อวน
อวน (อังกฤษ: fishing net) คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถักเป็นผืนตาข่าย เพื่อใช้ขึงหรือกางกั้นเป็นวงล้อม ใช้ลาก ใช้ครอบ หรือใช้ช้อนเสย มีทั้งประเภทเคลื่อนที่และประจำที่ เนื้ออวนประกอบจากการถักตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้ายหรือเชือกที่ค่อนข้างบางละเอียดประกอบกับทุ่นและหรือตุ้มถ่วง ในยุคแรกถักจากเส้นใยพืชจำพวกหญ้า กก ปอ ป่าน และเส้นใยวัสดุพืชอื่น ๆ ต่อมาใช้เส้นใยฝ้ายหรือแม้แต่เส้นใยขนสัตว์ ปัจจุบันอวนแทบทั้งหมดทำจากเส้นใยพอลิเอไมด์สังเคราะห์เช่น ไนลอน ซึ่งสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเศษอวนที่ไม่ใช้แล้ว
ประวัติ
มีหลักฐานการใช้อวนจับปลาตั้งแต่สังคมยุคหิน หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดหลายชิ้นได้แก่ อวนอันเตรอา (net of Antrea) ซึ่งพบพร้อมกับอุปกรณ์จับปลาอื่น ๆ ในปีพ. ศ. 2456 ที่คอคอดกาเรเลียน (Karelian isthmus) ในเมืองอันเตรอา (Antrea) ประเทศฟินแลนด์เดิม (ปัจจุบันคือ Kamennogorsk ของรัสเซีย) ตาข่ายทำจากเส้นใยของไม้วิลโลว์มีอายุย้อนไปถึง 8,300 ปีก่อนคริสตกาล[1] อวนที่มีอายุย้อนไปถึงปลายยุคหินกลาง (29,000 ปีก่อน) ในเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จับปลาที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบจนถึงปัจจุบัน เศษอวนถูกพบร่วมกับตุ้มถ่วงในพื้นที่ที่เคยเป็นก้นทะเลในอดีต[2][3] รูปแกะสลักหินที่เก่าแก่ที่สุดบางส่วนที่ Alta (4200–500 ปีก่อนคริสตกาล) มีภาพที่แสดงลวดลายที่สลับซับซ้อนของเส้นแนวนอนและแนวตั้งซึ่งบางครั้งอธิบายว่าเป็นอวนจับปลา ชาวอินเดียนพื้นเมืองอเมริกันแถบแม่น้ำโคลัมเบียถักอวนจากเส้นใยรากไม้สปรูซหรือหญ้าป่า ใช้ก้อนหินถ่วงน้ำหนัก ใช้ไม้เนื้อเบาอย่างสนซีดาร์ในการลอย และทำให้ปลากลัว ว่ายรวมอยู่ด้วยกันกลางวงล้อมของอวน[4] ชาวเมารียุคก่อนชาวยุโรปเข้าครอบครองรู้จักการติดตั้งอวนล้อมจับกับเรือแคนูขนาดใหญ่ ซึ่งอวนล้อมอาจมีความยาวมากกว่าหนึ่งพันเมตร ตาข่ายทอจากใยป่าน มีหินถ่วงน้ำหนัก ใช้ไม้เนื้ออ่อนหรือน้ำเต้าเป็นทุ่นลอย และอาจต้องใช้คนหลายร้อยคนในการลาก[5]
อวนจับปลาที่ได้รับการบันทึกในสมัยโบราณ ปรากฏในภาพวาดต่าง ๆ เช่น ในสุสานอียิปต์อายุตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ในวรรณคดีกรีกโบราณ โอวิดกล่าวถึงอวนจับปลาหลายครั้งรวมถึงการใช้ทุ่นไม้ก๊อกและตุ้มน้ำหนักตะกั่ว[6][7][8] ภาพหลักฐานการตกปลาของชาวโรมันมาจากโมเสคประดับแสดงถึงอวน[9] เป็นภาพล้อเลียนของนักสู้ประเภทหนึ่งที่เรียก เรเทียรีอุส ที่ใช้ตรีศูลและแหเป็นอาวุธ ต่อสู้กับนักรบหุ้มเกราะ (secutor) ที่ถือดาบสั้นและสวมหมวกเกราะปิดหน้าที่มีรูปปลา[10] ในระหว่างปี ค.ศ. 177 ถึง 180 นักเขียนชาวกรีกโอปเปียน (Oppian) ได้เขียน Halieutica ซึ่งเป็นบทกวีเกี่ยวกับการสอนการตกปลา เขาอธิบายวิธีการจับปลาแบบต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แหที่หว่านจากบนเรือ อวนช้อนแบบห่วงเปิด และกับดักต่าง ๆ "ซึ่งใช้ได้ผลในขณะที่นายของพวกมันหลับ" และคำอธิบายการจับปลาด้วยอวนที่ไม่เคลื่อนที่ (motionless net) ดังนี้
"ชาวประมงตั้งอวนที่ทำด้วยป่านเบาลอยน้ำและล้อมเป็นวงรอบ ขณะเดียวกันใช้ไม้แจวฟาดพื้นผิวน้ำทะเลอย่างแรงและถึ่ กวาดไม้ยาวไปมาด้วยให้เกิดเสียงดังติด ๆ กัน ทำให้ปลากลัวและรีบว่ายเข้าไปในอวนซึ่งไม่เคลื่อนที่ด้วยคิดว่าเป็นที่หลบภัย ปลาโง่ซึ่งกลัวเสียงแล้วเข้าไปในประตูแห่งความหายนะ จากนั้นคนหาปลารีบลากเชือกปลายอวนทั้งสองข้างรวมทั้งอวนขึ้นฝั่ง"
