ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช | |
---|---|
เกิด | ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา |
สัญชาติ | ไทย |
การศึกษา | Ontario College of Arts,Toronto Canada The Banff Center School of Fine Arts, Banff, Canada Time Art, School of The Art Institute of Chicaco The Whitney Independent Studies Program, New York |
ขบวนการ | Conceptual |
รางวัล | Silpathorn Award 2007 Hugo Boss Prize Benesse, Naoshima Contemporary Art Museum, Japan Smithsonian American Art Museum's Lucelia Artist Award Gordon Matta Clark Grant Louis Comfort Tiffany Award NEA Central Kunst Prize |
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (อังกฤษ: Rirkrit Tiravanija) ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ฤกษ์ฤทธิ์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของศิลปะแขนงใหม่ที่เรียกว่า "สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง" Relational Aesthetics ซึ่งเป็นลัทธิศิลปะแขนงใหม่ เป็นศิลปินที่เริ่มทำงานศิลปะที่เน้นถึงกระบวนการให้คนดูมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น โดยงานยุคแรกที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาอย่างมากจะเกี่ยวข้องกับการนำเอาลักษณะเฉพาะบางอย่างของไทยไปนำเสนอ และได้รับการขนานนามว่า วีรบุรุษแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย[ใคร?]
ประวัติและชีวิตส่วนตัว
ฤกษ์ฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 (คศ. 1961) ณ กรุงบัวโนสแอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ขณะที่บิดาของเขา นายชัยพจน์ (ชื่อเดิม สุพจน์) ตีระวนิช รับราชการเป็นนักการทูต ประจำประเทศอาร์เจนตินา และ มารดาคือทันตแพทย์หญิงกฤษณา ตีระวนิช ติดตามไปอยู่ด้วย และมีน้องสาวคนเดียว คือ สุรัชนา (ชื่อเดิม กิตติรัตน์) ตีระวนิช เอลเลอร์
การศึกษา
เมื่ออายุ 3 ขวบ กลับมาอยู่เมืองไทย แต่พออายุได้ 7 ขวบก็ได้ย้ายตามคุณพ่อไปประจำที่ประเทศเอธิโอเปียและเมื่อกลับมาประเทศไทยได้ เข้าเรียนที่ โรงเรียนอนุบาลปฎมวัย และ Ruamrudee International School จากนั้นครอบครัวจึงย้ายไปประจำที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เข้าเรียนที่ Lisgar Collegiate Institute และ Carlton University และระดับอนุปริญญา สาขาExperimental Art ที่ Ontario College of Arts, Toronto Canada (1980–1984) และ The Banff Center School of Fine Arts, Banff, Canada (1984) เมื่อจบการศึกษาจึงเรียนในระดับปริญญาโทสาขา Time Art ที่ School of The Art Institute of Chicago America (1984–1986) และศึกษาในโครงการศึกษาอิสระของ The Whitney Independent Studies Program, New York (1985–86) ระหว่างที่เรียนในระดับปริญญาตรีและโทนั้นมีผลการเรียนดีเด่น[1]
จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน
ขณะที่ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา ฤกษ์ฤทธิ์มีความสนใจในอาชีพนักข่าวและช่างภาพ จึงเลือกเรียนวิชาด้านถ่ายภาพที่นั่น เมื่อได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้ดูผลงานของ Duchamp ก็เกิดความสนใจทางด้านศิลปะ จนตัดสินใจมาเรียนศิลปะแทน โดยเฉพาะพวก Experimental Art หลังจากจบปริญญาโทได้ไปทำงานกับศิลปินหลายคน ทำงานตามหอศิลป์ แกลลอรี่ จนกระทั่งผลงานของเขาถูกเลือกไปโชว์ และแสดงงานเดี่ยวครั้งแรกในปี 1987[2]
แนวความคิดในการสร้างผลงาน
