สุเทพ เทือกสุบรรณ
สุเทพ เทือกสุบรรณ | |
---|---|
สุเทพ ใน พ.ศ. 2553 | |
รองนายกรัฐมนตรีไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (0 ปี 271 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553 (1 ปี 292 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | |
ดำรงตำแหน่ง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 (2 ปี 330 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
ก่อนหน้า | สุวัจน์ ลิปตพัลลภ |
ถัดไป | วันมูหะมัดนอร์ มะทา |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | |
ดำรงตำแหน่ง 11 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (1 ปี 357 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | เปรม ติณสูลานนท์ |
ก่อนหน้า | ประสพ บุษราคัม |
ถัดไป | เสนาะ เทียนทอง |
ดำรงตำแหน่ง 29 กันยายน พ.ศ. 2535 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2537 (2 ปี 69 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
ก่อนหน้า | อำพล เสนาณรงค์ |
ถัดไป | สมุทร มงคลกิติ |
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ | |
ดำรงตำแหน่ง 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (6 ปี 121 วัน) | |
ก่อนหน้า | ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ |
ถัดไป | เฉลิมชัย ศรีอ่อน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2522—2556) รวมพลัง (2561—ปัจจุบัน) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | กปปส. |
คู่อาศัย | ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ (2537—ปัจจุบัน)[1] |
คู่สมรส | จุฑาภรณ์ เทือกสุบรรณ (2521—2533) |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมิดเดิลเทนเนสซีสเตด |
สุเทพ เทือกสุบรรณ (เกิด 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) เป็นนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไทย ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เขาลาออกจากพรรคในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เพื่อไปเป็นเลขาธิการ กปปส. ซึ่งดำเนินการประท้วงเพื่อพยายามโค่นรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ในห้วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 เขาเรียกร้องให้ตั้ง "สภาประชาชน" ซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง เขาเคยเรียกร้องเพื่อให้เขาสวมบทบาทเป็น "องค์อธิปัตย์" เพื่อออกกฎบัตร ตั้งรัฐบาลใหม่ และตั้งสภาประชาชน และจะประท้วงต่อหากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถนำการปฏิรูปที่ กปปส. ชี้นำไปปฏิบัติได้สำเร็จ[2]
หลังรัฐประหารปี 2557 เขายังเป็นหัวหน้ามูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย[3] จากนั้นเขาประกาศวางมือทางการเมืองและอุปสมบทระหว่างปี 2557 ถึง 2558[4] ที่วัดไตรธรรมาราม ในปี พ.ศ. 2561 กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยได้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ประวัติ
สุเทพ เทือกสุบรรณ มีชื่อเล่นว่า "เนม" หรือ บิ๊กเนม มีฉายาว่า "ลุงกำนัน" เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เป็นบุตรของนายจรัส เทือกสุบรรณ กำนันตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี[5] และนางละม้าย เทือกสุบรรณ (สกุลเดิม ชาวนา) มีพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คนคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ นางศิริรัตน์ ศรีเทพ (ถึงแก่กรรม) กับนางสาวรัชนี เทือกสุบรรณ (เป็นคู่แฝด) นายเชน เทือกสุบรรณ นางสาวจิราภรณ์ เทือกสุบรรณ นายธานี เทือกสุบรรณ และนางสาวกิ่งกาญจน์ เทือกสุบรรณ
สุเทพสำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กรุงเทพมหานคร ระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ระหว่างเป็นนักศึกษาได้ทำกิจกรรมเป็นกรรมการสโมสรนักศึกษา เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท M.A. Political Sciences จาก Middle Tennessee State University สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2518[6] หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทกลับมา สุเทพได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น กำนันตำบลท่าสะท้อน ต่อจากผู้เป็นบิดา และชนะเลือกตั้ง ทำให้ได้เป็นกำนันขณะมีอายุได้ 26 ปี[7] สุเทพยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาผู้นำธุรกิจสังคมและการเมือง จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558[8]
สุเทพและครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของส่วนแบ่งที่สำคัญของพื้นที่เพาะปลูกต้นปาล์มน้ำมันและฟาร์มกุ้งในภาคใต้[9][10]
สุเทพ เทือกสุบรรณสมรสครั้งแรกกับ นางจุฑาภรณ์ เทือกสุบรรณ มีบุตรธิดา 3 คน คือ แทน เทือกสุบรรณ, แขแสง เทือกสุบรรณ และน้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ สมรสกับ นิโคลัส โฮ ภายหลังภรรยาได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ต่อมาได้สมรสใหม่กับศรีสกุล พร้อมพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา (อดีตภรรยาพรเทพ เตชะไพบูลย์) และได้รับบุตรของนางศรีสกุลที่เกิดจากนายพรเทพมาเป็นบุตรบุญธรรม 3 คน คือ สิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ น.ส.ธีราภา พร้อมพันธุ์[11]