ในตำนานนอร์ส นางยักษ์แห่งท้องทะเล Rán ใช้อวนจับปลาเพื่อดักจับลูกเรือที่หลงทาง มีการอ้างอิงถึงอวนจับปลายังสามารถพบได้ในพันธสัญญาใหม่[11] พระเยซูคริสต์เองได้ถูกระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้อวน[12][13][14] เปลือกชั้นในที่แข็งเหนียวของต้นพอว์พอว์ (พืชวงศ์น้อยหน่า) ถูกใช้โดยชนพื้นเมืองอเมริกันและผู้ตั้งถิ่นฐานในมิดเวสต์เพื่อทำเชือกและอวนจับปลา[15][16] แหล่งโบราณคดีที่ León Viejo (1524–1610) พบเครื่องมือช่วยการทำประมงอวน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นตุ้มน้ำหนักสำหรับอวนจับปลา[ต้องการอ้างอิง]
รูปแบบของอวนจับสัตว์น้ำในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาขึ้นมากนักตั้งแต่ยุคหินใหม่ จำนวนมากยังมีรูปแบบเดิมจากสมัยโบราณ นอกเสียจากการพัฒนาอย่างมากในเรื่องของเส้นใยที่ทำเชือก ทั้งในการจับปลาด้วยเบ็ดและด้วยอวน ปรากฏในเศษโบราณวัตถุต่าง ๆ นับแต่เชือกสองทบที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มิลลิเมตร ที่ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ลาสโกซ์ มีอายุประมาณ 15,000 ปีก่อนคริสตกาล เชือกของอียิปต์มีอายุย้อนไปถึง 4,000 ถึง 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำมาจากเส้นใยกกน้ำ เชือกอื่น ๆ ในสมัยโบราณทำมาจากเส้นใยของอินทผาลัม ป่าน หญ้า ต้นกก หนังสัตว์ หรือขนของสัตว์ เชือกที่ทำจากเส้นใยป่านถูกนำมาใช้ในประเทศจีนตั้งแต่ประมาณ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล[ต้องการอ้างอิง]
ประเภท
การจำแนกประเภทเครื่องมือประมงอย่างหยาบตามลักษณะของวัสดุที่นำมาประกอบ ได้ 3 ประเภท คือ เครื่องมืออวน (net fishing gears), เบ็ด (hook fishing gears) และอื่น ๆ (miscellaneous gears) เช่น คราด และลอบ[17]
อวนแบ่งประเภทจากลักษณะวิธึการจับสัตว์น้ำ ได้แก่[18][17]
- การช้อนเสย (scooping) −อวนรุน (ซึ่งรวมถึง ระวะ และชิปไสกุ้ง)
- การกั้นแล้วลาก (seine net) −อวนทับตลิ่ง หรือเรียก อวนเข็น
- การลากในทางแนวราบ (trawling) −อวนลากทุกชนิด
- การล้อม (encircling) −อวนตังเก อวนดำ
- การยก (lifting) −อวนยก (ซึ่งรวมถึง ยอยก และจั่น) อวนโบอุเก
- การชนติด (gill net) −อวนลอย อวนล้อมติด อวนติด
- การครอบ (falling net) −แหยักษ์ อวนครอบหมึก
ประเภทของอวน[19] | ภาพ | ชนิดของสัตว์น้ำ | การใช้งาน | ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม | ||
---|---|---|---|---|---|---|
ประเภทเคลื่อนที่
(movable fishing nets) |
อวนลาก
(trawl net หรือ bottom trawl) |
อวนลากคู่
(pair trawl) |
ปลาหน้าดิน | อวนลากเป็นถุงอวนขนาดใหญ่มากรูปกรวย อวนลากคู่ใช้เรือสองลำช่วยถ่างปากอวน (เรียก "เรือลากอวน" – trawlers หรือ draggers) ทำหน้าที่ลากอวนและถ่างปากอวนโดยการรักษาระยะห่างและความเร็วเรือขณะลากให้เท่ากัน[17] | การลากอวนหน้าดิน ส่งผลให้เกิดการดักจับจำนวนมากและอาจทำให้พื้นทะเลเสียหายได้ การลากผ่านพื้นทะเลเพียงครั้งเดียวสามารถกำจัดชีวิตใต้ทะเลได้ร้อยละ 5 ถึง 25[20] รายงานของโครงการสหัสวรรษแห่งสหประชาชาติ (UN Millennium Project) ปี 2548 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ แนะนำให้กำจัดการใช้อวนลากในทะเลหลวงภายในปี 2549 เพื่อปกป้องภูเขาใต้ทะเลและแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของสัตว์น้ำที่อ่อนไหวในระบบนิเวศ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีสหรัฐ บุช ได้เข้าร่วมกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ ในการเรียกร้องให้ระงับการลากอวนในทะเลลึก
| |
อวนลากแผ่นตะเฆ่
(otter board trawl) |
ปลาหน้าดิน เช่นปลาลิ้นหมา ปลาค็อด และอาจใช้กับปลากลางน้ำและหมึกกล้วย | อวนลากที่ใช้เรือลำเดียว โดยใช้แผ่นตะเฆ่ (otter board) ช่วยถ่างปากอวน[17] | ||||
