อินาริซูชิ

อินาริซูชิ
ประเภทอาหารจากเต้าหู้
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ภูมิภาคคันโต และคันไซ
ส่วนผสมหลักเต้าหู้ทอด (อาบุราอาเงะ)
อินาริซูชิทรงก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบคันโต
อินาริซูชิทรงสามเหลี่ยมแบบคันไซ

อินาริซูชิ หรือ ซูชิเต้าหู้หวาน[1] (ญี่ปุ่น: 稲荷寿司) เป็นซูชิที่ห่อด้วยเต้าหู้ทอดแบบบาง โดยทั่วไปใส่ข้าวซูชิเพียงอย่างเดียว ชื่อของอินาริซูชินี้ได้รับการเล่าขานจากนิทานพื้นบ้านว่าตั้งชื่อตามอินาริ เทพเจ้าในลัทธิชินโต เชื่อกันว่าสุนัขจิ้งจอกผู้ส่งสารแห่งเทพอินาริชื่นชอบเต้าหู้ทอดนี้ และยังสันนิษฐานว่าการห่ออินาริซูชิให้มีมุมแหลมคล้ายหูของสุนัขจิ้งจอก[2] รูปแบบอื่นที่คล้ายกันในภูมิภาคได้แก่ ฟุคุสะซูชิ หรือ ฉะคินซูชิ (帛紗寿司 หรือ 茶巾寿司) ซูชิที่ห่อด้วยไข่เจียวบาง ๆ แทนเต้าหู้ทอด

อินาริซูชิไม่เหมือนกับอินาริมากิ ซึ่งเป็นซูชิม้วนที่มีไส้เต้าหู้ทอดปรุงรส อินาริซูชิมักขายในรูปของโอคาซึยะ (อาหารสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่น) และมักเป็นส่วนประกอบของกล่องเบ็นโต[3][4][5][6]

ภาพรวม

ร้านอินาริซูชิ ในช่วงปลายยุคเอโดะ (พิพิธภัณฑ์ฟุคางาวะเอโดะ)

อินาริซูชิ เป็นซูชิที่ห่อ[7] ด้วยเต้าหู้ทอดแบบบางที่เรียก อาบุราอาเงะ[8] โดยเปิดก้อนเต้าหู้ที่ทอดแล้วให้เป็นถุง แล้วนำไปปรุงรสด้วยโชยุ[1] หรือต้มในน้ำที่ปรุงรสหวานหรือเผ็ด[9] จากนั้นยัดไส้ด้วยข้าวซูชิ (酢飯; ข้าวปรุงด้วยน้ำส้มสายชู) เพียงอย่างเดียวในแบบธรรมดา หรือผสมด้วยอาหารปรุงสุกจากการต้มอย่างอื่นในข้าวที่ยัดไส้ เช่น งาดำ แคร์รอตและเห็ดหอม[7][9]

ชื่อ อินาริ นี้ได้รับการเล่าขานจากนิทานพื้นบ้านว่าตั้งชื่อตามเทพเจ้าอินาริแห่งศาลเจ้าอินาริ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารและข้าว และความเจริญรุ่งเรือง ที่ศาลเจ้าอินาริ (อินาริจินจะ) ทั่วประเทศมักมีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกที่เปรียบเสมือนสัตว์ผู้รับใช้เทพอินาริประดับอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเซ่นไหว้ด้วยอาบุราอาเงะหรืออินาริซูชิ ตามตำนานเล่าว่าสุนัขจิ้งจอกชอบกินหนูทอด แต่การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ทำให้เริ่มใช้ถั่วเหลืองในการทำอาบุราอาเงะขึ้นมา หลังจากนั้นได้เริ่มมีการใส่ข้าวที่เชื่อว่าได้มาจากอานิสงส์ของเทพอินาริลงไปด้วย ทำให้บ้างก็เรียกกันว่าอินาริซูชิ บางคนเรียกว่าโออินาริซัง หรือคิตสึเนะซูชิ (คิตสึเนะ แปลว่า สุนัขจิ้งจอก) และเป็นที่คุ้นเคยกันในหมู่คนญี่ปุ่นมาตั้งแต่ญี่ปุ่นในสมัยโบราณ[9]