ฤกษ์ฤทธิ์เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะยุโรปและอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา โดยแสดงผลงานกลุ่มและเดี่ยวหลายครั้งในแนวทางใหม่ Conceptual Art และ Installation Art ที่ใช้กระบวนการทางความคิดผสมผสานศิลปะหลากหลายเทคนิค บางครั้งให้คนดูมีส่วนร่วมในงานของเขา “สร้างความหมาย” และ “ตีความ” ศิลปะด้วยตัวเอง เป็น Relational Art ที่ไม่ได้เน้นความสำคัญของตัวศิลปิน พยายามจะหลีกเลี่ยงความเป็นจุดสนใจหรือเป็นเป้า สิ่งที่สำคัญที่สุดของ Relational Art คือ ช่วงเวลา หรือ Moment ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกำลังดำเนินไป เขาต้องการที่จะปฏิเสธบางสิ่งที่เกิดขึ้นมา ปฏิเสธสิ่งที่เคยเรียนรู้มาเพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า แสดงสภาวะทางสังคมและบทบาทของศิลปินต่อชุมชน เปลี่ยนบรรยากาศในสถานที่สร้างงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของหัวข้อที่เขาต้องการนำเสนอ ทำให้งานของเขามีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่แสดง ฤกษ์ฤทธิ์ทำงานแนวนี้มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ได้รับความสนใจและสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างผลงาน
Untitled 1990 (Pad Thai)
ผลงานในช่วงต้นๆ ของฤกษ์ฤทธิ์ค่อนข้างจะมีลักษณะของงานประติมากรรมในแบบ “Objective” มากกว่าจะเป็นแนวทางของ Conceptual Art เหมือนเช่นผลงานถัดๆ มา และได้เคยสร้างผลงานในแนว Conceptual Art ชุดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารนำเสนอต่อผู้คนมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จจนสร้างให้เกิดความฮือฮาขึ้นมา จวบจนเมื่อฤกษ์ฤทธิ์ได้เลือกหยิบเอาส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในชีวิตปะจำวันรวมถึงความทรงจำเก่าก่อนของตัวเองมาผสมผสานร่วมกัน แล้วนำเสนอในรูปของผลผลิตทางศิลปะ โดยผลงานชุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับฤกษ์ฤทธิ์จนเกิดการยอมรับในวงกว้าง กระทั่งเป็นที่รู้จักของชุมชนศิลปะในตะวันตกและอเมริกายุคปัจจุบัน จนกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่โดดเด่นนั้น คือผลงานแนว Conceptual Art ชุด “ผัดไทย” ในปี 2533 เป็นการนำเอาลักษณะเฉพาะบางอย่างของไทยไปนำเสนอ เขาลงมือปรุงผัดไทยเองในแกลเลอรี่ศิลปะที่นิวยอร์ก ซึ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางศิลปะให้เป็นครัวและโรงอาหาร เพื่อทำอาหารจัดเลี้ยงแขกผู้มาร่วมงานที่จะไม่ได้เห็นศิลปะวัตถุใดๆ นอกจากได้ร่วมกินผัดไทย พูดคุย และพบปะสังสรรค์กับศิลปินและแขกคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน
โดยลักษณะเด่นของผลงานฤกษ์ฤทธิ์คือ เป็นนิทรรศการเชิงความคิด ที่สร้างขึ้นมาสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดู งานที่เป็นเชิงแนวคิดของเขา จึงถือเป็นการขบถในแง่ของของการฉีกกฎ ความเป็นธรรมเนียม และวิถีปฏิบัติในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกกรอบแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์แบบเดิมๆ ที่ปล่อยให้ผู้ชมงานศิลปะเลือกเสพสุนทรียะ ได้จากการเป็นผู้ดูและชมเท่านั้น โดย “ผัดไทย”เป็นงานศิลปะที่นอกจากจะดูด้วยตา รับฟังด้วยหู สูดดมด้วยจมูก สัมผัสจับต้องด้วยกายสัมผัสแล้ว งานศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์นั้นยังสามารถนำมาบริโภคเสพกลืนเคี้ยวกินลงท้องได้อีก[3]
Untitled 1992 (Free), 303 Gallery
ในปี ค.ศ.1992 ฤกษ์ฤทธิ์ได้เปลี่ยนแกลเลอรี่ที่นิวยอร์กให้กลายเป็นห้องอาหารสำหรับกินอาหารไทย เช่น แกงกระหรี่ ฟรีทุกวันระหว่างที่กำลังแสดงงาน เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรม อุปนิสัยมีน้ำใจไมตรี ต้อนรับขับสู้ของคนไทย ผลงานของเขาเป็นหนึ่งในภาพฉากงานศิลปะของนิวยอกร์กช่วงต้นทศวรรษที่ 90 แสดงให้เห็นการฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งของ Activity-Based Art เขาเป็นสมาชิกของ Godzilla กลุ่มศิลปินชาว Asian-America ห้องแสดงผลงานที่จัดแต่งใหม่ของฤกษ์ฤทธิ์ได้ลบล้างมิติเก่าๆ ของขอบเขตที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะ โดยที่ห้องทำงานโล่งทางด้านหลังของแกลลอรี่ได้ถูกจัดทำให้เป็นที่สำหรับชุมชน