อวนลากคานถ่าง
(beam trawl) |
กุ้ง แมงกะพรุน | อวนลากที่ใช้คานช่วยถ่างปากอวน มี 2 ชนิด คือ อวนลากคานถ่างแบบลากกุ้ง และอวนลากคานถ่างแบบลากแมงกะพรุน[17] | ||||
อวนลากกลางน้ำ
(midwater trawl) |
ปลาทะเลกลางน้ำ เช่น ปลากะตัก กุ้ง ปลาทูน่า และปลาแมคเคอเรล | เช่นเดียวกับอวนลากอื่น ๆ แต่ไม่ลากไปบนหน้าดิน มีทั้งแบบใช้แผ่นตะเฆ่ (ในภาพ) และแบบลากคู่โดยใช้เรือสองลำ | การลากอวนลากกลางน้ำนั้นค่อนข้างนุ่มนวลและสร้างความเสียหายได้ที่ก้นทะเลน้อยกว่าการลากอวนลากหน้าดิน | |||
อวนล้อมจับ
(surrounding net) |
อวนล้อมจับไม่มีสายมาน
(lampara net) |
ปลากะตัก ปลาทู ปลาทูน่า | เป็นผืนอวนคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ใช้ล้อมรอบเป็นวงเพื่อจับสัตว์น้ำ โดยสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของสัตว์น้ำในแนวราบ ส่วนในแนวดิ่งใช้ความลึกของอวนสกัดกั้นตัดหน้าฝูงสัตว์น้ำ แล้วปิดด้านล่างของผืนอวนทำการกู้อวนแล้วตักสัตว์น้ำขึ้นเรือ[17][22]อวนล้อมอาจใช้ซั้งล่อฝูงปลา เรียก อวนล้อมซั้ง[17] | |||
อวนล้อมจับมีสายมาน
(purse seine หรือ ring net) |
ปลาฝูง (schooling fish) | อวนล้อมจับมีสายมานที่ชาวประมงใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นวิวัฒนาการของอวนล้อมจับปลา ใช้ล้อมรอบปลาฝูงเป็นวง จากนั้นปิดด้านล่างของอวนโดยดึงเส้นที่จัดเรียงเหมือนอานที่ใช้ปิดก้นถุง ทำให้จับปลาได้อย่างสมบูรณ์ | มีโอกาสได้สัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวนด้วยมาก (bycatch) | |||
อวนกางกั้นแล้วลาก
(seine net) |
ผ้าบางเจียดเคย
(seine net) |
เคย ปลาในลำธารขนาดเล็ก | เนื้ออวนเป็น (ผ้า) ไนลอน ไม่มีปม คร่าวบนอาจมีหรือไม่มีทุ่น มีน้ำหนักถ่วงคร่าวล่าง ปลายอวนทั้งสองข้างอาจมีหรือไม่มีไม้คานค้ำยัน ใช้ทำการประมงเวลากลางวัน หรือในการช่วยประกอบการจับหรือคัดแยกปลาภายในอวนล้อมหรืออวนทับตลิ่ง | |||
อวนทับตลิ่ง
(beach seine) |
เคย ปลากะตัก ปลากระบอก หรือปลาขนาดเล็กริมฝั่ง เช่น ปลาเห็ดโคน กุ้ง | เครื่องมือประมงที่ทำการลากหรือดึงไกลไม่เกิน 5 เท่าของความยาวของอวน โดยใช้วิธีล้อมและลากผสมกัน ในประเทศไทยอวนทับตลิ่งเป็นแบบลากเข้าหาชายหาดด้วยแรงคนจับสัตว์น้ำที่เข้ามาในเขตน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณชายหาด ที่ลึก 1-3 เมตร[17] เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ใช้ทำการประมงเฉพาะช่วงที่มีสัตว์น้ำเป้าหมายชุกชุมเท่านั้น | ||||
อวนล้อมแล้วลากเข้าหาเรือ
(boat seine) |
ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นอวนล้อมจับมีสายมาน (purse seine หรือ ring net) | |||||
อวนครอบ
(falling net) |
แห
(cast net) |
ปลาฝูง และปลาขนาดเล็ก | แห เป็นอวนรูปกลมขนาดเล็กที่ถ่วงน้ำหนักที่ขอบ ซึ่งชาวประมงใช้หว่าน มีขนาดแตกต่างกันโดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณสี่เมตร ตาข่ายถูกโยนเหวี่ยงด้วยมือในลักษณะที่กระจายบานออกไปบนผิวน้ำ (เรียก การหว่าน) และจมลงครอบ ปลาถูกจับได้ในขณะที่ดึงอวน (แห) กลับมา[23] | สามารถเลือกจับได้ และปล่อยปลาที่ไม่ต้องการได้โดยไม่เป็นอันตราย | ||
แหยักษ์ | หมึกกล้วย หมึกหอม ปลาหลังเขียว ปลาอกแรกล้วย ปลาลัง ปลาสาก ปลาสีกุนข้างเหลือง ปลาแป้น ปลาแมว | เป็นแหขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถเหวี่ยง (หว่าน) ด้วยแรงคน แต่ใช้ขึงกับคันไม้และกราบเรือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหนือผิวน้ำ แล้วปล่อยลงมาครอบสัตว์น้ำ พบเฉพาะในเรือจับหมึกที่ใช้แสงไฟล่อ หรือที่เรียกกันว่า เรือไดหมึก[17] | ||||
