หมอผีเอ็กซอร์ซิสต์
หมอผีเอ็กซอร์ซิสต์ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | วิลเลียม ฟรีดกิน |
บทภาพยนตร์ | วิลเลียม ปีเตอร์ แบลตตี |
สร้างจาก | หมอผีเอ็กซอร์ซิสต์ โดย วิลเลียม ปีเตอร์ แบลตตี |
อำนวยการสร้าง | วิลเลียม ปีเตอร์ แบลตตี |
นักแสดงนำ |
|
กำกับภาพ | โอเวน รอยซ์แมน |
ตัดต่อ |
|
ดนตรีประกอบ | แจ็ก นิตซ์เช |
บริษัทผู้สร้าง | โฮยาโปรดักชันส์[1] |
ผู้จัดจำหน่าย | วอร์เนอร์บราเธอส์[1] |
วันฉาย |
|
ความยาว |
|
ประเทศ | สหรัฐ |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 441.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
หมอผี เอ็กซอร์ซิสต์ (อังกฤษ: The Exorcist) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติ ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1973 กำกับโดย วิลเลียม เฟรดกิน บทภาพยนตร์และอำนวยการสร้างโดยวิลเลียม ปีเตอร์ แบลตตี นำแสดงโดย เอลเลน เบอร์สติน ลินดา แบลร์ แมกซ์ ฟอน ซีโดว์ กับ เจสัน มิลเลอร์[3][4] ภาพยนตร์นี้ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของตนซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1971 ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ใน ค.ศ. 1949 ที่มีการไล่ผีให้โรแลนด์ โด มีเนื้อหาว่าด้วยเด็กหญิงวัย 12 ปีซึ่งถูกปิศาจสิง และมารดาของเธอพยายามช่วยเหลือเธอโดยเชิญนักบวชสองรูปมาไล่ผีให้ ภาพยนตร์นี้ปรับแปลงมาจากหนังสือดังกล่าวอย่างเที่ยงตรง เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ชุด ดิเอ็กซอร์ซิสต์
การผลิตภาพยนตร์นี้เป็นไปอย่างยากลำบาก เริ่มแรกมีการวางตัวผู้กำกับเลื่องชื่อหลายคนอย่างสแตนลีย์ คิวบริก (Stanley Kubrick) และอาร์เทอร์ เพนน์ (Arthur Penn) แต่ทุกคนบอกปัด เมื่อถ่ายทำไปก็เกิดอุบัติเหตุหลายประการ เช่น บุตรชายทารกของนักแสดงนำคนหนึ่งถูกรถจักรยานยนตร์ชนจนต้องเข้าโรงพยาบาล จึงเกิดร่ำลือกันว่า มีอาถรรพณ์ในกองถ่าย การใช้เอฟเฟกต์พิเศษที่ซับซ้อน และสภาพของสถานที่ถ่ายทำ ก็นำมาซึ่งความท้าทายหลายข้อ[3]
เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ภาพยนตร์เข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1973 ผู้เผยแพร่ คือ วอร์เนอร์บรอส. เบื้องต้นมีโรงภาพยนตร์เพียง 26 แห่งทั่วประเทศยอมนำมาฉาย แต่เมื่อฉายไปก็ได้รับความนิยมในไม่ช้า มีรายได้ทั่วโลกกว่า 441 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอะแคเดมีถึง 10 สาขา ชนะมา 2 สาขา คือ บันทึกเสียงยอดเยี่ยม กับบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ทั้งยังเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลดังกล่าวในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[4][5]
ภาพยนตร์นี้สร้างอิทธิพลอันสำคัญต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม[6][7] งานเขียนหลายชิ้นยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สยองขวัญยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล[5] เช่น ใน ค.ศ. 1999 เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี จัดให้เป็นภาพยนตร์ที่น่ากลัวที่สุดตลอดกาล[8]
ครั้นวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2016 ทเวนตีเซนจูรีฟอกซ์เทเลวิชัน (20th Century Fox Television) แถลงว่า กำลังถ่ายทำละครชุดดัดแปลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อออกฉายทางโทรทัศน์[9] ละครดังกล่าวนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2016
เนื้อเรื่อง
ค.ศ. 1973 แลงแคสเตอร์ เมอร์ริน (Lankester Merrin) นักบวชและนักไล่ผีในนิกายคาทอลิก ไปชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณฮาตรา ประเทศอิรัก ณ ที่นั้น เขาพบเครื่องรางที่มีรูปคล้ายกับรูปปั้นพาซูซู (Pazuzu) ปิศาจดึกดำบรรพ์ที่เขารู้ประวัติดี