บทบาททางการเมือง
สุเทพ เข้าสู่วงการเมืองระดับประเทศ ได้เป็น ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัยแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 และหลังจากนั้นสามารถชนะเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. อย่างต่อเนื่องถึง 10 สมัย[12] และดำรงตำแหน่งสำคัญระดับรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
บทบาทหลังเลือกตั้ง 2548
หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรคครั้งใหญ่ สุเทพได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค และพอดีกับมีบทบาทอย่างมากในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องพรรคไทยรักไทย[13] และต่อมาพรรคไทยรักไทยถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรค
ในการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งสุเทพเป็นผู้ที่มีบทบาทในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น จนได้รับการขนานนามว่า "ผู้จัดการรัฐบาล"[14] และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สุเทพ ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยการถือครองหุ้นของเขาผิดรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม[15]
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 สุเทพ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี[16] เพื่อกลับไปลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกครั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง[17] ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นที่มาของการถูกมองว่าสุเทพ ต้องการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมตัวเป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง ในกรณีที่ถูกยุบพรรค[18] ภายหลังได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงได้กลับเข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง[19]
เลขาธิการ กปปส.
หลังรัฐประหาร สุเทพเปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตร นับแต่การชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพและมวลชนผู้สนับสนุน กปปส. ของท่านเหนื่อยมากแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่ต้องรับต่อ" สุเทพว่า กองทัพตระหนักดีถึงวัตถุประสงค์ของ กปปส. ระหว่างที่กลุ่มกดดันข้าราชการและทหารให้เข้าร่วมขบวนการ กองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร[20]
หมายจับในข้อหากบฎ
ศาลอาญาพิพากษาจำคุกแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปีเศษ โดยมี 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพิพากษาจำคุกด้วย และต้องหลุดจากตำแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ[21]
บทบาทหลังรัฐประหารปี 2557
หลังรัฐประหารปี 2557 เขาก่อตั้ง สำนักกฎหมาย พัชรวิชญ์ แอดโวเคทส์ เขายังก่อตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558[22]
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีการเปิดเผยว่าสุเทพได้ตัดสินใจบวชแบบสายฟ้าแลบแล้ว ที่วัดท่าไทร และไปจำวัดที่วัดสวนโมกข์ (สวนโมกขพลาราม) จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับฉายาว่า "ประภากะโร" แปลว่าผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง[23]
วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 สุเทพลาสิกขา และวันเดียวกัน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายสำนักงาน บช.ภ.8 จากอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจังหวัดภูเก็ต ชี้ตำรวจชั้นผู้น้อยเดือดร้อน[24]
หลังจากลาผนวช เขากลับมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และชักชวนประชาชนให้สนับสนุน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยการจัดรายการผ่านเว็บไซด์เฟซบุ๊กเพจส่วนตัว และในปีพ.ศ. 2560 เขาประกาศสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2
ตำแหน่งทางการเมือง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 10 สมัย (พ.ศ. 2522, 2526, 2529, 2531, 2535/1, 2535/2, 2538, 2539, 2550, 2554)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ 2 สมัย (พ.ศ. 2544 และ 2548)
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย) พ.ศ. 2524
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย) พ.ศ. 2524–2526
- เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐมนตรีบัญญัติ บรรทัดฐาน) พ.ศ. 2526–2529
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2529–2531
- ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตร พ.ศ. 2531
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2535–2537
- ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม พ.ศ. 2539
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2540–2543
- กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2546–2548
- เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2548–2554
- ประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ พ.ศ. 2553–2554
- ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2551–2554
- ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พ.ศ. 2553
- ประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ พ.ศ. 2553–2554
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเงา พ.ศ. 2551[25] และ พ.ศ. 2554
- รองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2551–2554
- พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
- พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน ผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย
คดีความ
กรณี ส.ป.ก.4-01
ในส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 สุเทพมอบเอกสารสิทธิจำนวน 592 แปลงในเขาสามเหลี่ยม เขากมลาและเขานาคเกิดในจังหวัดภูเก็ตแก่เกษตรกร 489 คน ต่อมาพบว่ามีสมาชิกครอบครัวมั่งมี 11 ครอบครัวเป็นผู้รับเอกสารสิทธิด้วย สุเทพปราศรัยต่อฝูงชนขนาดใหญ่ในเขตเลือกตั้งสุราษฎร์ธานีของเขาหนึ่งเดือนก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาเดินขบวนมากรุงเทพมหานครหลายแสนคนเพื่อปกป้องชื่อเสียงของเขา[26] กรณีอื้อฉาวนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยแห่งพรรคประชาธิปัตย์ยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคม 2538 เพื่อเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ[27] ในการเลือกตั้งถัดมา พรรคชาติไทยได้เสียงข้างมาก นำให้รัฐบาลอันมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำของชวน หลีกภัยถึงกาลสิ้นสุด
โทรเลขการทูตวิกิลีกส์จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐเปิดเผยว่า สมาชิกพรรคเดียวกับเขาจำนวนมากบ่นถึงพฤติกรรมฉ้อฉลและไร้ศีลธรรมของเขามานานแล้ว[28][29][30]
กรณีก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท เข้าข่ายการฮั้วประมูล เพราะมีการรวบสัญญาการดำเนินการมาเป็นสัญญาเดียว จากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้มีการทำเป็นหลายสัญญา
เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุการอนุมัติโครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ต่อมา สุเทพยกเลิกแนวทางการจัดจ้างเป็นรายภาค ให้จัดจ้างรวมกันทั้งหมดแทน เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เลยทำให้มีบริษัทเดียวที่ชนะการประมูลการก่อสร้างในครั้งนี้ไป
ในขณะนี้ สุเทพได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ศาลาอาญาต่อกรณีนี้ด้วยเห็นว่า ตนได้ดำเนินการไปตามความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว[31]
การถือหุ้น
ในปีพ.ศ. 2552 สุเทพถูกกล่าวหาว่าละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยถือหุ้นในบริษัทสื่อซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่สุเทพสนับสนุน ห้ามสมาชิกรัฐสภามิให้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่าจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิสุเทพ สุเทพจัดการแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้น โดยประกาศตัดสินใจลาออกจากสมาชิกรัฐสภา การลาออกจากสมาชิกรัฐสภาไม่มีผลต่อสถานภาพรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกคณะรัฐมนตรีของเขา
คดีสลายการชุมนุม
หลังศาลอาญาวินิจฉัยหลายครั้งว่า ผู้ประท้วงเสื้อแดงที่เสียชีวิตและบาดเจ็บระหว่างความไม่สงบทางการเมืองในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เป็นผลโดยตรงจากคำสั่งที่มอบหมายทหารโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการและตำรวจตกลงฟ้องเขาข้อหาฆ่าคน[32][33]
ศาลยังวินิจฉัยว่า สุเทพร่วมกับอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบต่อการลอบสังหารผู้สื่อข่าวชาวอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลงกี ซึ่งทำข่าวการประท้วงปี 2553 ด้วย[34]
29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติยกฟ้องนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีนี้ และถึงแม้เขาจะมีคดีอื่น ๆ เขายังไม่เคยถูกจำคุกเลยจากเหตุการณ์ทางการเมือง
ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกฟ้อง นายสุเทพ ในคดีดังกล่าวคดีจึงสิ้นสุดลงว่า นายสุเทพไม่ต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม[35]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[36]
- พ.ศ. 2530 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[37]
- พ.ศ. 2552 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[38]
- พ.ศ. 2513 – เหรียญสนองเสรีชน (ส.ส.ช.)
อ้างอิง
- ↑ Sinlapalawan, Budsarakham (15 March 2009). "Fast-tracked to fame". The Nation (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-02-14.
- ↑ "Suthep To Seek Royal Approval For His 'People Coup'". Khaosod English. 6 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-08. สืบค้นเมื่อ 7 April 2014.
- ↑ "Suthep expresses full support for draft constitution". The nation. The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-25. สืบค้นเมื่อ 2021-02-14.