อวนครอบหมึก และ อวนครอบปลากะตัก
(squid falling net และ anchovy falling net) |
หมึก ปลากะตัก | มีลักษณะคล้ายแห หรือกล่องอวน จะปล่อยอวนลงมาจากด้านบนเพื่อล้อมครอบสัตว์น้ำที่อยู่ด้านล่าง ต้องใช้น้ำหนักถ่วงขอบล่างหรือตีนอวนค่อนข้างมาก เพื่อให้ผืนอวนจมตัว สกัดกั้นสัตว์น้ำได้ทัน จากนั้นดึงรูดปิดด้านล่างของผืนอวน
บางครั้งเรียก แหยักษ์ หรือเรียกว่าเรือไดหมึก บางครั้งเรียก อวนมุ้ง[17] |
||||
อวนรุน
(push net) |
ระวะรุน หรือ อวนรุนใช้แรงคน | กุ้ง | อวนรุนคือ อวนจับปลารูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กที่มีโครงแข็งซึ่งถูกดันไปข้างหน้าที่ก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก และใช้ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในการจับกุ้งและปลาขนาดเล็กที่อาศัยที่หน้าดิน[24][25] อวนรุนที่ติดด้านหน้าของเรือ ถูกจัดเป็นอวนที่สร้างผลกระทบต่อหน้าดินชายฝั่งทะเลอย่างร้ายแรง[26][27][21] | |||
อวนรุนใช้เรือกล หรือเครื่องยนต์ | กุ้ง ปลาหน้าดิน | ในประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุน และกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง[21] | ||||
อวนช้อน อวนยก
(lift net) |
อวนช้อนแบบเคลื่อนย้ายได้
(portable lift net) |
ยอยกปลา (fish lift net) เป็นอวนช้อนขนาดเล็ก แบบเคลื่อนย้ายได้ (portable lift net) มีช่องเปิดด้านบน เนื้ออวน (ตาข่าย) จะจมลงสู่ระดับความลึกที่ต้องการก่อนแล้วจึงยกหรือลากขึ้นจากน้ำ สามารถยกได้ด้วยมือ หรือแบบกลไก และสามารถใช้งานบนเรือได้ (อวนยกขนาดเล็กที่บังคับด้วยเรือ)[28] | ||||
อวนช้อนใช้กับเรือ
(boat operated lift net) |
ปลากะตัก หมึก ปู | เป็นอวนที่ยึดเข้ากับเรือ 4 จุดแล้วยกขึ้นทั้งอวน (คล้ายการยกยอ) หรือช้อนขึ้นจากการดึงเชือกอวน 2 จาก 4 เส้น เช่น อวนช้อนปลากะตัก (anchovy lift nets) | ||||
อวนช้อนใช้ชายฝั่ง
(shore operated lift nets) |
ปลากระบอก กุ้งเปลือกขาว | ยอ (เรียก ยอขันช่อ[29]) มีโครงสร้างคงที่ขนาดใหญ่ เนื้ออวนถูกขึงยึดในแนวนอนเป็นผืนสีเหลี่ยมมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ยี่สิบเมตรขึ้นไป และหย่อนลงไปในน้ำเป็นระยะ มีโครงสร้างเชิงกลขนาดใหญ่ช่วยในการยก เช่นคันยอ ก้านยอขนาดใหญ่ หรือกว้าน (เรียก การยกยอ) อาจติดตั้งไฟเพื่อดึงดูดปลาให้มากขึ้น[30][31] ในประเทศอินเดียรู้จักกันในชื่อ อวนจับปลาแบบจีน (Cheena vala)[32] | ||||
บาม | ปลากระบอก หมึก | บามใช้อวนขึงป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกับเสาไม้ทั้ง 4 เสาที่ตั้งอยู่กลางทะเล ใช้จับปลาผิวน้ำเช่น ปลากระบอก และหมึก พบในลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อ่าวคราม จังหวัดชุมพร (เรียก บามหมึก)[33] | ||||
อวนลอย หรือ อวนติดตา
(gill net and entangling net) หรือเรียก อวนติด |
อวนลอยผิวน้ำ
(surface gill net) |
ปลาอินทรี | อวนลอยโดยทั่วไปไม่ได้ทอดสมอ ลอยไปตามกระแสน้ำ ใช้วางขวางหรือปิดล้อมสัตว์น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำว่ายชน แล้วติดหรือพันตาอวน การวางอวนวางได้ทั้งระดับผิวน้ำ หรือระดับลาางของน้ำ อวนลอยนิยมใช้ในน่านน้ำชายฝั่งของหลายประเทศ แม้ห้ามใช้ในทะเลหลวง แต่ยังคงมีการลักลอบใช้เกิดขึ้น[17] | |||
อวนลอยกลางน้ำ
(drift gill net) |
ปลาเฮอริง | |||||
อวนลอยหน้าดิน
(bottom gill net) |
ปูม้า ปลาค็อด | |||||
อวนบ่วง
(tangle net) |
อวนบ่วง (tangle net หรือ tooth nets) เป็นอวนลอยประเภทหนี่ง แต่มีหลักการจับปลาที่ต่างออกไปคือ เนื้ออวนตรงกลางละเอียดมากทำให้ปลาที่มาชนต้องพยายามว่ายออกด้านข้าง และติดในบ่วงด้านบนหรือล่างแทน[34] เป็นอวนที่ออกแบบเพื่อจับปลาที่มีขนาดที่ต้องการเท่านั้น | |||||