โดยการจัดให้ห้องเก็บอุปกรณ์ทางด้านหลังเป็นที่ว่าง เผยให้เห็นถึงองค์ประกอบของแกลลอรี่ ลดความยุ่งยากขององค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นด้วยลักษณะที่แตกต่างไปจากหน้าร้านธรรมดาทั่วไป ที่นี่ทำเป็นในรูปแบบของ "Free-For-All" หรือสินค้าจำเป็นเกี่ยวกับ Potlatch ซึ่งการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากระบบทุนนิยม โดยการแลกเปลี่ยนของขวัญและการอยู่ร่วมกันของชุมชน ผ่านบรรยากาศความเป็นกันเองที่สลัดหลุดจากความเป็นเจ้าของสถานที่ที่โดดเดี่ยวในชุมชนส่วนตัวและงานศิลปะแต่เพียงผู้เดียว
ฤกษ์ฤทธิ์ถือเป็นศิลปินไทยในยุคปัจจุบันที่กำลังนำเอาวัฒนธรรมไทยออกเผยแพร่สู่สายตาชาวตะวันตกตามแนวทางศิลปะในช่วง 1990 ผู้ดูอาจจะได้สัมผัสกับผลงานทางศิลปะที่มากกว่าสีสันและเรื่องราว แต่เป็นการดึงเอาผู้ชมเข้าร่วมรับรู้รสชาติและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานของเขา แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว เพียงแต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการนำเสนอที่ตรงจุด ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่สนใจของวงการศิลปะทั้งในยุโรปและอเมริกา[4]
Untitled (Twelve seventy-one)
ปี ค.ศ.1993 ได้รับเลือกเข้าแสดงในนิทรรศการ Aperto งานเวนิส เบียนนาเล (Venice Biennale) ครั้งที่ 45 ด้วยผลงาน “Untitled (Twelve seventy one)” โดยปรุงก๋วยเตี๋ยวเรือในเรือสเตนเลส หยอกล้อไปกับประวัติศาสตร์อิตาลี จีน และไทย สมัยที่มาร์โคโปโลซึ่งเป็นชาวเวนิสเดินทางไปประเทศจีนในปี ค.ศ. 1271 และนำเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวกลับมาพัฒนาเป็นเส้นมักกะโรนีและสปาเก็ตตี้ในอิตาลี ขณะที่ไทยก็รับเอาวัฒนธรรมการกินก๋วยเตี๋ยวจากจีนมาดัดแปลงให้เป็นรสชาติแบบไทยๆ และขายกันในเรือ อันเป็นเรื่องราวที่โยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างเมืองไทยและเวนิส ที่ต่างก็มีบ้านเมืองบนสองฝั่งคลองและมีผู้คนที่นิยมสัญจรไปมา
The Land, Chiang Mai, Thailand 1998
ในช่วงเดือนธันวาคมปี 1998-2000 ฤกษ์ฤทธิ์ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนพ่อแม่ที่บ้านเกิดของเขา พร้อมกันนั้นเขาก็ได้จัดแสดงผลงานขึ้นหลายชุด ควบคู่ไปกับการจัดอภิปราย จัดบรรยาย พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะอีกหลายวาระในหลายสถานที่ ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ผลงานแถบเทปวิดีโอที่ติดตั้งในรถแท็กซี่เขียวเหลืองออกวิ่งตระเวนให้บริการกับผู้โดยสารทั่วกรุงเทพฯ และผลงานชุด “สัปดาห์ร่วมทุกข์ ตุ๊กๆคนเมือง” ที่ทำขึ้นในเชียงใหม่ ด้วยการจัดวางบัตรอวยพรไว้บนรถสามล้อเครื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารได้เขียนคำอวยพรสั้นๆ แล้วหยอดลงกล่องที่ติดอยู่บนรถ จากนั้นบัตรอวยพรแต่ละใบก็จะถูกจัดส่งไปยังคนที่ฤกษ์ฤทธิ์เป็นผู้กำหนดขึ้น ด้วยการเขียนระบุชื่อผู้รับเอง โดยที่ผู้เขียนคำอวยพรไม่มีโอกาสได้ทราบว่าบัตรอวยพรที่ตนเขียนไว้นั้นจะได้รับการส่งผ่านไปถึงใครเช่นเดียวกับผู้รับที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียน
ชิ้นงานเหล่านี้ ที่รวมไปถึงการทำ “ลาบ” เพื่อใช้จัดเลี้ยงแก่ผู้คนที่มาร่วมงาน “สัปดาห์ร่วมทุกข์ประจำปี พ.ศ. 2540” ที่เชียงใหม่ ล้วนเป็นอีกรูปลักษณ์แนวทางหนึ่ง สำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์หรือร่วมเสพรสศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์ในแต่ละครั้ง ได้ปะทะพบเจอกับปรากฏการณ์อันแปลกต่างไปจากกิจกรรมด้านศิลปะแห่ง พ.ศ. ปัจจุบัน[5]
The Land Foundation
