อำเภอจัตุรัส

อำเภอจัตุรัส
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Chatturat
ถนนโกสีย์ ตัวเมืองจัตุรัส
ถนนโกสีย์ ตัวเมืองจัตุรัส
คำขวัญ: 
เมืองพระนรินทร์ ถิ่นแร่เกลือ
งามเหลือหอสมุด กว้างสุดบึงละหาน
โบราณเส็งกลอง พี่น้องจิตกุศล
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอจัตุรัส
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอจัตุรัส
พิกัด: 15°33′56″N 101°50′44″E / 15.56556°N 101.84556°E / 15.56556; 101.84556
ประเทศ ไทย
จังหวัดชัยภูมิ
พื้นที่
 • ทั้งหมด647 ตร.กม. (250 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด74,084 คน
 • ความหนาแน่น114.50 คน/ตร.กม. (296.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 36130
รหัสภูมิศาสตร์3606
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอจัตุรัส ถนนโกสีย์ ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ 36130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

จัตุรัส เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้า ศูนย์กลางความเจริญทางตอนใต้ของจังหวัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี เดิมชื่อ “เมืองสี่มุม” ปรากฎหลักฐานการตั้งเมืองในปี พ.ศ.2352 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 เป็นเมืองแรกที่ตั้งขึ้นในแถบลุ่มน้ำชี แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเมืองนี้ก่อตั้งในปีใด ชื่อ พญาณริน เป็นเจ้าเมือง โดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2372 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 ทรงพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า “เมืองจัตุรัส” มีตำแหน่ง พระนรินทรสงคราม เป็นผู้ว่าราชการเมือง และต่อมา พ.ศ.2442 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ได้ยกเลิกระบบเจ้าเมือง(อาญาสี่) ของหัวเมืองลาวทั่วภาคอีสาน เมืองจัตุรัสจึงถูกยุบ และจัดตั้งเป็น“อำเภอจัตุรัส” จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติเป็นมาตามตำนาน(มุขปาฐะ)

อำเภอจัตุรัส เดิมมีฐานะเป็นเมืองชื่อ “เมืองสี่มุม” เจ้าเมืององค์แรกคือ “พระนรินทรสงคราม” มีชื่อเดิมว่า “คำ” หรือชาวบ้านเรียกท่านว่า “อาจารย์คำ” เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ทางโหราศาสตร์ และวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน เป็นชาวลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนารายณ์ เมืองนครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านสี่มุมและเป็นผู้นำหมู่บ้านชื่อบ้านสี่มุม สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามชื่อของแหล่งน้ำที่ชุมชนอาศัย คือ กุดสี่มุม (ปัจจุบันบ้านสี่มุมอยู่ในตำบลพลกรัง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) ครั้นเมื่อ พ.ศ.2311 พระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบก๊กเจ้าพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นหัวหน้าก๊ก ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพิมายและต่อมาได้ ยึดเมืองนครราชสีมาเป็นที่ตั้งมั่น เจ้าพิมายให้พระยาวรวงษาธิราชคุมทัพไปตั้งรับเพื่อตีสกัดทัพพระเจ้าตากสินที่ด่านขุนทดและถูกกองทัพ พระเจ้าตากสินตีจนแตกพ่ายในที่สุดในกรณีศึกครั้งนี้อาจารย์คำผู้นำหมู่บ้านสี่มุมได้นำชาวบ้านเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินและขออาสาเป็น กองกำลังร่วมสู้รบในกองทัพหลวงด้วย พระเจ้าตากสินทรงยินดีรับไว้และให้เป็นกองกำลังเข้าตีด่านจอหอจนแตกพ่ายสามารถยึดเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาคืนมาได้ในครั้งเข้าตีด่านจอหอ กองกำลังของบ้าน สี่มุมโดยการนำของอาจารย์คำได้แสดงความสามารถในการรบอย่างกล้าหาญ เข้มแข็งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก เมื่อเสร็จการศึกสงครามจึงได้ปูนบำเหน็จความชอบให้อาจารย์คำเป็น “พระนรินทรสงคราม” ยกฐานะบ้านสี่มุมขึ้นเป็น “เมืองสี่มุม” ให้ปกครองเมืองสี่มุมให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา นอกจากนี้แล้วอาจารย์คำและกองกำลังบ้านสี่มุมยังได้ เป็นกำลังสำคัญของกองทัพกรุงธนบุรี ในสงครามปราบก๊กต่างๆ ตลอดทั้งเป็นบุคคลสำคัญในกองทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในการ ปราบปรามหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

รายนามเจ้าเมือง

มีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับ ดังนี้

เจ้าเมืองสี่มุม

1. พระนรินทรสงคราม (อาจารย์คำ)

2. พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)

เจ้าเมืองจัตุรัส

3. พระนรินทรสงคราม (บุตร)