ลักษณะโดยทั่วไป รูปทรงของก้อนอินาริซูชิแบ่งเป็นตามภูมิภาค เช่น แบบก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือทรงกระบอกคล้ายกระสอบแบบคันโต และแบบสามเหลี่ยมแบบคันไซ ซึ่งสามารถมองเห็นข้าวซูชิได้จากด้านล่าง ลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมนี้ ว่ากันว่ามาจากรูปทรงของหูสุนัขจิ้งจอกบ้าง หรือภูเขาอินาริ ที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าฟูจิมิอินาริไทฉะที่เกียวโตบ้าง[9]

มักไม่ค่อยพบอินาริซูชิในร้านซูชิระดับภัตตาคาร แต่มักเป็นอาหารราคาถูกยอดนิยมในร้านอาหารข้างทาง เช่น ร้านซูชิสายพานและร้านซูชิแบบซื้อกลับบ้าน อินาริซูชิเป็นสินค้าพื้นฐานที่พบบ่อยในร้านขายอาหารสำเร็จรูป ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อในย่านการค้า และมักจะปรากฏในกล่องอาหารกลางวัน (เบ็นโต) ที่ทำจากบ้าน[8]

ประวัติ

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เกี่ยวกับอินาริซูชิ คือ สารานุกรม "ร่างแห่งพรหมจรรย์" (守貞謾稿; คิตางาวะโมริซาดะ) เขียนขึ้นในช่วงสิ้นสุดยุคเอโดะในญี่ปุ่น อธิบายไว้ว่า

"ในปีสุดท้ายของเทนโป (ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งคือช่วงกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1844 ถึงมกราคม ค.ศ. 1845 ในปฏิทินสมัยใหม่) เต้าหู้ทอดชิ้นหนึ่งถูกตัดเป็นถุงและยัดไส้ข้าวที่ผสมด้วยบวบแห้งหั่นเป็นชิ้น แล้วขายเป็นซูชิ ..ทั้งอินาริซูชิ หรือ ชิโนดะซูชิ ตั้งชื่อตามสุนัขจิ้งจอก และโนโดริ (ชื่ออื่นสำหรับจิ้งจอก) เพราะว่าสุนัขจิ้งจอกชอบเต้าหู้ทอด (อินาริซูชิ) ..เป็นซูชิที่แพงที่สุด ..ในอดีตมีขายในเมืองเช่น นาโกย่า ในเอโดะมี (อินาริซูชิ) ขายตามร้านก่อนหน้าปีเท็นโปไหม"

"เท็นกอน โคคิ" (天言筆記; หนังสือที่เขียนขึ้นในยุคเมจิ) กล่าวว่าเต้าหู้ถูกยัดไส้ด้วยข้าวและกินด้วยซอสวาซาบิ และเรียกอีกอย่างว่า "ฮานะฮาดะ ชิตะ นาโอะ" (はなはだ下直) ซึ่งเป็นซูชิราคาถูก

ภาพประกอบใน "เคียวคะ โกอุ" (近世商売尽狂歌合; ค.ศ. 1852 (ปีคาเออิ ที่ 5)) แสดงถึงแผงขายอินาริซูชิที่ยาวและแคบซึ่งไม่มีให้เห็นในปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "รู้จัก อินาริซูชิ (Inari sushi) : ซูชิเต้าหู้หวาน คืออะไร". Chill Chill Japan.
  2. Smyers, Karen Ann. The Fox and the Jewel: Shared and Private Meanings in Contemporary Japanese Inari Worship(1999), Honolulu: University of Hawaii Press, p. 96.
  3. Ann Kondo Corum, Ethnic Foods of Hawaii (2000). Bess Press: p. 54.
  4. Betty Shimabukuro, "Yama's Fish Market offers more than fish เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (March 20, 2002). Honolulu Star-Bulletin.
  5. Joan Namkoong, Go Home, Cook Rice: A Guide to Buying and Cooking the Fresh Foods of Hawaii (2001). Ness Press: p. 8.
  6. Joan Namkoong, Food Lover's Guide to Honolulu (2006), Bess Press, p. 37.
  7. 7.0 7.1 本山荻舟『飲食事典』(平凡社、1958年12月25日発行) p37
  8. 8.0 8.1 "Nipponkitchen: อินาริซูชิ (Inarizushi)". Nipponkitchen.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 MATCHA. "สารานุกรมคำญี่ปุ่น「อินาริซูชิ」". MATCHA เว็บไซต์แม็กกาซีนแนะนำการท่องเที่ยวญี่ปุ่น.