สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส
สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส | |
---|---|
หน้าแรกของสนธิสัญญาฉบับที่โปรตุเกสเป็นเจ้าของ | |
สร้าง | 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 ในตอร์เดซิยัส กัสติยา |
ให้สัตยาบัน | 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 ในกัสติยา 5 กันยายน ค.ศ. 1494 ในโปรตุเกส |
ที่ตั้ง | หอจดหมายเหตุอินดีส (สเปน) หอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบู (โปรตุเกส) |
ผู้เขียน | สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (สมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 ทรงให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1506)[1] |
ผู้ลงนาม | พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา เจ้าชายฆวนแห่งอัสตูเรียส พระเจ้าฌูเวาที่ 2 แห่งโปรตุเกส[2] |
วัตถุประสงค์ | เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางการค้าและการแสวงหาอาณานิคมในดินแดนที่ค้นพบใหม่ทั้งหมดของโลกที่ตั้งอยู่ระหว่างกัสติยากับโปรตุเกส (ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสเปนกับโปรตุเกส) |
สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (สเปน: Tratado de Tordesillas; โปรตุเกส: Tratado de Tordesilhas) ได้รับการลงนามที่ตอร์เดซิยัสเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 เพื่อแบ่งเขตอิทธิพลในดินแดนที่ค้นพบใหม่นอกยุโรประหว่างจักรวรรดิโปรตุเกสกับราชบัลลังก์กัสติยา (ต่อมาคือจักรวรรดิสเปน) โดยใช้เส้นสมมุติที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะ 370 ลีก[note 1] เส้นสมมุติดังกล่าวพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางระหว่างกาบูเวร์ดีซึ่งขณะนั้นตกเป็นของโปรตุเกสแล้ว กับกลุ่มเกาะที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้สำรวจพบในการเดินทางครั้งแรก (ปัจจุบันเรียกว่าคิวบาและฮิสปันโยลา) และอ้างสิทธิ์ให้แก่กัสติยา
ดินแดนทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของโปรตุเกส ส่วนดินแดนทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตจะเป็นของกัสติยา ฝ่ายกัสติยาให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ที่อาเรบาโลในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1494 และฝ่ายโปรตุเกสให้สัตยาบันที่ซึตูบัลในวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน[3] อีกด้านหนึ่งของโลกถูกแบ่งเขตในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมาตามสนธิสัญญาซาราโกซาซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1529 โดยระบุเส้นสมมุติตรงข้ามเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส ปัจจุบันคู่ฉบับของสนธิสัญญาทั้งสองได้รับการเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุอินดีสที่เซบิยา และในหอจดหมายเหตุแห่งชาติโตรึดูตงบูที่ลิสบอน[4]
สเปนและโปรตุเกสปฏิบัติตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ค่อนข้างดีแม้ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์ของ "โลกใหม่" เท่าไรนัก การกำหนดเส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญานี้ส่งผลให้เกิดอาณานิคมที่มีชื่อว่า "บราซิล" ขึ้นเนื่องจากปลายด้านตะวันออกของทวีปที่ค้นพบใหม่ตกอยู่ในเขตอิทธิพลโปรตุเกส[5] อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้ละเลยชาติมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ทั้งหมด ชาติเหล่านั้นจึงมักเพิกเฉยต่อสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่กลายเป็นโปรเตสแตนต์หลังการปฏิรูปโปรเตสแตนต์
สนธิสัญญาตอร์เดซิยัสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อ ค.ศ. 2007
สนธิสัญญามาดริด
ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1750 พระเจ้าฌูเวาที่ 5 แห่งโปรตุเกส และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 แห่งสเปนทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญามาดริด หลังจากที่โปรตุเกสและสเปนพยายามกำหนดเขตแดนระหว่างบราซิลกับอเมริกาของสเปนขึ้นใหม่ โดยยอมรับว่าการแบ่งเขตตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสใน ค.ศ. 1494 นั้นได้ถูกแทนที่ไปแล้วและถือเป็นโมฆะ ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ สเปนจะได้รับการยอมรับอธิปไตยเหนือฟิลิปปินส์ในขณะที่โปรตุเกสจะได้ดินแดนแถบลุ่มน้ำแอมะซอน โปรตุเกสจะต้องสละอาณานิคมซากราเม็งตูทางฝั่งเหนือของริโอเดลาปลาตา (ปัจจุบันอยู่ในอุรุกวัย) แต่ก็จะได้รับดินแดนนิคมเยซุอิตทั้งเจ็ด (ปัจจุบันอยู่ในบราซิล)[6]
เชิงอรรถ
- ↑ 370 ลีกเท่ากับ 2,193 กิโลเมตร, 1,362 ไมล์ หรือ 1,184 ไมล์ทะเล
อ้างอิง
- ↑ Parise, Agustín (23 มกราคม 2017). Ownership Paradigms in American Civil Law Jurisdictions: Manifestations of the Shifts in the Legislation of Louisiana, Chile, and Argentina (16th-20th Centuries). BRILL. p. 68. ISBN 9789004338203. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2018.
- ↑ Emma Helen Blair, ed., The Philippine Islands, 1493–1803 (Cleveland, Ohio: 1903). Frances Gardiner Davenport, ed., European Treaties Bearing on the History of the United States and Its Dependencies to 1648 (Washington, DC: Carnegie Institute of Washington, 1917), 100.
- ↑ MEMORY OF THE WORLD REGISTER Treaty of Tordesillas Spain and Portugal. 2007, p.2
- ↑ Frances Gardiner Davenport, ed., European Treaties Bearing on the History of the United States and Its Dependencies to 1648 (Washington, DC: Carnegie Institute of Washington, 1917), p. 85, 171.
- ↑ MEMORY OF THE WORLD REGISTER Treaty of Tordesillas Spain and Portugal. 2007, p.1
- ↑ José Damião Rodrigues, Pedro Aires Oliveira (2014) História da Expansão e do Império Português ed. Esfera dos Livros, p.266-267