สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
National Innovation Agency (Thailand)
ตราสัญลักษณ์ของสำนักงาน
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง2 กันยายน พ.ศ. 2552; 15 ปีก่อน (2552-09-02)
ประเภทองค์การมหาชน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 73/2 อาคารอุทยานนวัตกรรม ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
งบประมาณต่อปี362,284,400 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • กริชผกา บุญเฟื่อง, ผู้อำนวยการ
  • สุรอรรถ ศุภจัตุรัส, รองผู้อำนวยการ
  • ปริวรรต วงษ์สำราญ, รองผู้อำนวยการ
  • สุพิชญา หลิมตระกูล, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสำนักงาน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ

ประวัติ

ในปี พ.ศ. 2528 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ชื่อในขณะนั้น) ได้จัดตั้ง “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และดำเนินงานอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ในการทำวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม โดย“เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี”ได้รับงบประมาณจากกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2528-2538 รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 355 ล้านบาท

และในปี พ.ศ. 2543 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีจัดตั้ง "กองทุนพัฒนานวัตกรรม" ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,420 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544

ตามเจตนารมณ์เดิมในการเสนอขอจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาตินั้น ต้องการที่จะยุบรวมกองทุนภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีพันธกิจสอดคล้องกันเข้าด้วยกันคือ “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” และ “กองทุนพัฒนานวัตกรรม” แต่เนื่องจากกองทุนพัฒนานวัตกรรมจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ขณะที่เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ว่าด้วยเงินคงคลัง การรวมกองทุนทั้งสองเข้าด้วยกันในขณะนี้ จึงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย

ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีคำสั่งที่ 84/2546 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 จัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)” ขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูและของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ตามคำสั่งที่ 91/2546 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติการจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)” ให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ โดยให้โอนเงินในส่วนของกองทุนพัฒนานวัตกรรมมาเป็นทุนประเดิมของสำนักงานฯ และในขณะเดียวกันให้บริหาร “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” ตามระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546

ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2552 ได้รับจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน มีชื่อว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)[2][3] จึงทำให้ สนช. มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเต็มตัว และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจน โดย สนช. ได้สร้างแนวทางในการดำเนินงานเพื่อ พัฒนาโครงการนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นห่วงโซ่มูลค่า (value chain) บนฐานความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

สนช. ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ “นวัตกรรม” เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธร รมประกอบด้วยปัจจัยด้านความเป็นผู้ประกอบการ และปัจจัยด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น สนช. กำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดยการนำองค์ความรู้จากหน่วยงานวิชาการทั้งหมดทั้งใน และต่างประเทศมาประยุกต์ใช้และได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรม เพื่อการรังสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่ออุตสาห กรรมของประเทศ โดย สนช. ได้มีการพิจารณาทบทวนแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างสม่ำ เสมอเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อำนาจและหน้าที่

  • ยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการวิเคราะห์และประเมินสถานภาพของอุตสาหกรรมและศักยภาพของนวัตกรรม ตลอดจนการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
  • เชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจอย่างมี บูรณาการ โดยให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและการเงิน และเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรในการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นโดยเร็ว
  • สนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน เพื่อช่วยการพัฒนาโครงการในระยะหลังการวิจัย และพัฒนา หรือการต่อยอดจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ การสนับสนุนการจัดทำต้นแบบโรงงานนำร่อง การทดสอบในกระบวนการผลิตจริง การวิเคราะห์และประเมินทางการตลาด และการจัดทำแผนธุรกิจ เป็นต้น
  • สนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ การจัดการประชุมและสัมมนา และการพัฒนาความใฝ่รู้
  • ส่งเสริมเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชนทั่วไป
  • บริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามระเบียบกระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546

วิสัยทัศน์ (Vision)[2]

องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน

Key Corporate in Enhancing National Innovation System towards Sustainable Values

พันธกิจ (Mission)[2]

  1. ส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ
  2. สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม
  3. ยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย

บทบาท (Positioning)[2]

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ … พลังขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ

NIA … Empowering The Nation by Innovation

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๔๔, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-11-11.
  3. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552

https://www.nia.or.th/ เก็บถาวร 2022-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น