4. พระนรินทรสงคราม (เสา)

5. พระนรินทรสงคราม (บุญเฮ้า)

ผู้ว่าราชการเมืองจัตุรัส

6. พระนรินทรสงคราม (ทองดี) (เจ้าเมืองจัตุรัสองค์สุดท้าย) และนายอำเภอจัตุรัสคนแรก

ศาลเจ้าพ่อพญานรินทร์สงคราม

การย้ายเมืองสี่มุม

เมืองสี่มุมก่อนที่จะมาตั้งอยู่ที่อำเภอจัตุรัสปัจจุบันนี้ มีการย้ายเมืองหลายครั้ง

  • ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2352 ในสมัยพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) เจ้าเมืองสี่มุมองค์ที่ 2 ท่านได้ปรึกษากับกรมการเมืองแล้วเห็นว่าเมืองสี่มุมเดิมไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองใหญ่ จึงย้ายที่ตั้งเมืองสี่มุมในที่แห่งใหม่ ห่างจากที่ตั้งเมืองสี่มุมเดิมประมาณ 40 กิโลเมตร มาตั้งที่ บ้านบัวพุยุ(หนองบัวใหญ่) และท่านได้ชักชวนราษฎรช่วยกันสร้างวัดขึ้นทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ชื่อว่า วัดสว่างอารมณ์ หรือ “วัดปทุมชาติ” ในปัจจุบัน นับเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้นมาเคียงคู่กับเมืองสี่มุม ต่อมา ทางวัดปทุมชาติและชาวบ้านหนองบัวใหญ่ได้พร้อมใจกันจัดสร้าง “ศาลเจ้าพ่อพระยานรินทร์สงคราม” ขึ้นด้วยแรงศรัทธา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงคุณงามความดีของท่านเจ้าเมืองผู้สร้างวัดปทุมชาติ พร้อมทั้งประดิษฐานรูปหล่อเหมือน “พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)” ไว้ให้บูชาสักการะสืบมา
  • ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2425 ในสมัยพระนรินทรสงคราม (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ 5 เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับเกิดพุยุ(อหิวาตกโรค)ระบาดหนัก ท่านจึงได้ย้ายเมืองจัตุรัสจากบ้านหนองบัวใหญ่มาตั้งที่บ้านกอก ซึ่งห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ตั้งศาลากลางเมืองอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จนถึงปัจจุบัน

การยุบเมืองจัตุรัส

สมัยพระนรินทร์สงคราม (ทองดี) ผู้ว่าราชการเมืองจัตุรัส ปี พ.ศ. 2442 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ โดยทำการยกเลิกระบบเจ้าเมือง (อาญาสี่) ของหัวเมืองลาวทั่วภาคอีสาน แล้วเปลี่ยนมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล กล่าวคือ จัดหัวเมืองต่างๆ ตั้งเป็นมณฑล, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน ส่วนเมืองจัตุรัส เมืองขึ้นมณฑลนครราชสีมาจึงถูกยุบ และจัดตั้งเป็นอำเภอขึ้นมาแทน ชื่อว่า “อำเภอจัตุรัส” ขึ้นต่อจังหวัดชัยภูมิ ส่วนตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองก็เปลี่ยนเป็น “นายอำเภอ” โดยแต่งตั้งให้พระนรินทร์สงคราม (ทองดี) เจ้าเมืององค์ที่ 6 (องค์สุดท้าย) เป็นนายอำเภอ ท่านจึงนับเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัสตั้งแต่นั้นมา

อำเภอจัตุรัส ในสมัยนั้นมีพื้นที่อาณาเขตกว้างขวางมาก คือ มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6 อำเภอในปัจจุบัน ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกพื้นที่ของอำเภอออกเป็นอำเภอต่าง ๆ ดังนี้

  1. อำเภอบำเหน็จณรงค์ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 1,435.904 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2499
  2. อำเภอเทพสถิต แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 875.604 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
  3. อำเภอหนองบัวระเหว แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 2 ตำบล (ตำบลหนองบัวระเหวและตำบลวังตะเฆ่) เนื้อที่ 841.782 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2521
  4. อำเภอเนินสง่า แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 4 ตำบล (ตำบลหนองฉิม ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน และตำบลรังงาม) เนื้อที่ 222 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535
  5. อำเภอซับใหญ่ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 3 ตำบล (ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ และตำบลตะโกทอง) เนื้อที่ 255 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
  6. อำเภอจัตุรัส ปัจจุบันเหลือจำนวนเนื้อที่ 647 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 431,250 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 119 หมู่บ้าน