The Land Foundation หรือมูลนิธิที่นา เป็นมูลนิธิทางศิลปะที่ ฤกษ์ฤทธิ์ ติระวนิช และ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ผลงานโปรเจกคู่ที่สองศิลปินร่วมสมัยก่อตั้งขึ้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศิลปินนานาชาติ และศิลปินที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ เนื้อหาของโครงการได้มีการแทรกแซงเรื่องของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรเข้ามา[6]
Film work : Lung Neaw Visits His Neighbours
ในปี 2011 ฤกษ์ฤทธิ์ได้สร้างผลงานภาพยนตร์ยาวเต็มตัวเรื่องแรกของ เป็นภาพยนตร์ไทยชื่อ “Lung Neaw Visits His Neighbours” หรือ "ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน" http://www.lungneawvisitsfilm.com เก็บถาวร 2019-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี หนังสารคดีเรื่องนี้ พูดถึงลุงนิ่วชาวนาวัย 60 ปี ที่อยู่ประจำหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ห่างออกไปจากความสับสนวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ตามไปดูชีวิตประจำวันของลุงนิ่ว ผู้พบว่างานทำนาหนักเกินไปสำหรับเขาแล้วการใช้ชีวิตของเขาในดินแดนที่เขารู้จักมาตั้งแต่เกิด และเติมเต็มเวลาว่างๆ ของเขาด้วยการจับกลุ่มคุยกับเพื่อบ้าน ภาพยนตร์ต้องการสื่อเกี่ยวกับผลประโยชน์และแสดงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านที่อยู่รอบข้าง[7] ซึ่งมีความยาวแปดชั่วโมงสิบเก้านาที นำเสนอการกลับมาใช้ (motion footage) การเคลื่อนไหวของฟิล์มภาพยนตร์footage หรือที่เรียกว่าการทดลองทำหนังของ Andy Warhol ในปี1960 และในปีถัดมาภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกนำมาฉายอีกหลายครั้งในงาน DOCUMENTA (13) ที่ Kassel ประเทศเยอรมัน และ MOMA ใน New York[8]
Untitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011
การแสดงผลงาน Untitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011 งาน Art42Basel เป็นการนำงานสองลายเซ็นประจำตัวของเขาไปนำเสนอ การทำอาหาร “แกงมัสมั่น” ซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากแถบเปอร์เซีย ฤกษ์ฤทธิ์ปรุงอาหารและเชื้อเชิญผู้มาดูงานศิลปะร่วมทานแกงมัสมั่นของเขา ก็เพื่อหนึ่งในการสร้างสุนทรียศาสตร์ของการรับรู้ความงามของศิลปะ ศิลปินพยายามสร้างให้เกิดการรับรู้ในทุกผัสสะของมนุษย์ โดยผ่านประสบการณ์ สัมผัส, กิน, ดื่ม, ได้กลิ่น และการแวะเข้ามาชมและอยู่ในแวดล้อมในชิ้นงานศิลปะ จึงทำให้เปลี่ยนสถานะของผู้ชมจากการเป็นเพียงผู้ชม มาเป็นผู้แสดง ร่วมเสพอาหาร/ศิลปะ
ขณะที่ภาพวาดลายเส้น การชุมนุม (demonstration drawing) เป็นบริบทของการประท้วงใน อียิปต์ไปจนถึงลิเบีย ผู้ดูชมสามารถมีส่วนร่วมในการวาดภาพบนผนังได้ ที่เรียกว่า “Relational Art” คืองานศิลปะของเขาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ศิลปะ” และ “คนที่มาดูงานศิลปะ” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวงานที่ร่วมจัดแสดงอยู่ด้วยกันที่เรียก “สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” หรือ “Relational Art” ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกำลังดำเนินไปเป็นสิ่งที่สำคัญ การปฏิสัมพันธ์กัน การเสพรสชาติอาหารที่กินอยู่ เพราะอาหารก็คือการนำเสนอความเป็นไปในประจำวันและการเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการวาดภาพลายเส้นบนผนัง ซึ่งงานวาดภาพลายเส้นการชุมนุมนั้นมันเกิดขึ้นบนกระดาษ แต่ทว่างานนี้ได้ถูกนำเสนอให้วาดบนผนังกำแพงของห้องศิลปะ ซึ่งเป็นที่ศิลปินได้เคยแสดงงานในลักษณะครั้งแรกไว้ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ เมื่อสิงหาคมปี 2553 และนำมาสู่การนำเสนอโปรเจกต์ในลักษณะเดียวกันนี้ในงานแสดงศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Art42Basel และคณะกรรมการก็พิจารณารับผลงานนิทรรศการนี้ ไปแสดงในเซ็กชั่น Art Feature เป็น เว็กชั่น 1 ใน 5 ส่วนสำคัญของงาน
Art feature เป็นส่วนที่เป็นงานนำเสนอผลงานโดยผ่านการคัดสรรจากแกลเลอรี่ ซึ่งคณะกรรมการไม่เพียงแต่พิจารณาแค่ชื่อศิลปิน หรือ ความน่าสนใจของผลงานที่คัดสรรไป แต่ ยังต้องพิจารณาถึงประวัติของแกลเลอรี่นั้นๆ ด้วยเช่นกัน[9]