อวนสามชั้น
(trammel net) |
สัตว์น้ำหน้าดินจำพวกปลา และกุ้งกั้งปู | เป็นอวนจับปลาที่มีตาข่ายสามชั้นที่ใช้ดักปลาหรือกุ้งกั้งปูที่หน้าดิน ลักษณะเดียวกับอวนลอยทั่วไป[35][36] ชั้นกลางมีตาอวนขนาดเล็ก อยู่คั่นระหว่างชั้นนอกสองด้านที่มีตาอวนที่ใหญ่กว่ามาก อวนจะถูกคงรูปในแนวตั้งโดยลอยด้วยการขึงอวนกับคร่าวบน (headrope) ร้อยกับลูกลอยอาจมีขนาดเล็กทรงกระบอกหรือรูปไข่ของแข็งและพลาสติก และถ่วงน้ำหนักด้านล่างกระจายไปตามคร่าวล่าง (ground rope)[37] | สูญหายไปในทะเลได้ง่าย และจับแบบไม่เลือกโดยสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวน โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กกว่าที่ต้องการ |
เครื่องมือประมงประเภทประจำที่
เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถักเป็นตาข่าย (มีเนื้ออวน) ประเภทประจำที่ (stationary fishing net) คือ เครื่องมือประมงประเภทที่ใช้วิธีดักจับ (fish trap) โดยลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือและส่วนประกอบอยู่กับที่ในเวลาทำการจับสัตว์น้ำ โดยมากใช้ทำการจับสัตว์น้ำตรงจุดที่ตั้งเครื่องมือนั้น ๆ ทุกครั้ง (ซ้ำที่เดิม) โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายส่วนประกอบของเครื่องมือไปบริเวณอื่น ได้แก่ โป๊ะ รั้วไซมาน โพงพาง[17]
- โป๊ะ (pound net, set net หรือ fixed gillnet) ซึ่งใช้เนื้ออวนในการขึงกั้นให้สัตว์น้ำที่ว่ายเข้าไปติด
- โพงพาง (set bag net หรือ stow net) เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะคล้ายถุงอวนลาก (อาจเรียก ถุงโพงพาง) ปากโพงพางกางยึดอยู่กับที่ทำการประมงโดยวิธีดักจับจากกระแสน้ำที่พัดเข้าปากโพงพางไปติดที่ถุงอวน[29]
- ลอบ (pots และ fyke net)
-
โป๊ะน้าตื้น (fixed gillnet)
-
โป๊ะที่โตนเลสาบ
-
ปลาที่ติดตาอวนของโป๊ะ
โครงสร้างและส่วนประกอบ
เนื้ออวน
เนื้ออวน คือ ตาอวน (mesh) จำนวนมากที่ถักรวมต่อเนื่องกันเป็นเนื้ออวนหรือผืนอวน (net) โดยปกติตาอวน 1 ตาจะประกอบด้วยเงื่อนหรือปม (knot) จำนวน 4 ปม และเส้นด้ายหรือขา (leg or bar) 4 ขา
ปม ที่ใช้ในการผูกอวนสาหรับการประมงนั้น มีอยู่หลายชนิดในอดีตนิยมใช้เงื่อนแน่น (flat knot) เนื่องจากวัสดุเป็นพวกเส้นใยจากธรรมชาติ มีความลื่นน้อย ในปัจจุบันเงื่อนที่นิยมใช้เงื่อนหัก (trawler knot) และเงื่อนหักคู่ (double trawler knot) ซึ่งมีข้อดีคือเงื่อนไม่หลุดง่าย พบได้โดยทั่ว ๆ ไปในอวนโพลีอะไมด์สังเคราะห์เช่น อวนไนลอน เนื้ออวนบางชนิดผลิตขึ้นมาโดยไม่มีการผูกตาเงื่อน เช่น เนื้ออวนแบบไร้เงื่อน (knotless net) และเนื้ออวนแบบมินเนา (minnow net)
ถุงอวน (bay net หรือ bunt) ใช้เรียกอวนที่มีลักษณะแบบถุงมีปากเปิดทางเดียวให้สัตว์น้ำเข้า[29] โดยทั่วไปใช้กับอวนลาก อวนรุน โดยทั่วไปมี 2 ส่วนคือ อวนก้นถุง และเนื้ออวนที่เป็นตัวอวน ที่มีการเย็บต่อกันตามแนวยาว อวนก้นถุงมี 2 ชั้น ชั้นนอกสุดมีตาอวนห่างเพื่อใช้ป้องกันเนื้ออวนก้นถุงที่เก็บปลาครูดพื้นทะเลขาด[19]
ทุ่นและลูกกระสง
ทุ่นและลูกกระสง (buoy หรือ float) ทำหน้าที่ในการพยุงให้อวนคงรูปอยู่ได้ หรือพยุงให้อยู่ในระดับความลึกที่ต้องการ เพื่อให้การจับสัตว์น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุที่นำมาใช้สร้างทุ่นและลูกกระสงนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่เดิมนิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีเนื้อเบาลอยตัวได้ดีในน้ำ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ทองหลาง ไม้นุ่น และไม้แคป่า ต่อมามีการประดิษฐ์ลูกกระสงจากวัสดุอย่างอื่น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และแก้ว ปัจจุบันนิยมใช้ลูกกระสงที่ประดิษฐ์จากวัสดุสังเคราะห์ เช่น พลาสติก โฟมยาง