ต่อมาที่เมืองจอร์จทาวน์ สหรัฐ เรแกน แมกเนล (Regan MacNeil) เด็กหญิงวัย 12 ปีซึ่งเป็นบุตรของคริส แมกเนล (Chris MacNeil) นักแสดงหญิงเลื่องชื่อ เล่นผีถ้วยแก้วเพื่อติดต่อกับสิ่งมีชีวิตลึกลับชื่อ กัปตันฮาวดี (Captain Howdy) นับจากนั้น เรแกนก็เริ่มมีพฤติกรรมผิดแปลก เช่น ส่งเสียงประหลาด ลักเล็กขโมยน้อย พูดจาหยาบช้า และแสดงออกว่า มีกำลังทางกายภาพที่มากมายมหาศาล วันหนึ่ง คริสจัดงานเลี้ยง เรแกนเดินลงมายังห้องเลี้ยง ชี้หน้าด่านักบินอวกาศซึ่งเป็นเพื่อนของมารดาว่า "แกจะตายอยู่บนโน้น" (You're gonna die up there) แล้วปัสสาวะราดพื้นกลางงาน ทำให้คริสผู้เป็นมารดาเริ่มวิตก จึงติดต่อแพทย์หลายคน เช่น คุณหมอเคล็น (Dr. Klein) และผองเพื่อน แต่ทุกคนลงความเห็นว่า บุตรสาวของเธอไม่มีอาการทางจิต
คืนหนึ่ง เบิร์ก เดนนิงส์ (Burke Dennings) พี่เลี้ยงของเรแกน ถูกเหวี่ยงออกจากหน้าต่างตกลงมาตาย ตำรวจและคณะ นำโดยพันตำรวจโท วิลเลียม คินเดอร์แมน (William Kinderman) พร้อมด้วยหลวงพ่อเดเมียน คาร์ราส (Father Damien Karras) ในฐานะนักจิตวิทยา จึงเข้าสอบปากคำเรแกน เห็นว่า เรแกนน่าจะถูกผีเข้า ควรทำพิธีไล่ผี เมื่อหลวงพ่อคาร์ราสมาตรวจอีกครั้ง พบว่า เรแกนพูดถอยหลัง และได้เห็นรอยถลอกบนผิวหนังของเรแกนเป็นคำว่า "ช่วยด้วย" (Help Me) หลวงพ่อจึงเชื่อมั่นว่า ผีสิงแรแกน และวิญญาณของเธอน่าจะอยู่ในอันตราย จึงเห็นชอบให้ทำพิธีไล่ผี โดยเชิญหลวงพ่อเมอร์รินมาเป็นประธาน ส่วนหลวงพ่อคาร์ราสจะคอยเป็นผู้ช่วย
เมอร์รินกับคาร์ราสพยายามทำพิธี แต่ปิศาจพาซูซูที่สิงสู่อยู่ในเรแกนสร้างความปั่นป่วนให้แก่นักบวชทั้งสอง จนคาร์ราสอ่อนแรงลง เมอร์รินจึงให้คาร์ราสออกไป และดำเนินพิธีโดยลำพัง แต่เมื่อคาร์ราสกลับเข้ามาในปะรำก็พบว่า เมอร์รินหัวใจวาย และไม่สามารถกู้ชีพขึ้นมาได้ ขณะที่ปิศาจพาซูซูก็หัวเราะเริงร่า คาร์ราสจึงท้าทายให้ปิศาจมาสิงตนแทน เพื่อให้ออกจากร่างของเด็กหญิง ครั้นแล้ว หลวงพ่อคาร์ราสก็โจนออกหน้าต่างลงสู่ความตาย ทำให้เด็กหญิงเรแกนหายเป็นปรกติ โดยจำเรื่องที่ตนถูกผีสิงมิได้เลย หลวงพ่อไดเยอร์ (Father Dyer) เพื่อนเก่าของคาร์ราส จึงทำพิธีศพให้คาร์ราส
หลายวันต่อมา เรแกนกับคริสผู้เป็นมารดาย้ายบ้านไปลอสแอนเจลิส ส่วนพันตำรวจโท คินเดอร์แมน ที่เข้าสืบสวนการตายของหลวงพ่อคาร์ราส ก็ได้รู้จักกับหลวงพ่อไดเยอร์ จนสนิทสนมกันในภายหลัง
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 "The Exorcist (1973)". AFI Catalog of Feature Films. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 17, 2019. สืบค้นเมื่อ October 27, 2019.
- ↑ 2.0 2.1 "The Exorcist". The Numbers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 9, 2014. สืบค้นเมื่อ December 28, 2011.
- ↑ 3.0 3.1 Holtzclaw, Mike (October 24, 2014). "The sound and fury of 'The Exorcist'". Daily Press. สืบค้นเมื่อ August 8, 2015.
- ↑ 4.0 4.1 Susman, Gary (December 26, 2013). "'The Exorcist': 25 Things You Didn't Know About the Terrifying Horror Classic". Moviefone.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-27. สืบค้นเมื่อ August 8, 2015.
- ↑ 5.0 5.1 "The Cold Hard Facts Behind the Story that Inspired "The Exorcist"". Strange Magazine. สืบค้นเมื่อ August 10, 2015.
- ↑ Layton, Julia (September 8, 2005). "Science.howstuffworks.com". Science.howstuffworks.com. สืบค้นเมื่อ August 2, 2012.
- ↑ "Allmovie.com". Allmovie.com. September 9, 2005. สืบค้นเมื่อ August 2, 2012.
- ↑ Ascher, Rebecca (July 23, 1999). "Entertainment Weekly, "The 25 Scariest Movies of All Time"". Ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-21. สืบค้นเมื่อ August 2, 2012.
- ↑ Prudom, Laura. "'The Exorcist' Pilot Ordered at Fox with Modern Twist". Variety.com. สืบค้นเมื่อ February 2, 2016.