจอร์กาและอิบิซา[3] ซึ่งกลายเป็นรัฐบรรณาการของเขา ทาสชาวคริสต์มากมายในเกาะทั้งสองได้รับอิสรภาพกลับคืนมา ราโมน บารังเกยังโจมตีเมืองขึ้นของชาวมุสลิมบนแผ่นดินใหญ่ (เช่น บาเลนเซีย, แยย์ดา, โตร์โตซา) โดยมีปิซาคอยให้ความช่วยเหลือ ในปี ค.ศ. 1116 ราโมนเดินทางไปโรมเพื่อร้องเรียนต่อสมเด็จพระสันตะปาปาปาสตาลที่ 2 ให้ประกาศสงครามครูเสดเพื่อปลดปล่อยตาร์ราโกนา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่พำนักมุขนายกมหานครของศาสนจักรในกาตาลุญญา (ก่อนหน้านั้นชาวกาตาลาอยู่ในการปกครองทางศาสนาของอัครมุขนายกแห่งนาร์บอน)
ในปี ค.ศ. 1127 ราโมน บารังเกลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับชาวเจนัว[4] ช่วงใกล้บั้นปลายชีวิตเขากลายเป็นอัศวินเทมพลาร์[5] เขายกเคาน์ตีกาตาลาทั้งห้าแห่งให้ราโมน บารังเกที่ 4 บุตรชายคนโต และยกพรอว็องส์ให้บารังเก ราโมน บุตรชายคนเล็ก
เขาเสียชีวิตในวันที่ 23 มกราคม/19 กรกฎาคม ค.ศ. 1131 และถูกฝังในอารามซันตามาริอาดาริโปลย์
การแต่งงานและทายาท
ภรรยาคนแรกของราโมนคือมาริอา โรดริเกซ เด บิบาร์ บุตรสาวคนที่สองของเอลซิด ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ
- มาริอา แต่งงานกับบาร์นัตที่ 3 เคานต์แห่งบาซาลู (เสียชีวิต ค.ศ. 1111)
อาลมอดิส ภรรยาคนที่สองของเขาไม่มีบุตร
ภรรยาคนที่สามของเขาคือดุส ทายาทหญิงแห่งพรอว็องส์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1127)[1] การแต่งงานของทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคน คือ
- ราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา (ค.ศ. 1113/1114–1162) แต่งงานกับเปโตรนิยาแห่งอารากอน พระธิดาของพระเจ้ารามิโรที่ 2 แห่งอารากอน[1]
- บารังเก ราโมนที่ 1 เคานต์แห่งพรอว็องส์ (ค.ศ. 1115–1144)[1]
- บาร์นัต เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
- บารังเกรา (ค.ศ. 1116–1149) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออน
- ชิเมนา (ค.ศ. 1117–1136) แต่งงานกับรอเฌที่ 3 เคานต์แห่งฟัว
- อัสตาฟานิอา (เกิด ค.ศ. 1118) แต่งงานกับซ็องตูลที่ 2 เคานต์แห่งบีกอร์
- อัลโมดิส แต่งงานกับป็อนส์ ดา ซาร์แบรา
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Cheyette, Fredric L. (2001). Ermengard of Narbonne and the World of the Troubadours. Cornell University Press, p. 20.
- ↑ Reilly, Bernard F. (2003). The Medieval Spains. Cambridge University Press, p. 107.
- ↑ Reilly, Bernard F. (1995). The Contest Christian and Muslim Spain:1031-1157. Blackwell Publishing, p. 176.
- ↑ Phillips, Jonathan P. (2007). The Second Crusade: Extending the Frontiers of Christendom. Yale University Press, p. 254.
- ↑ Nicholson, Helen (2010). A Brief History of the Knights Templar. Constable & Robinson Ltd., p. 102.