ทุ่นและลูกกระสง ร้อยเข้ากับ คร่าวบน หรือ เชือกคร่าวบน (headrope –เชื่อกแนวบนของอวน)[19]
ลูกถ่วง
ลูกถ่วง น้ำหนักถ่วง หรือ ตุ้มถ่วง (sinker หรือ weight) เป็นส่วนประกอบของอวน ใช้ผูกด้านตรงข้ามกับลูกกระสงทำให้อวนแผ่ออกในแนวตั้ง วัสดุที่นำมาใช้ต้องเป็นวัสดุที่มีค่าความถ่วงจำเพาะมากเพื่อเพิ่มแรงจมตัว (sinking force) วัสดุที่ใช้ทำลูกถ่วงมีหลายชนิด เช่น เหล็ก และก้อนหิน แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ ตะกั่ว ซึ่งค่าความถ่วงจำเพาะมาก แข็งแรงและราคาไม่แพง
ตุ้มถ่วง ร้อยเข้ากับ คร่าวล่าง หรือ เชือกคร่าวล่าง (ground rope –เชื่อกแนวล่างของอวน)[19]
อุปกรณ์ล่อฝูงสัตว์น้ำ
อุปกรณ์ล่อฝูงปลาที่ช่วยในการทำประมงด้วยอวน อาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบคือ จับปลาที่ว่ายน้ำอิสระจากอุปกรณ์ล่อฝูงปลา วิธีที่สองการจับปลาหรือหมึกที่ตอมแสงไฟล่อ และวิธีที่สามการจับปลาที่ตอมซั้ง
การถักอวน
การผูกปมอวน เรียก "สานอวน" หรือ "ถักตาอวน" ด้วยเข็มที่เรียก "ชุน" หรือ "กีม"
อวนจับปลาอุตสาหกรรมถูกตัดจากตาข่ายที่ผลิตในอุตสาหกรรม เย็บชุนเข้าด้วยกันด้วยมือเพื่อให้พอดีและร้อยเชือกลาก[38] รวมทั้งการซ่อมอวนเมื่อเกิดความเสียหาย
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การทำประมงมักใช้อวนขนาดใหญ่ที่จับแบบไม่เลือก ทำให้จับได้สัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวนด้วย (bycatch) ได้แก่ โลมา หรือฉลาม โดยเฉพาะจำนวนมากเป็นเต่าทะเล
การจับสัตว์น้ำด้วยเบ็ดราว อวนลากและอวนติด เป็นการจับสัตว์น้ำ 3 ประเภทที่เกิดอุบัติเหตุกับเต่าทะเลมากที่สุด การเสียชีวิตมักเกิดขึ้นเนื่องจากการติดกับดักและไม่สามารถขึ้นมาบนอากาศได้ (จมน้ำ)
อวนจับสัตว์น้ำในปัจจุบันเกือบทั้งหมดทำจากพลาสติก และมีจำนวนมากที่ชาวประมงทิ้งทั้งที่ตั้งใจทิ้งลงทะเล และไม่ตั้งใจ (เช่น เกี่ยวขาดด้วยหินหรือซากปะการัง) หรือสูญหายไปในทะเล เศษอวนที่ไม่ใช้แล้ว (ghost net หรือ ghost fishing net) เหล่านี้พันเข้ากับ วาฬ โลมา เต่าทะเล ฉลาม พะยูน จระเข้ นกทะเล ปู และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความอดอยาก ผิวฉีกขาดและติดเชื้อ ยากต่อการกลับขึ้นไปที่พื้นน้ำเพื่อหายใจ และขัดขวางการหายใจโดยตรง[39] และยังเป็นอันตรายกับเรือเดินทะเลจากความเสี่ยงเข้าไปพันกับใบพัดหรือเครื่องยนต์เรือ[40] ขยะพลาสติกลอยตัวอยู่ในน้ำรวมทั้งเศษอวนจะค่อย ๆ สลายตัวเปลี่ยนเป็นไมโครพลาสติก (พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จนถึงขนาดมองไม่เห็น) ซึ่งมีผลกระทบกับปลาทะเล และมนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้[41]
ประมาณการว่า ทุก ๆ ปี มีขยะทะเลที่เป็นเศษอวนใช้แล้ว ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 640,000 ตัน[41] หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมด และในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว[40]
ในประเทศไทย
ประมาณการจากการคำนวณจำนวนเรือประมง ทั้งเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ กับขยะจำพวกเศษอวน อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยอาจผลิตขยะจำพวกเศษอวนกว่า 700,000 กิโลกรัมต่อเดือน[41] โครงการ Net Free Seas เป็นหนี่งในโครงการแรก ๆ ในประเทศไทยที่ลดปริมาณเศษอวนจากทะเล ด้วยการจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ (Marine Dive Underwater Clean-Up) และการนำเศษอวนไปรีไซเคิล กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 47 ชุมชน ทั้งจากจังหวัดระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และพังงา[41]
ในประเด็นของการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงที่สร้างผลกระทบรุนแรงจากการจับแบบไม่เลือก การจับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงเกินขนาด และการทำลายหน้าดินชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ จึงได้ออกกฎหมายควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน และกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ. 2490 และปรับปรุงเรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมถึงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558[21][42]
ในปี พ.ศ. 2564 มีเศษอวนขนาดยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ติดแนวปะการังบริเวณเกาะโลซิน สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังประมาณ 550 ตารางเมตร ซึ่งเก็บกู้ได้เป็นน้ำหนัก 800 กิโลกรัม[43]
ความสัมพันธ์กับนักประดาน้ำ
บางครั้งนักประดาน้ำที่ทำงานประจำใต้น้ำมักพกมีดตัดอวน เนื่องจากอาจติดอยู่ในอวนจับปลา จากเส้นใยเดี่ยวซึ่งแทบจะมองไม่เห็นใต้น้ำ มีดตัดอวนคือ เครื่องมือพกพาขนาดเล็กที่นักดำน้ำถือไว้เพื่อช่วยตัวเองหากติดอยู่กับอวนจับปลาหรือสายเบ็ด มีใบมีดคมขนาดเล็ก เช่น ใบมีดมีดผ่าตัดแบบถอดเปลี่ยนได้ภายในรอยบากขนาดเล็ก มีรูเล็กๆ ที่ปลายอีกด้านสำหรับร้อยเชือกคล้องตัวตัดกับนักประดาน้ำ
ในงานศิลปะ
เจเน็ท เอเคลแมน (Janet Echelman) ได้นาเอากระบวนการสานและโครงสร้างของอวน มาใช้ในการสร้างผลงานศิลปะโดยต่อยอดให้วัสดุสามารถเรืองแสงในที่มืด ผลงานศิลปะของเธอได้ ช่วยให้เกิดความน่าสนใจ ความงามในพื้นที่ต่าง ๆ [44][45]
อ้างอิง
- ↑ "The palaeoenvironment of the Antrea Net Find". University of Helsinki Research Portal. Finnish Antiquarian Society. 2008.
- ↑ Kriiska, Aivar (1996) "Stone age settlements in the lower reaches of the Narva River, north-eastern Estonia" Coastal Estonia: Recent Advances in Environmental and Cultural History. PACT 51. Rixensart. Pages 359–369.
- ↑ Indreko R (1932) "Kiviaja võrgujäänuste leid Narvas" เก็บถาวร 2016-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Stone Age find of fishing net remnants), in Eesti Rahva Muuseumi Aastaraamat VII, Tartu, pp. 48–67 (ในภาษาเอสโตเนีย).
- ↑ Smith, Courtland L Seine fishing Oregon Encyclopedia. Retrieved 23 March 2012.
- ↑ Meredith, Paul "Te hī ika – Māori fishing" Te Ara - the Encyclopedia of New Zealand. Updated 2 March 2009.
- ↑ Radcliffe W (1926) Fishing from the Earliest Times John Murray, London.
- ↑ Johnson, William M.; Lavigne, David M. (1999). "Fisheries". Monk Seals in Antiquity (PDF). Netherlands Commission for International Nature Protection. pp. 48–54.
- ↑ Gilroy, Clinton G (1845). The history of silk, cotton, linen, wool, and other fibrous substances: including observations on spinning, dyeing and weaving. Harper & Brothers, Harvard University. pp. 455–464. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ธันวาคม 2017.
- ↑ "Image of fishing illustrated in a Roman mosaic". Agropolis Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011.
- ↑ Auguet, Roland [1970] (1994). Cruelty and Civilization: The Roman Games. London: Routledge. ISBN 0-415-10452-1.
