สกอตติชโฟลด์

สกอตติชโฟลด์
แมวสกอตติชโฟลด์สีไลลักโตเต็มวัย มีลักษณะหน้ากลม ตากลม และหูพับชี้มาทางด้านหน้า
ชื่ออื่นสกอตโฟลด์
ต้นกำเนิด สกอตแลนด์
มาตรฐานพันธุ์
CFAstandard
TICAstandard
WCFstandard
ACFA/CAAมาตรฐาน
หมายเหตุ
ไม่ได้รับการยอมรับจาก FIFe และ GCCF
แมวบ้าน (Felis catus)

สกอตติชโฟลด์ (อังกฤษ: Scottish Fold) เป็นพันธุ์แมวบ้านที่มีลักษณะเฉพาะพันธุ์คือการกลายพันธุ์ของยีนเด่นที่เกี่ยวข้องกับภาวะกระดูกเจริญผิดรูป (osteochondrodysplasia) ความผิดปกติทางพันธุกรรมนี้ส่งผลต่อกระดูกอ่อนทั่วทั้งร่างกายแมว ทำให้เกิดลักษณะ "หูพับ" ชี้ลงมาทางด้านหน้า แม้ลักษณะนี้จะทำให้แมวพันธุ์นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มักเรียกกันว่า "คล้ายนกฮูก"[1] แต่ก็ส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพของแมวด้วย

มีงานศึกษาว่าแมวสกอตติชโฟลด์ทุกตัวได้รับผลกระทบจากภาวะกระดูกเจริญผิดรูป ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพัฒนาการที่ส่งผลต่อการเจริญของกระดูกและกระดูกอ่อนทั่วทั้งร่างกาย ภาวะนี้เป็นสาเหตุของลักษณะหูพับ แมวสกอตติชโฟลด์จึงมีโครงสร้างกระดูกที่ผิดรูปและอาจเกิดโรคข้อเสื่อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย[2] บางประเทศห้ามการเพาะพันธุ์แมวสกอตติชโฟลด์และทะเบียนพันธุ์หลัก ๆ ไม่ยอมรับพันธุ์นี้เนื่องด้วยปัญหาทางสุขภาพดังกล่าว

ประวัติ

ต้นกำเนิด

แมวสกอตติชโฟลด์ดั้งเดิมคือแมวเลี้ยงในไร่ชื่อว่าซูซี (Susie) ซึ่งพบในไร่ใกล้คูพาแรงกัสในเทย์ไซด์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1961 ตรงกลางหูของซูซีมีลักษณะพับผิดธรรมดา ทำให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับนกฮูก เมื่อซูซีตกลูก มีลูกสองตัวเกิดมามีลักษณะหูพับ วิลเลียมและมอลลี รอสส์ สองสามีภรรยาชาวไร่ใกล้เคียงและผู้ผสมพันธุ์แมว ได้นำลูกแมวหนึ่งตัวในนี้ไปเลี้ยง[3] แผนการผสมพันธ์ุให้ผลเป็นลูกแมว 76 ตัว ในสามปีแรก 42 ตัวในนี้มีหูพับ และอีก 34 ตัวมีหูตรง ได้ข้อสรุปว่า การกลายพันธุ์ของหูเป็นผลมาจากยีนเด่นเพียงหนึ่งยีน[4] รอสส์จดทะเบียนพันธุ์สกอตติชโฟลด์กับ Governing Council of the Cat Fancy (GCCF) ในสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 1966 และเริ่มขยายพันธุ์ลูกแมวสกอตติชโฟลด์ โดยมีแพต เทอร์เนอร์ นักพันธุศาสตร์ คอยช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ราวช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 GCCF ได้ระงับการจดทะเบียนแมวพันธุ์นี้ด้วยข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อในหูและภาวะหูหนวก ใน ค.ศ. 1970 ดร.นีล ทอดด์ จากแมสซาชูเซตส์ ซึ่งในขณะนั้นกำลังศึกษาเรื่องการกลายพันธุ์ นำแมวสกอตติชโฟลด์ชุดแรกเข้าสู่อเมริกา หลังจากนั้นมีการนำแมวสกอตติชโฟลด์อีกหลายตัวเข้ามาและแผนการผสมแมวสกอตติชโฟลด์ก็ดำเนินสืบมาพร้อมกับนำแมวพันธุ์อเมริกันขนสั้นและบริติชขนสั้นเข้ามาด้วย[5]

การยอมรับพันธุ์

ใน ค.ศ. 1978 Cat Fanciers' Association (CFA) ให้สถานะแชมเปียนชิปกับพันธุ์สก๊อตติชโฟลด์ ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เริ่มมีการยอมรับสกอตติชโฟลด์แบบขนยาว[6] สมาคมแมวนานาชาติ (TICA) เป็นทะเบียนพันธุ์แรกที่ยอมรับสก๊อตติชโฟลด์ขนยาวสำหรับการแข่งขันแชมเปียนชิปในฤดูกาลจัดประกวด ค.ศ. 1987-88 และ CFA ก็ตามมาใน ค.ศ. 1993-94

แมวสกอตติชโฟลด์แบบหูตั้ง
แมวสกอตติชโฟลด์แบบหูตั้ง

อ้างอิง

  1. Sutton, Grace (31 พฤษภาคม 1999). "Breed article: Scottish Folds". Cat Fanciers' Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2012.
  2. "Genetic welfare problems of companion animals: Scottish Fold: Osteochondrodysplasia". Universities Federation for Animal Welfare. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012.
  3. "Scottish Fold Brochure" (PDF). Cat Fanciers' Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2024.
  4. "Scottish Fold FAQ". Fanciers.com. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2009.
  5. "Scottish Fold history". Pegkens Scottish Folds. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2024.
  6. "Scottish Fold history". Pegkens Scottish Folds. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2024.

หมวดหมู่ฉบับร่าง