อาสนวิหารลูว์ซง
อาสนวิหารลูว์ซง | |
---|---|
อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ แห่งลูว์ซง | |
ด้านข้างของอาสนวิหารซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขทางเข้าของวิหารเก่าแบบโรมาเนสก์ | |
46°27′16″N 1°10′00″W / 46.45444°N 1.16667°W | |
ที่ตั้ง | ลูว์ซง จังหวัดว็องเด |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
ประวัติ | |
สถานะ | อาสนวิหาร |
เสกเมื่อ | ค.ศ. 1317 |
สถาปัตยกรรม | |
ประเภทสถาปัตย์ | กอทิก |
รูปแบบสถาปัตย์ | กางเขน |
ปีสร้าง | คริสต์ศตวรรษที่ 13 |
แล้วเสร็จ | คริสต์ศตวรรษที่ 14 |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1906 และ 1915) (ค.ศ. 1992) - ระดับแคว้น |
อาสนวิหารลูว์ซง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Luçon) หรือชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์แห่งลูว์ซง (Cathédrale Notre-Dame-de-l'Assomption de Luçon) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกและเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลลูว์ซง ตั้งอยู่ในเขตเมืองลูว์ซง จังหวัดว็องเด แคว้นเปอีเดอลาลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
อาสนวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นในแบบกอทิก และยังมีองค์ประกอบบางส่วนในแบบโรมาเนสก์ รวมทั้งในยุคที่ใหม่กว่านั้น คือ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (หรือคลาสสิก) ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ นี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1906, ค.ศ. 1915 และของระดับแคว้นเมื่อปี ค.ศ. 1992[1]
ประวัติ
อาสนวิหารแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์ของอารามเก่าตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งได้ถูกทำลายโดยการรุกรานของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 853 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 877 และตามมาด้วยไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1068 โดยกีโยมที่ 8 เคานต์แห่งปัวตู ทำให้โบสถ์ได้ถูกทำลายลงสิ้น ส่งผลให้สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 2 มีพระบัญชาคว่ำบาตรระหว่างคริสตจักรกับเคานต์แห่งปัวตู จึงทำให้บุตรชายคนโตของเคานต์แห่งปัวตู กีโยมที่ 9 ต้องสร้างวิหารใหม่ขึ้นทดแทนด้วยเงินของตัวเอง ในที่สุดจึงเริ่มการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1091 โดยอธิการอารามฌอฟรัว ซึ่งกินเวลานานถึง 30 ปี และวิหารแบบโรมาเนสก์แห่งใหม่นี้ได้รับการเสกเมื่อปี ค.ศ. 1121 โดยอธิการอารามแฌร์แบร์
ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นซากของวิหารโรมาเนสก์เก่านี้ในอาสนวิหารปัจจุบัน โดยที่เหลืออยู่เป็นบริเวณแขนกางเขนฝั่งทิศเหนือและมุขทางเข้า ซึ่งอยู่ที่จัตุรัสซอแชเดตุชในบริเวณใกล้เคียง
ต่อมาอารามแห่งนี้ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1317 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขนายกแห่งมุขมณฑลปัวตีเย ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 15 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมให้เป็นแบบกอทิก และภายหลังได้ผ่านการบูรณะปรับปรุงเป็นระยะเนื่องจากตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิเป็นช่วง ๆ ในระหว่างสงครามร้อยปี นอกจากนี้ยังมีระเบียงคดของอาสนวิหารซึ่งอยู่ในสภาพดีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาเปลบริเวณทางเดินข้างทิศใต้สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1530 ถึงค.ศ. 1550
ต่อมาในสมัยสงครามศาสนา อาสนวิหารถูกทำลายโดยกลุ่มโปรเตสแตนต์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้งในปี ค.ศ. 1562, ค.ศ. 1568, ค.ศ. 1570 และ ค.ศ. 1622 โดยถูกปล้นเอาวัตถุต่าง ๆ ด้านในไปจนหมดสิ้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1665 หอระฆังได้ถล่มลงบนบริเวณกลางโบสถ์ช่วงที่ 1 ทำให้ต้องมีการบูรณะก่อสร้างขึ้นใหม่ซึ่งหน้าตาเป็นแบบที่เห็นจนถึงปัจจุบันภายใต้การควบคุมของมุขนายกอ็องรี เดอ บารียง ซึ่งบริเวณยอดแหลมแบบนีโอกอทิกนั้นสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 19
ในปี ค.ศ. 1722 เป็นช่วงเวลาก่อสร้างชาเปลข้างฝั่งทิศเหนือ และต่อมาในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นการสร้างแท่นบูชาจนถึงเบญจาคริสต์ บริเวณเก้าอี้ร้องเพลงสวดงานไม้แกะสลักผีมือเซบัสเตียง แลเน (Sébastien Leysner)
ในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งของอาสนวิหารถูกขายทอดตลาดและผ่านมือไปมากมาย ซึ่งอาสนวิหารได้ถูกใช้เป็นทั้งคอกม้า ค่ายทหาร และคลังแสงอาวุธ ซึ่งโชคดีที่เหล่าแท่นบูชาด้านข้างต่าง ๆ ฉากประดับแท่นบูชา และเก้าอี้ร้องเพลงสวดยังอยู่ในสภาพดี
สัดส่วน
- ความยาวรวมด้านใน : 67.50 เมตร (221.5 ฟุต)
- ความยาวของบริเวณกลางโบสถ์ : 34.50 เมตร (113.2 ฟุต)
- ความยาวของแขนกางเขน (จากสุดบริเวณกลางโบสถ์ถึงบริเวณร้องเพลงสวด) : 8.00 เมตร (26.25 ฟุต)
- ความลึกของบริเวณร้องเพลงสวด : 25.00 เมตร (82.02 ฟุต)
- ความกว้างของบริเวณกลางโบสถ์ (ทางเดินกลาง) : 8.00 เมตร (26.25 ฟุต)
- ความกว้างของบริเวณแขนกางเขน (จากทิศเหนือถึงทิศใต้) : 32.00 เมตร (104.99 ฟุต)
- ความกว้างของบริเวณร้องเพลงสวด : 9.75 เมตร (32.0 ฟุต)
- ความกว้างของช่องทางเดินข้าง : ระหว่าง 5.00 เมตร (16.40 ฟุต) ถึง 5.30 เมตร (17.4 ฟุต)
- ความกว้างของชาเปลข้าง : 5.00 เมตร (16.40 ฟุต)
- ความสูงของเพดานโค้งช่องแรกในวิหาร : 6.30 เมตร (20.7 ฟุต)
- ความสูงของเพดานโค้งของบริเวณกลางโบสถ์ : 22.00 เมตร (72.18 ฟุต)
- ความสูงของเพดานโค้งของบริเวณร้องเพลงสวด : 25.00 เมตร (82.02 ฟุต)
- ความสูงของเพดานโค้งของบริเวณช่องทางเดินข้าง : 10.50 เมตร (34.4 ฟุต)
- ความสูงของเพดานโค้งของบริเวณจรมุข : 11.50 เมตร (37.7 ฟุต)
- ความสูงของอาสนวิหารวัดจากยอดสูงที่สุด : 85.00 เมตร (278.87 ฟุต)
แหล่งข้อมูล[2]
อ้างอิง
- ↑ "Notice № PA00110153". Base Mérimée กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส.
- ↑ "Patrimoine - La cathédrale Notre-Dame-de-l'Assomption". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 February 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น