การเปลี่ยนแปลงเขตปกครอง

  • พ.ศ. 2352 ปรากฎหลักฐานการตั้งเมือง “เมืองสี่มุม” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 เป็นเมืองแรกที่ตั้งขึ้นในแถบลุ่มน้ำชี แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเมืองนี้ก่อตั้งในปีใด ชื่อ พญาณริน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสี่มุมนั้นมีอยู่ในเอกสารตั้งแต่ปี พ.ศ.2354 (อ้างอิงจดหมายเหตุ ร.2 บัญชีปืนคาบศิลา จำหน่ายและคง จ.ศ.1186) ที่ตั้งเมืองบริเวณบ้านบัวพุยุ (หนองบัวใหญ่) และท่านได้ชักชวนราษฎรช่วยกันสร้างวัดขึ้นทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ชื่อว่า วัดสว่างอารมณ์ หรือ “วัดปทุมชาติ” นับเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้นพร้อมกับเมืองสี่มุม
  • พ.ศ. 2371 ลดอำนาจหัวเมืองขึ้น หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ “เมืองสี่มุม” มี พญาณริน เจ้าเมือง (อ้างอิงจดหมายเหตุ ร.3 บัญชีรายชื่อเจ้าเมือง จ.ศ.1190)
  • พ.ศ. 2372-2373 ราชสำนักกรุงเทพ ลดยศตำแหน่งเจ้าเมือง เป็น พระนรินทรสงคราม เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ “เมืองสี่มุม” ให้มีนามว่า เมืองจัตุรัส ตรงกับสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 (อ้างอิงจดหมายเหตุ ร.3 บัญชีทองคำส่วย จ.ศ.1192)
  • พ.ศ. 2424 ย้ายเมือง ครั้งที่ 2 สมัยพระนรินทร์สงคราม(บุญเฮ้า) เจ้าเมืองจัตุรัส เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับเกิดพุยุ(อหิวาตกโรค)ระบาดหนัก ท่านจึงได้ย้ายเมืองจัตุรัสจากบ้านหนองบัวใหญ่มาตั้งที่ บ้านกอก ซึ่งห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ตั้งศาลากลางเมืองอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส
  • พ.ศ. 2433 หัวเมืองอีสานก่อนการปฏิรูป พระนรินทร์สงคราม(ทองดี) ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นกับเมืองชนบท หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2442 ยุบเมืองจัตุรัส โดยจัดให้พระนรินทร์สงคราม(ทองดี) ผู้ว่าราชการเมืองเป็นนายอำเภอ ตั้งที่ว่าการอำเภอ ที่ศาลากลางเมืองจัตุรัส ขึ้นกับเมืองไชยภูมิ์ มณฑลนครราชสีมา อำเภอจัตุรัส มีท้องที่ในเขตการปกครองคือ ตำบลบ้านกอก ตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลกุดน้ำใส ตำบลหนองโดน ตำบลหนองบัวบาน ตำบลละหาน ตำบลบ้านขาม ตำบลบ้านเพชร ตำบลบ้านตาล และตำบลนายางกลัก
  • พ.ศ. 2446 ทางราชการได้ยุบอำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็นตำบล เรียกว่า ตำบลบ้านชวน อำเภอจัตุรัส
  • พ.ศ. 2448 ตั้งกิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส
  • วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนแปลงชื่อกิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส เป็น กิ่งอำเภอบ้านชวน [1]
  • วันที่ 22 มีนาคม 2467 "กิ่งอำเภอบ้านชวน อำเภอจัตุรัส" มีตำบลในเขตการปกครองคือ ตำบลบ้านชวน[2] ตำบลบ้านเพชร ตำบลดอนตาล และโอนพื้นที่ตำบลนายางกลัก[3] อำเภอจัตุรัส มาขึ้นกับกิ่งอำเภอบ้านชวน
  • วันที่ 29 สิงหาคม 2481 ตั้งตำบลตาเนิน แยกออกจากตำบลละหาน [4]
  • วันที่ 17 เมษายน 2482 เปลี่ยนแปลงชื่อกิ่งอำเภอบ้านชวน อำเภอจัตุรัส เป็น กิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ [5]
  • วันที่ 21 ธันวาคม 2485 ยุบตำบลหนองโดน รวมเข้ากับตำบลบ้านขาม ยุบตำบลหนองบัวใหญ่ รวมเข้ากับตำบลบ้านกอก ยุบตำบลกุดน้ำใส รวมเข้ากับตำบลบ้านกอก และตำบลบ้านขาม และยุบตำบลบ้านตาล รวมเข้ากับตำบลบ้านเพชร และตำบลบ้านชวน กิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลกุดน้ำใส แยกออกจากตำบลบ้านกอกและตำบลบ้านขาม ตั้งตำบลหนองโดน แยกออกจากตำบลบ้านขาม ตั้งตำบลหนองบัวใหญ่ แยกออกจากตำบลบ้านกอก ตั้งตำบลบ้านตาล แยกออกจากตำบลบ้านเพชร และตำบลบ้านชวน[6]
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ตั้งกิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส เป็น อำเภอบำเหน็จณรงค์ [7]
  • วันที่ 10 ธันวาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลจัตุรัส ในพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านกอก
  • วันที่ 4 พฤษภาคม 2507 ตั้งตำบลหนองบัวระเหว แยกออกจากตำบลหนองบัวบาน [8]