- ↑ Luke 5:4-6; John 21:3-7a
- ↑ ลูกา 5:1-11 ครั้งเมื่อประชาชนกำลังเบียดเสียดพระองค์เพื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า พระองค์ทรงยืนอยู่ที่ฝั่งทะเลสาบเยนเนซาเรท และพระองค์ทรงเห็นเรือสองลำจอดอยู่ริมฝั่งทะเลสาบนั้น แต่ชาวประมงขึ้นจากเรือแล้วกำลังซักอวนอยู่ | พระคัมภีร์ไทย ฉบับ 1971 (TH1971).
- ↑ ยอห์น 21:1-14 ต่อมาพระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่พวกสาวกอีกครั้งหนึ่งที่ทะเลทิเบเรียส พระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างนี้ คือ ซีโมนเปโตร โธมัสที่เรียกว่าดิดุโมส นาธานาเอลชาวบ้านคานาแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองของเศเบดี และสาวกของ | ฉบับมาตรฐาน (THSV11).
- ↑ "2. อวน". www.kamsonbkk.com.
- ↑ Werthner, William B. (1935). Some American Trees: An intimate study of native Ohio trees. New York: The Macmillan Company. pp. xviii + 398 pp.
- ↑ Bilton, Kathy. "Pawpaws: A paw for you and a paw for me". สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011.
- ↑ 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 ทิพสุคนธ์ พิมพ์พิมล. เครื่องมือทำการประมง เก็บถาวร 2021-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สืบค้น 31 พฤษภาคม 2564.
- ↑ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก". www.fisheries.go.th.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 มาตรฐานเครื่องมือประมงที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์. กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2564.
- ↑ "Fisheries (continued), Impacts of wild fish harvesting activity". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2006. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 "ประกาศกระทรวงที่ยังบังคับใช้ตามมาตรา ๑๗๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘". กองกฎหมาย กรมประมง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2021.
- ↑ "MONOGRAPH". map.seafdec.org.
- ↑ Jeffery A. Dunbar (5 สิงหาคม 2012). "Casting net". The Ultimate NC Fishing Resource. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012.
- ↑ "Multilingual dictionary of fishing gear" (PDF) (2nd ed.). Commission of the European Communities. 1992. p. [183]205. ISBN 0-85238-192-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 เมษายน 2016.
- ↑ "North VN Coastal Boats: The Wooden Boats of the North Vietnam Coast". www.boatsandrice.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มิถุนายน 2021. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
- ↑ "Wetland Project". www.wetlandthai.org.
- ↑ Thaireform. "ฟื้นทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทย หยุด! ประมงแบบทำลายล้าง". สำนักข่าวอิศรา.
- ↑ FAO, Lift net Fishing Gear Types. Retrieved 12 October 2013.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 "อุปกรณ์การประมง - khomchan". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
- ↑ "Multilingual dictionary of fishing gear" (PDF) (2nd ed.). Commission of the European Communities. 1992. p. [56]78. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 เมษายน 2016.
- ↑ "FAO Fisheries & Aquaculture - Fishing gear type". www.fao.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
- ↑ Thailand (http://neko.studio), Neko Studio. "Cheena Vala - ยออินเดีย". วารสารเมืองโบราณ.
- ↑ admin (16 ธันวาคม 2017). "บามหมึก กินกันสดๆ กลางทะเลอ่าวคราม ชุมพร | CHAILAIBACKPACKER" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Selective Fishing Methods". Washington Department of Fish and Wildlife. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2011.
- ↑ Fishing Gear Types: Trammel nets, Food and Agriculture Organization of the United Nations, สืบค้นเมื่อ 2010-09-27
- ↑ "การเย็บอวนสามชั้น". อวนสามชั้น อวนกุ้ง.
- ↑ Michael, mbuhme. "Fishing gear type, Trammel nets". Food and agricultural Organization of the United Nations.
- ↑ Die Sendung mit der Maus - Fischernetz BR-Alpha, dailymotion.com, veröffentlicht 6. September 2015, abgerufen 22. Juli 2019. Video (7:51) – Fertigung eines Netzes bei Hersteller Rofia, Modell und Unterwasseraufnahmen.
- ↑ "เศษอวน: มัจจุราชแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 40.0 40.1 "เศษอวน: มัจจุราชแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 "Net Free Seas ครั้งแรกของการรีไซเคิลซากอวนประมงจากท้องทะเลไทย". ngthai.com.
- ↑ วรรณชัย สุวรรณกาญจน์, กฤษณา ไวสำรวจ. (2018) การพัฒนานโยบายประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
- ↑ "ทช.-ทัพเรือ เคลียร์อวนยักษ์ติดปะการัง เกาะโลซิน หนักกว่า 800 กก". มติชนออนไลน์. 21 มิถุนายน 2021.
- ↑ "Janet Echelman". Janet Echelman (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ศิริรัตน์ ใจตั้ง, เรืองลดา ปุณยลิขิต (2018). ศิลปะสิ่งทอจากการถักอวน. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ISSN 1906-3431.
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อวน