- ↑ WASAMON, AUDJARINT. "Suthep will focus on nation after he leaves the monkhood". The nation. The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-09. สืบค้นเมื่อ 25 April 2016.
- ↑ Terry Fredrickson (5 March 2014), "Just a country boy", Bangkok Post
- ↑ Nauvarat Suksamran (16 November 2013), "Suthep gambles all", Bangkok Post
- ↑ Hataikarn Treesuwan (24 November 2013), "Living up to his convictions", The Sunday Nation
- ↑ "สาขาผู้นำธุรกิจสังคมและการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-04. สืบค้นเมื่อ 2016-12-28.
- ↑ "From village headman to deputy PM to protest leader: Suthep Thaugsuban", The Malaysian Insider, 29 November 2013, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 December 2013
- ↑ Tan Hui Yee (4 December 2013), "Thai protest leader a godfather-like figure in south", The Straits Times
- ↑ ชีวิตครอบครัวสุเทพ
- ↑ เปิดประวัติ 'สุเทพ' เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ ? voicetv Nov 29, 2013
- ↑ ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง ThaiPBS สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562
- ↑ เกชา ป้อมงาม (2546) “บทบาททางการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ” วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ↑ นายกฯ ชี้สุเทพไม่ต้องลาออกรองนายกฯ เพราะขายหุ้นก่อน[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รัฐมนตรีลาออก
- ↑ สุเทพ คัมแบ็ก สร้างเสถียรภาพรัฐบาล โพสต์ทูเดย์ สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2553
- ↑ รองฯสุเทพ พร้อมลาออกก่อนลงสมัคร ส.ส.[ลิงก์เสีย]
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 132ง วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
- ↑ "Suthep in talks with Prayuth 'since 2010'". Bangkok Post. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ กปปส. : 3 รมต. ในรัฐบาลประยุทธ์ พ้นตำแหน่งทันที หลังศาลสั่งจำคุกคดี กปปส. แต่หลุดข้อหากบฏ
- ↑ สุเทพ: “สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความเป็นไปได้คือ พล.อ.ประยุทธ์”
- ↑ อุปสมบทของสุเทพ แล้วกล่าวว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไปแล้ว
- ↑ สุเทพลาสิกขา เพื่อสู้ต่อไปผลประโยชน์ต่อส่วนรวม
- ↑ "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
- ↑ McCargo, Duncan (February 2004). "Southern Thai Politics: A Preliminary Overview" (PDF). University of Leeds. p. 15. สืบค้นเมื่อ 28 July 2011.
- ↑ "September 13, 1992: Democrats win election". The Nation (Thailand). 10 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-07-29.
- ↑ The Associated Press (27 November 2013). "Thailand's ex-deputy PM Thaugsuban becomes street fighter". CBC News. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ "Thai protest leader Suthep Thaugsuban". France24. 2 December 2013. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ The Associated Press (27 November 2013). "Mastermind of Thai protests ditches politics to lead uprising". CTV News. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ มติชน
- ↑ "Abhisit, Suthep hit with murder charges". Bangkok Post. 29 October 2013. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ "Abhisit, Suthep face more murder charges over 2010 strife". The Nation. 6 May 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ ศาลสรุปช่างภาพอิตาลีตายจากกระสุนฝั่งทหาร ประชาไท 2013-05-29
- ↑ ศาลฎีกายืน ยกฟ้อง คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายเสื้อแดงปี 53
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๑๕, ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ
- สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เฟซบุ๊ก
- เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ThaisWatch.com
ก่อนหน้า | สุเทพ เทือกสุบรรณ | ถัดไป
| ||
---|---|---|---|---|
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล สนั่น ขจรประศาสน์ โอฬาร ไชยประวัติ |
รองนายกรัฐมนตรี (ครม. 59) (20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554) |
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ชุมพล ศิลปอาชา | ||
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ครม. 53) (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543) |
วันมูหะมัดนอร์ มะทา | ||
ประสพ บุษราคัม | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ครม. 44) (11 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531) |
เสนาะ เทียนทอง | ||
อำพล เสนาณรงค์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ครม. 50) (29 กันยายน พ.ศ. 2535 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2537) |
สวัสดิ์ สืบสายพรหม | ||
ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ | เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (5 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) |
เฉลิมชัย ศรีอ่อน |