  • วันที่ 5 กรกฎาคม 2508 ตั้งตำบลหนองฉิม แยกออกจากตำบลละหาน ตั้งตำบลหนองบัวโคก แยกออกจากตำบลบ้านขาม และตำบลกุดน้ำใส [9]
  • วันที่ 13 กันยายน 2509 ขยายเขตสุขาภิบาลจัตุรัส ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเจริญขึ้น
  • วันที่ 13 สิงหาคม 2513 ตั้งตำบลกะฮาด แยกออกจากตำบลตาเนิน [10]
  • วันที่ 31 กรกฎาคม 2515 ตั้งตำบลวังตะเฆ่ แยกออกจากตำบลหนองบัวระเหว [11]
  • วันที่ 30 พฤษภาคม 2516 ตั้งตำบลท่ากูบ แยกออกจากตำบลหนองโดน [12]
  • วันที่ 1 พฤศจิกายน 2519 ตั้งกิ่งอำเภอเทพสถิต มีเขตการปกครอง 3 ตำบล ตำบลวะตะแบก ตำบลนายางกลัก และตำบลห้วยยายจิ๋ว จากอำเภอบำเหน็จณรงค์ (เดิมเป็นท้องที่อำเภอจัตุรัส) [13]
  • วันที่ 17 เมษายน 2521 ตั้งกิ่งอำเภอหนองบัวระเหว มีเขตการปกครอง 2 ตำบล ตำบลหนองบัวระเหว และตำบลวังตะเฆ่ [14]
  • วันที่ 28 สิงหาคม 2522 ตั้งตำบลห้วยแย้ แยกออกจากตำบลวังตะเฆ่ กิ่งอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส [15]
  • วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ตั้งตำบลโคกสะอาด แยกออกจากตำบลหนองบัวระเหว กิ่งอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส [16]
  • วันที่ 31 มีนาคม 2526 ตั้งกิ่งอำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ (เดิมเป็นท้องที่อำเภอจัตุรัส) เป็น อำเภอเทพสถิต [17]
  • วันที่ 18 กรกฎาคม 2527 ตั้งตำบลส้มป่อย แยกออกจากตำบลหนองบัวบาน [18]
  • วันที่ 5 สิงหาคม 2528 ตั้งตำบลซับใหญ่ แยกออกจากตำบลท่ากูบ [19]
  • วันที่ 7 ตุลาคม 2528 ตั้งตำบลรังงาม แยกออกจากตำบลหนองฉิม [20]
  • วันที่ 31 ธันวาคม 2530 ตั้งกิ่งอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส เป็น อำเภอหนองบัวระเหว [21]
  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลตะโกทอง แยกออกจากตำบลท่ากูบ และตำบลซับใหญ่ [22]
  • วันที่ 1 เมษายน 2535 ตั้งกิ่งอำเภอเนินสง่า มีเขตการปกครอง 4 ตำบล ตำบลตาเนิน ตำบลหนองฉิม ตำบลรังงาม และตำบลกะฮาด [23]
  • วันที่ 28 ธันวาคม 2536 จัดตั้งสุขาภิบาลหนองบัวโคก ในพื้นที่บางส่วนของตำบลหนองบัวโคก
  • วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ตั้งกิ่งอำเภอซับใหญ่ มีเขตการปกครอง 3 ตำบล ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ และตำบลตะโกทอง [24]
  • วันที่ 26 กันยายน 2540 ตั้งกิ่งอำเภอเนินสง่า อำเภอจัตุรัส เป็น อำเภอเนินสง่า [25]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลจัตุรัส และ สุขาภิบาลหนองบัวโคก เป็น เทศบาลตำบลจัตุรัส และ เทศบาลตำบลหนองบัวโลก ด้วยผลของกฎหมาย
  • วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 จัดตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน ดังนี้
    • (1) แยกบ้านหนองบัวบาน หมู่ที่ 7 ตำบลหนองบัวบาน จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 10 บ้านหนองบัวบาน
    • (2) แยกบ้านโนนทอง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกอก จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 17 บ้านโนนทอง
    • (3) แยกบ้านโนนฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลหนองโดน จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 11 บ้านโนนฝายเหนือ
  • วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 จัดตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน ครั้งที่ 2 ดังนี้
    • (1) แยกบ้านหนองบัวบาน หมู่ที่ 8 ตำบลหนองบัวบาน จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 10 บ้านหนองบัวบาน
    • (2) แยกบ้านส้มป่อย หมู่ที่ 12 ตำบลส้มป่อย จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 14 บ้านส้มป่อย
    • (3) แยกบ้านโคกโต่งโต้น หมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัวบาน จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 12 บ้านโคกโต่งโต้น
  • วันที่ 28 พฤษภาคม 2550 แยกบ้านหนองบัวรอง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองบัวใหญ่ จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 10 บ้านหนองบัวรอง
  • วันที่ 24 สิงหาคม 2550 ตั้งกิ่งอำเภอซับใหญ่ อำเภอจัตุรัส เป็น อำเภอซับใหญ่ [26]
  • วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใหญ่ เป็น เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่

การพระราชทานนามสกุล

พระนรินทร์สงคราม (ทองดี) สืบเชื้อสายเจ้าเมืองจัตุรัส ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

  • ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๗๙ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2462

ลำดับที่ ๔๗๘๙ พระนรินทร์สงคราม (ทองดี) กรมการพิเศษจังหวัดไชยภูมิ์ บิดาชื่อนายลา พระราชทานนามสกุลว่า "สุวรรณลาช" Suvarnalaja

ภูมิศาสตร์

อำเภอจัตุรัส อยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 292 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณพื้นที่ 690 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 431,250 ไร่ อำเภอจัตุรัสตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงโคราช สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร มีแม่น้ำชีและลำคันฉูไหลผ่าน มีบึงละหานซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่เป็นดินเค็ม สภาพภูมิอากาศทั่วไปค่อนข้างแห้งแล้ง มีฤดูร้อนยาวนาน (ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม) และมีฤดูหนาวและฝน ช่วงสั้น ๆ

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอจัตุรัสแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล 119 หมู่บ้าน ได้แก่

1. บ้านกอก (Ban Kok) 17 หมู่บ้าน 6. ละหาน (Lahan) 18 หมู่บ้าน
2. หนองบัวบาน (Nong Bua Ban) 12 หมู่บ้าน 7. หนองบัวใหญ่ (Nong Bua Yai) 10 หมู่บ้าน
3. บ้านขาม (Ban Kham) 12 หมู่บ้าน 8. หนองบัวโคก (Nong Bua Khok) 11 หมู่บ้าน
4. กุดน้ำใส (Kut Nam Sai) 14 หมู่บ้าน 9. ส้มป่อย (Sompoi) 14 หมู่บ้าน
5. หนองโดน (Nong Don) 11 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอจัตุรัสประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลจัตุรัส ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านกอก
  • เทศบาลตำบลหนองบัวโคก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหนองบัวโคก
  • เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกอก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านกอก (นอกเขตเทศบาลตำบลจัตุรัส)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวบานทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านขามทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดน้ำใสทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโดน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองโดนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลละหาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลละหานทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวโคก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวโคก (นอกเขตเทศบาลตำบลหนองบัวโคก)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลส้มป่อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลส้มป่อยทั้งตำบล

เศรษฐกิจและสังคม

การศึกษา

  • โรงเรียนมัธยมศึกษา 5 แห่ง
  • โรงเรียนประถมศึกษา 46 แห่ง
  • โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา 9 แห่ง
  • โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง
  • โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 3 แห่ง
  • การศึกษานอกโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน 2 แห่ง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 55 แห่ง
  • โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี 8 แห่ง นักเรียน 478 รูป
  • วัด 53 วัด ที่พักสงฆ์ 24 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง ประชาชน 99% นับถือศาสนาพุทธ 1% นับถือศาสนาอิสลาม

สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 30

  • โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร (โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอจัตุรัส)
  • โรงเรียนละหานเจริญวิทยา
  • โรงเรียนหนองบัวบานวิทยา

สถาบันการศึกษาในสังกัดสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ

  • โรงเรียนกุดน้ำใสพิทยาคม (โรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ)
  • โรงเรียนโนนคร้อวิทยา

สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา 9 แห่ง

  • โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล (โรงเรียนประถมศึกษาประจำอำเภอจัตุรัส)
  • โรงเรียนมะเกลือโนนทอง
  • โรงเรียนบ้านโนนจาน
  • โรงเรียนบ้านงิ้ว
  • โรงเรียนบ้านหนองลุมพุก
  • โรงเรียนบ้านหนองบัวโคก
  • โรงเรียนบ้านโคกโต่งโต้น
  • โรงเรียนบ้านส้มป่อย
  • โรงเรียนบ้านโนนเชือก

โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 3 แห่ง

  • โรงเรียนศรีเทพบาล (ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา)
  • โรงเรียนบุญสมประสงค์ (ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา)
  • โรงเรียนมูลนิธิรุ่งนภาทุ่งเสมียนตราชัยภูมิ (ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา)

โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง

  • โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ 1 (ระดับก่อนประถมศึกษา)
  • โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ 2 (ระดับก่อนประถมศึกษา)

สาธารณสุข

  • โรงพยาบาลจัตุรัส เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 ขนาด 120 เตียง และรับการส่งต่อผู้ป่วยจากอำเภอใกล้เคียง (รพช.ลูกข่าย พื้นที่ 4 อำเภอ คือ รพ.บำเหน็จณรงค์ รพ.เทพสถิต รพ.เนินสง่า และรพ.ซับใหญ่) เพื่อมารับบริการที่โรงพยาบาลจัตุรัส
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 11 แห่ง
  • สำนักงานสาธารณสุข 1 แห่ง
  • คลินิกชุมชนอบอุ่น 1 แห่ง (เทศบาลตำบลจัตุรัส)
  • คลินิกแพทย์ 6 แห่ง
  • คลินิกทันตแพทย์ 2 แห่ง
  • คลินิกสัตวแพทย์ 2 แห่ง
  • คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ 7 แห่ง
  • ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ (ขย. 1) 2 แห่ง
  • ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ (ขย. 2) 5 แห่ง

สภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ เช่น การปลูกพริก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และทำนาปี บางส่วนไปประกอบอาชีพที่ต่างจังหวัด เนื่องจากประชาชนนิยมปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก จึงเกิดโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันขึ้นในพื้นที่บ้านดอนละนาม ตำบลละหาน เพื่อรองรับผลิตผลมันสำปะหลังจากเกษตรกร ทำให้เกิดรายได้และอาชีพรับจ้างในโรงงานเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานทอผ้า โรงงานทอกระสอบ และปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตขึ้นที่อำเภอจัตุรัส (1 ใน 3 แห่งของภาคอีสาน) บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา จึงได้มีการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่มากขึ้น

การพาณิชย์และการเงิน

  • สาขาของธนาคาร 7 แห่ง
    • ธนาคารออมสิน สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารกรุงเทพ สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารกรุงไทย สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารกสิกรไทย สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาจัตุรัส
    • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาหนองบัวใหญ่
  • สหกรณ์ 5 แห่ง
    • สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ จำกัด สาขาจัตุรัส
    • สหกรณ์การเกษตรจัตุรัส จำกัด
    • สหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหน้าที่และลูกจ้างสหกรณ์การเกษตรจัตุรัส
    • สหกรณ์การเกษตรไก่เนื้อชัยภูมิ
    • สหกรณ์ประมงจัตุรัส

การประมง

  • แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย บึงละหาน มีเนื้อที่ 18,181 ไร่ มีปลาธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
  • ประมงหมู่บ้าน
    • ทำนบปลา 5 แห่ง
    • ประมงโรงเรียน 16 แห่ง
  • ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาเอกชน 20 แห่ง
  • เลี้ยงปลาของเกษตรกร 4,111 ราย พื้นที่ 5,592 ไร่
  • สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยภูมิ ตั้งที่บึงละหาน ผลิตพันธุ์ปลาปีละ 15 ล้านตัวและพันธุ์กุ้งปีละ 18 ล้านตัว

อุตสาหกรรม

  • โรงงานขนาดกลาง 4 แห่ง
    • บริษัทชัยภูมิต๊าช ตำบลละหาน ผลิตแป้งมันสำปะหลัง
    • บริษัท เอ.ซี.พี.แอ็พแพเร็ล จำกัด ตำบลละหาน ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
    • บริษัทบางนากระสอบ จำกัด ตำบลละหาน ผลิตกระสอบ
    • บริษัท บางกอกไพศาลอุตสาหกรรมการทอ จำกัด ตำบลหนองบัวโคก ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • ร้านประกอบรถเพื่อการเกษตร (อีแต๋นและรถไถ) 4 แห่ง
  • ลานมันสำปะหลัง 5 แห่ง
  • โรงงานอบและบดพริก 5 แห่ง
สถานีรถไฟจัตุรัส

การคมนาคมและการขนส่ง อำเภอจัตุรัส มีเส้นทางการคมนาคมติดต่อระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอหลายเส้นทางทั้งทางรถไฟและรถยนต์

      1.การคมนาคมโดยรถไฟ  จะมีเส้นทางรถไฟ  สายกรุงเทพฯ – หนองคายผ่านโดยมีสถานีจัตุรัส สถานีชั้นหนึ่ง เป็นจุดหลักสำหรับรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีทั้งขบวนรถท้องถิ่น ระหว่าง ชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา - ชุมทางแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และขบวนรถด่วน ที่วิ่งระหว่างกรุงเทพ - หนองคาย วิ่งเป็นประจำทุกวัน 
      2.การคมนาคมระหว่างตัวจังหวัดโดยรถยนต์จะผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201  (สีคิ้ว - เชียงคาน) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 (ถนนสุรนารายณ์) มีรถโดยสารผ่านหลายสาย 

เช่น ระหว่างกรุงเทพ

    กรุงเทพ - ชัยภูมิ ( บริษัท ชัยภูมิ ขนส่ง , แอร์ชัยภูมิ, มอหินขาวทัวร์ ,ซันบัส, เทียนไชยแอร์)
    กรุงเทพ - เมืองเลย ( บริษัท แอร์เมืองเลย ภูกระดึงทัวร์ ชุมแพทัวร์)
    กรุงเทพ - เมืองเลย - เชียงคาน ( บริษัท แอร์เมืองเลย ภูกระดึงทัวร์ ซันบัส)
    กรุงเทพ - หนองบัวลำภู - ศรีเชียงใหม่ (บริษัท แอร์เมืองเลย) 

ระหว่างจังหวัด

   นครราชสีมา - ชัยภูมิ เที่ยวแรก 3.30 น. เที่ยวที่สอง 6.30 เที่ยวถัดไปทุกครึ่งชั่วโมง (นับของ สายเลย เชียงคานด้วย) นครชัยขนส่ง
   นครราชสีมา - เลย - เชียงคาน เที่ยวแรก 1.30 น.  นครชัยขนส่ง
   เลย - พัทยา - ระยอง  นครชัยขนส่ง
   ภูเก็ต - ขอนแก่น  สมบัติทัวร์
 นอกจากนี้ยังมีทางหลวงแผ่นดินเชื่อมระหว่างตัวจังหวัด  อำเภอ  ทำให้มีความสะดวกมาก  ส่วนการคมนาคมภายในอำเภอ  ตำบล  และหมู่บ้าน  มีทั้งทางลาดยางและลูกรังที่สามารถใช้งานสะดวกตลอดปีเช่นกัน

การสาธารณูปโภค อำเภอจัตุรัส ส่วนใหญ่ประชาชนมีน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค จากแหล่งน้ำหลายแห่ง เช่น แหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำฝน และมีระบบประปา (ประปาส่วนภูมิภาค และประปาขนาดเล็ก) นอกจากนี้มีระบบไฟฟ้าใช้ทุกหมู่บ้าน และมีระบบโทรศัพท์ ทั้งส่วนตัวและโทรศัพท์บ้านหลายหมู่บ้าน และมีโทรศัพท์ตำบล โทรศัพท์สาธารณะที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารเพียงพอ และยังมีทีทำการไปรษณีย์ 2 แห่งเพื่อการสื่อสารระดับต่าง ๆ ด้วย

พระพุทธบาทจำลอง วัดปทุมชาติ บ้านหนองบัวใหญ่

สถานที่สำคัญ

  • ศาลเจ้าพ่อพระยานรินทร์สงคราม (เจ้าเมืองสี่มุมองค์ที่ 2 เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่)
  • ศาลเจ้าพ่อหลวงบรรเทา (ศาลหลักเมืองจัตุรัส เทศบาลตำบลจัตุรัส)
  • ศาลเจ้าพ่อสุริวงศ์เกรียงไกร (เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ บ้านหนองบัวรอง)
  • ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน (เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่)
  • ศาลเจ้าพ่อขุนศรี (เทศบาลตำบลหนองบัวโคก)
  • ศาลเจ้าพ่อหานคำ (อบต.ละหาน)
  • ศาลข้าหลวงใหญ่พญาบรมอนุวงศ์ชัยชนะ (อบต.ส้มป่อย)
  • รอยพระพุทธบาทจำลอง (วัดปทุมชาติ วัดแห่งแรกสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองสี่มุม เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่)
  • พระธาตุเจย์ดีศิริมหามงคล หรือ พระธาตุจัตุรัส (วัดศิริพงษาวาส เทศบาลตำบลจัตุรัส)
  • ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอจัตุรัส

สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลตำบลจัตุรัส (สนามกีฬากลางอำเภอจัตุรัส)

  • อาคารศูนย์กีฬาเยาวชนเฉลิมพระเกียรติ

สวนสาธารณะ

  • สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา (เทศบาลตำบลจัตุรัส)
  • สวนสาธารณะบึงหนองบัวใหญ่ (เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่)
  • สวนสาธารณะตำบลกุดน้ำใส (องค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส)

ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำในอำเภอจัตุรัสที่สำคัญคือ มีลำน้ำตามธรรมชาติที่ไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำชี ไหลผ่านมาทางอำเภอหนองบัวระเหว ผ่านตำบลส้มป่อย ตำบลหนองบัวบาน และตำบลละหาน ไหลผ่านไปทางอำเภอเมือง ลำคันฉู ไหลผ่านจากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ผ่านตำบลบ้านขาม ตำบลหนองโดน ตำบลกุดน้ำใส และตำบลบ้านกอก ซึ่งลำน้ำทั้งสองสายจะมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ ได้แก่

