ห้องแถว
ห้องแถว (อังกฤษ: shophouse) หรือ ตึกแถว หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า อาคารพาณิชย์ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทหนึ่งของทั้งคนพื้นเมืองและคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเอกลักษณ์ผสมผสานที่สื่อให้เห็นที่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของเมืองส่วนมากและเมืองในท้องถิ่นนั้น
ห้องแถวเป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้า ประกอบธุรกิจขนาดย่อม ที่เป็นการขายปลีกเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในชุมชนที่หนาแน่น ในแหล่งธุรกิจกลางเมืองและชุมชนรอบเมือง โดยชั้นล่างจะแบ่งเป็นร้านค้าย่อย ชั้นสองเป็นที่อยู่อาศัย ในกรณีสูงกว่านั้นอาจทำเป็นที่เก็บสินค้าชั่วคราว มักมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยวิวัฒนาการมาจากห้องแถวไม้และห้องแถวก่ออิฐถือปูน[1]
ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) วิเคราะห์ศัพท์ ห้องแถว คือ อาคารที่พักอาศัย หรืออาคารพาณิชย์ ซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินสองห้อง และประกอบด้วยวัตถุไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่ ส่วน ตึกแถว จะประกอบด้วยวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่[2] จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2551 พบว่าในประเทศไทย มีห้องแถวอยู่ร้อยละ 11.8 เป็นอันดับ 2 รองจากบ้านโดดซึ่งมีอยู่ร้อยละ 79.8[3]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ บัณฑิต จุลาสัย. บ้านไทย,- - กรุงเทพฯ โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540 หน้า 87
- ↑ กฎหมายอาคาร
- ↑ สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ตัวชี้วัดที่สำคัญ ผลสำมะโน/สำรวจ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2551, หน้า 12