บทบาทอื่นๆ ในวงการศิลปะ
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิที่นา เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ตำแหน่ง Visual Arts Professor of Columbia University School of the Arts โอไฮโอ ยูนิเวอร์ซิตี้, โตรอนโต ยูนิเวอร์ซิตี้ ทำงานในแกลเลอรี่หลายแห่ง และยังคงเดินทางไปแสดงงานศิลปะทั่วโลกเป็นประจำ
เชิงอรรถ
- ↑ พจนีย์ ตีระวนิช. "วัยเยาว์ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่เขย่าวงการศิลปะโลก." Journal Fine Art. ปีที่ 6, ฉบับที่ 57 ก.ค.2552. หน้า 115.
- ↑ ไพศาล ธีรพงศ์วิษ. "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช หนุ่มไทยในกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะอเมริกา." สีสัน. ปีที่ 9, ฉบับที่ 5 มี.ค. 2540. หน้า 32.
- ↑ ไพศาล ธีรพงศ์วิษ. "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช หนุ่มไทยในกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะอเมริกา." สีสัน ปีที่ 9, ฉบับที่ 5 มี.ค. 2540. หน้า 33.
- ↑ โสภิต เอกภพโยธิน(ผู้แปล). "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช : ศิลปินไทยในต่างแดน." Art Record in Thailand ปีที่ 1, ฉบับที่ 11 2538. หน้า 22-23.
- ↑ ไพศาล ธีรพงศ์วิษ, "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช หนุ่มไทยในกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะอเมริกา," สีสัน ปีที่ 9, ฉบับที่ 5 (มี.ค. 2540), หน้า 37.
- ↑ “Temporary Storage #01: Footnotes,” not making art, [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก : http://vipash.wordpress.com/, (9 ต.ค. 2556).
- ↑ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326956600&grpid=01&catid=01
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
- ↑ http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/71865[ลิงก์เสีย]
อ้างอิง
- พจนีย์ ตีระวนิช. "วัยเยาว์ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่เขย่าวงการศิลปะโลก." Journal Fine Art ปีที่ 6, ฉบับที่ 57 ก.ค. 2552.
- ไพศาล ธีรพงศ์วิษ. "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช หนุ่มไทยในกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะอเมริกา." สีสัน ปีที่ 9, ฉบับที่ 5 มี.ค. 2540
- โสภิต เอกภพโยธิน(ผู้แปล). "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช : ศิลปินไทยในต่างแดน." Art Record in Thailand ปีที่ 1, ฉบับที่ 11 2538
- http://vipash.wordpress.com/
- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326956600&grpid=01&catid=01
- http://www.pilarcorrias.com/news/rirkrit-tiravanija-at-documenta-13-kassel-and-moma-new-york/ เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/71865[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
- ชีวประวัติ เก็บถาวร 2012-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ชีวประวัติ เก็บถาวร 2014-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ชีวประวัติ เก็บถาวร 2013-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เกี่ยวกับศิลปิน
- เกี่ยวกับศิลปิน เก็บถาวร 2012-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ผลงาน เก็บถาวร 2012-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ผลงานภาพยนตร์
- Exhibitionsของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
- Exhibitionsของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เก็บถาวร 2016-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าว เก็บถาวร 2016-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน