สตาร์ เทรค: ฝ่าสงครามยึดโลก

สตาร์ เทรค: ฝ่าสงครามยึดโลก
กำกับโจนาทาน เฟรกส์
บทภาพยนตร์
  • แบรนนอน บรากา
  • โรนัลด์ ดี. มัวร์
เนื้อเรื่อง
  • ริก เบอร์แมน
  • แบรนนอน บรากา
  • โรนัลด์ ดี. มัวร์
สร้างจากสตาร์ เทรค
โดย ยีน รอดเดนเบอร์รี
อำนวยการสร้าง
  • ริก เบอร์แมน
  • มาร์ตี ฮอร์นสไตน์
  • ปีเตอร์ ลอริตสัน
นักแสดงนำ
  • แพทริก สจ๊วต
  • โจนาทาน เฟรกส์
  • เบรนต์ สไปเนอร์
  • เลอวาร์ เบอร์ตัน
  • ไมเคิล ดอร์น
  • เกตส์ แมกแฟดเดน
  • มารินา เซอร์ติส
  • อัลเฟอร์ วูดเดิร์ด
  • เจมส์ ครอมเวล
  • อลิซ คริจ
กำกับภาพแมตทิว เอฟ. ลีโอเนตติ
ตัดต่อ
  • แอนาสเตเชีย แอมมอนส์
  • จอห์น ดับเบิลยู. วีเลอร์
ดนตรีประกอบเจอร์รี โกลด์สมิท
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาต์พิกเจอส์
วันฉาย
  • 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 (1996-11-22)
ความยาว111 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สตาร์ เทรค: ฝ่าสงครามยึดโลก (อังกฤษ: Star Trek: First Contact) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวนิยายวิทยาศาสตร์ ฉายเมื่อปี ค.ศ. 1996 กำกับโดย โจนาทาน เฟรกส์ (เป็นการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของเขา) สร้างจากแฟรนไชส์ สตาร์ เทรค เป็นภาพยนตร์เรื่องที่แปดในภาพยนตร์ชุด สตาร์ เทรค และเป็นเรื่องที่สองที่มีนักแสดงจาก สตาร์ เทรค: เดอะเน็กซ์เจเนอเรชัน แสดงนำ ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของลูกเรือยานอวกาศ ยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรส์-อี ย้อนเวลาจากศตวรรษที่ 24 กลับไปยังกลางศตวรรษที่ 21 เพื่อหยุดยั้ง บอร์ก เผ่าพันธุ์จักรกลชีวะที่ต้องการยึดครองโลกด้วยการเปลี่ยนแปลงอดีต

หลังภาพยนตร์ สตาร์ เทรค ผ่ามิติจักรวาลทลายโลก ฉายในปี ค.ศ. 1994 พาราเมาต์พิกเจอส์ มอบหมายให้นักเขียนบท แบรนนอน บรากาและโรนัลด์ ดี. มัวร์ พัฒนาบทสำหรับภาพยนตร์เรื่องถัดไปในภาพยนตร์ชุด บรากาและมัวร์ต้องการใส่บอร์กเข้าไปในเนื้อเรื่อง ขณะที่ผู้อำนวยการสร้าง ริก เบอร์แมน ต้องการเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา ผู้เขียนบททั้งสองคนได้รวมสองแนวคิดนี้เข้าด้วยกัน โดยในตอนแรก พวกเขาเขียนบทให้ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายุโรป แต่ได้เปลี่ยนช่วงเวลาเป็นกลางศตวรรษที่ 21 แทน หลังจากกลัวว่าแนวคิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาจะ "ไร้ค่าเกินไป" หลังผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงสองคน ปฏิเสธกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นักแสดง โจนาทาน เฟรกส์ ได้รับเลือกให้กำกับภาพยนตร์ เพื่อให้มั่นใจว่างานจะตกอยู่กับคนที่เข้าใจ สตาร์ เทรค

บทภาพยนตร์เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการออกแบบยานอวกาศใหม่ รวมไปถึงยาน ยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรส์ ลำใหม่ ผู้ออกแบบงานสร้าง เฮอร์แมน ซิมเมอร์แมน และ นักวาดภาพ จอห์น อีฟส์ ร่วมมือกันสร้างยานอวกาศใหม่ที่ดูโฉบเฉี่ยวมากกว่ายาน เอนเทอร์ไพรส์ ก่อนหน้านี้ การถ่ายทำที่แอริโซนาและแคลิฟอร์เนียหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะย้ายกองถ่ายไปถ่ายทำฉากภายในยานอวกาศ บอร์กได้รับการออกแบบใหม่ ให้ดูเหมือนว่าพวกเขาถูกดัดแปลงให้เป็นเครื่องจักรจากภายในสู่ภายนอก การแต่งหน้าใหม่ใช้เวลานานถึงสี่เท่า มากกว่าการปรากฏตัวของพวกเขาในละครโทรทัศน์ บริษัทสร้างเอฟเฟกต์ อันดัสเชียลไลต์แอนด์แมจิก เร่งสร้างเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ให้เสร็จภายในเวลาไม่ถึงห้าเดือน เทคนิคเอฟเฟกต์แสงแบบดั้งเดิมถูกเสริมด้วยภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ เจอร์รี โกลด์สมิท และ โจเอล ลูกชายของเขา ร่วมมือกันแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าจะมีเพียงเจอร์รีเท่านั้นที่มีชื่อในเครดิตภาพยนตร์

สตาร์ เทรค: ฝ่าสงครามยึดโลก ฉายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 เคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในวันเปิดตัวสุดสัปดาห์ ภาพยนตร์ทำเงินในสหรัฐและแคนาดา 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำเงินจากภูมิภาคอื่น ๆ อีก 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมแล้วภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลก 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์ โดยนักวิจารณ์ รอเจอร์ อีเบิร์ต ยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ สตาร์ เทรค ที่ดีที่สุด และเป็นเคยเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการวิจารณ์ในแง่บวกมากที่สุดในแฟรนไชส์ (93%) จนกระทั่งภาพยนตร์รีบูต แซงไปในปี ค.ศ. 2009 (94%) บอร์กและเทคนิคพิเศษได้รับการยกย่อง ในขณะที่ตัวละครได้รับการยกย่องน้อยกว่า การวิเคราะห์ทางวิชาการของภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่ความคล้ายคลึงของกัปตัน ฌอง-ลุก พิคาร์ด กับ เอแฮบของเฮอร์แมน เมลวิลล์ และธรรมชาติของบอร์ก ฝ่าสงครามยึดโลก ได้รับการเสนอชื่อในรางวัลออสการ์ สาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม และได้รับ รางวัลแซทเทิร์น 3 รางวัล ภาคต่อของภาพยนตร์ชื่อว่า สตาร์ เทรค: ผ่าพันธุ์อมตะยึดจักรวาล ฉายในปี ค.ศ. 1998

อ้างอิง

  1. "STAR TREK: FIRST CONTACT (12)". British Board of Film Classification. November 25, 1996. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 9, 2014. สืบค้นเมื่อ May 22, 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น