  • บึงหนองบัวใหญ่ ตั้งอยู่ที่ในพื้นที่ตำบลหนองบัวใหญ่ มีพื้นที่ติดต่อกับบ้านหนองบัวใหญ่ บ้านหนองบัวรอง และบ้านจานทุ่ง ตำบลหนองบัวใหญ่ บึงหนองบัวใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ ปัจจุบันเทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ ได้มีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ
  • บึงละหาน ตั้งอยู่ที่ในพื้นที่ตำบลละหาน มีพื้นที่ติดต่อกับตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลลุ่มลำชี บึงละหานมีเนื้อที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 18,181 ไร่ เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในการอุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ของอำเภอจัตุรัส ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ
บึงละหาน

สถานที่ท่องเที่ยว

  • บึงละหาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตมากมาย เป็นแหล่งน้ำแห่งวัฒนธรรมความเชื่อ ตำนานเล่าขาน บึงละหานมีเนื้อที่ ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 18,181 ไร่ บึงละหานเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และยังมีระบบนิเวศที่ดีควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ ปัจจุบันบึงละหานได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรี พุทธศักราช 2543 ครอลคลุมพื่นที่ 4 ตำบลในอำเภอ จัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ ตำบลละหาน ตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลลุ่มลำชี
  • พระธาตุเจดีย์ศิริมหามงคล (พระธาตุจัตุรัส) ตั้งอยู่ที่ วัดศิริพงษาวาส ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ มีอุโบสถเป็นรูปเจดีย์ ยอดพระธาตุเจดีย์บรรจุพระธาตุ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

ตัวอำเภอ

บริเวณตัวเมืองจัตุรัส จะครอบคลุมพื้นที่ 2 ชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งอดีตคือตัวเมืองสี่มุม ปัจจุบันแบ่งเขตพื้นที่การบริหารออกเป็น เทศบาลตำบล 2 แห่ง ได้แก่

  1. เทศบาลตำบลจัตุรัส ชุมชนบ้านกอก (เมืองจัตุรัส) ย่านเศรษฐกิจหลัก เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการอำเภอจัตุรัส ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจภูธร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ชัยภูมิ สำนักงานสาธารณุขอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ห้องสมุดประชาชน"เฉลิมราชกุมารี" ศาลเจ้าพ่อหลวงบรรเทา (ศาลหลักเมืองจัตุรัส) พระธาตุเจย์ดีศิริมหามงคล (พระธาตุจัตุรัส วัดศิริพงษาวาส) สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ สถานีรถไฟจัตุรัส ห้างสรรพสินค้าโลตัส ตลาดสดเทศบาลตำบลจัตุรัส เป็นต้น
  2. เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ ชุมชนหนองบัวใหญ่ (เมืองสี่มุม) ย่านเศรษฐกิจรอง เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการบางส่วนของอำเภอจัตุรัส ได้แก่ โรงพยาบาลจัตุรัส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค ศาลเจ้าพ่อพระยานรินทร์สงคราม (เจ้าเมืองสี่มุม) วัดปทุมชาติ (วัดแห่งแรกสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองสี่มุม) ตลาดชุมชนตำบลหนองบัวใหญ่ เป็นต้น

ชาวอำเภอจัตุรัสที่มีชื่อเสียง

  • พิมพา พรศิริ นักร้อง หมอลำ
  • พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23
  • อติรุจ สิงหอำพล ดารา นักแสดง
  • สายัณห์ นิรันดร นักร้อง ลูกทุ่ง
  • ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ อดีต ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • สุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา
  • สุเมธ กลมเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน

อ้างอิง

  1. https://district.cdd.go.th/chatturat/about-us/ประวัติความเป็นมา/ เก็บถาวร 2020-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER31/DRAWER011/GENERAL/DATA0000/00000004.PDF เก็บถาวร 2023-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น

ตัวอย่างการอ้างอิง

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/A/89.PDF
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/348.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/1938.PDF
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2507/D/046/1486.PDF
  9. คำเตือนการอ้างอิง: <ref> tag with name :1 cannot be previewed because it is defined outside the current section or not defined at all.
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2513/D/083/2430.PDF
  11. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/D/121/1999.PDF
  12. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/070/1902.PDF
  13. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  15. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/D/171/3362.PDF
  16. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/125/2613.PDF
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  18. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2527/D/121/3095.PDF
  19. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2528/D/175/10.PDF
  20. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/D/175/10.PDF
  21. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/A/278/33.PDF
  22. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/D/151/8343.PDF
  23. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  24. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  25. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.
  26. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.