อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
น้ำตกคลองสมอกล้วย
ที่ตั้งจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดตาก
ประเทศไทย
พิกัด16°24′43″N 99°09′00″E / 16.412°N 99.15°E / 16.412; 99.15[1]
พื้นที่747 km2 (288 sq mi)
จัดตั้งพ.ศ. 2533

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นอุทยานแห่งชาติในจังหวัดกำแพงเพชรและตาก ประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประกอบด้วยภูเขาซับซ้อนทางทิศเหนือและใต้ มีพื้นที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ เนื้อที่ประมาณ 3.2-8 ตารางกิโลเมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานคือยอดเขาเย็น ความสูง 1,898 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ขณะที่ความสูงโดยเฉลี่ยของเขตอุทยานอยู่ที่ 300-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำปิง[2] โดยครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังเจ้าและอำเภอพบพระของจังหวัดตาก และครอบคลุมพื้นที่อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอคลองลาน ของจังหวัดกำแพงเพชร

น้ำตกที่สำคัญภายในอุทยาน เช่น น้ำตกเต่าดำ ซึ่งเป็นน้ำตก 3 ชั้น ความสูง 200 เมตร, น้ำตกคลองวังเจ้า ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน, น้ำตกคลองสมอกล้วย ที่มีน้ำสีเหลือง และน้ำตกเขาเย็น ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงสุดในอุทยาน เป็นต้น[2]

สถานที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ปากคลองนาคีรี เป็นแก่งน้ำธรรมชาติจุดรวมคลองนาคีรีและคลองวังเจ้า, โป่งแก๊สธรรมชาติ บ่อน้ำร้อนอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า, ถ้ำเทพพนม ถ้ำหินงอกหินย้อยอันเป็นที่อาศัยของค้างคาว และสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดกำแพงเพชรและตาก[3] เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างบริเวณเขตเทือกเขาภาคตะวันตกกับบริเวณขอบที่ราบภาคกลาง สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ที่ราบอยู่ทางตอนกลางพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่างกะทะขนาดเล็ก จำนวน 2 แอ่ง พื้นที่ 2,000-5,000 ไร่ แนวเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ เขาเย็น เขาสน เขาเต่าดำ เขาขนุน เขาขาแล้ง เขาอีโละโคะ เขาวังเจ้า เขาปั๋งใหญ่ ดอยลวก และเขาวุ๊งกะสัง เป็นต้น ความสูงของพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,898 เมตรโดยมียอดเขาเย็นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่สูงที่สุด พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วย 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำคลองวังเจ้า ประกอบด้วย คลองแม่ยะมา คลองวังเจ้า คลองขุนหมาก คลองแขยง และลุ่มน้ำคลองสวนหมาก ประกอบด้วย คลองไพร คลองวุ๊งกะสัง คลองพลู คลองอีหมี คลองส้มโอ คลองปั๋งใหญ่ คลองสวนหมาก คลองเต่าดำ คลองผู้ใหญ่เลา คลองนายปู คลองขาแข้ง คลองจำปา คลองตะเนาะ และคลองปางขบ เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ทำให้มีความชื้นในอากาศสูง มีเมฆมาก ฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,318 มิลลิเมตรต่อปี และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีอากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มีอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส และช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างลมมรสุมทั้งสอง อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 36 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส

ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าปกคลุมด้วยพื้นที่ป่า 5 ชนิด ประกอบด้วย

  • ป่าเบญจพรรณ เป็นสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุดประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ พบกระจายตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 200-1,000 เมตร ชนิดไม้ที่พบได้แก่ สัก รกฟ้า แดง ประดู่ และ มะกอกเกลื้อน รักใหญ่ เสลา โมกมัน สะทิบ กางขี้มอด ปอตูบหูช้าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไผ่ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ เป็นต้น เป็นแหล่งอาศัยและหลบภัยของ กระทิง เก้ง กวางป่า เสือปลา หมูป่า สัตว์ฟันแทะต่างๆ และ ไก่ป่า เป็นต้น
  • ป่าดิบเขา พบกระจายบนเขาสูงชันทางด้านทิศตะวันตก ตลอดแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อใบเลื่อม ฝาละมี ค่าหด สารภีดอย พะวา โพบาย ก่อหม่น ทะโล้ ฯลฯ พืชพื้นล่างค่อนข้างแน่นทึบ เช่น เฟิร์น ปอ กระวาน อ้อ แขม หวาย เป็นต้น มีสัตว์ขนาดใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ในบางฤดู เช่น กระทิง และยังมีสัตว์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ เช่น กระรอกบินเล็กแก้มขาว กระรอกบินจิ๋วท้องขาว นกพญาไฟใหญ่ นกพญาไฟเล็ก นกไต่ไม้ท้องสีเม็ดมะขาม เป็นต้น
  • ป่าเต็งรัง พบกระจายเป็นหย่อมๆ ตามบริเวณยอดเขาหรือเนินเขาเตี้ยๆ ทางด้านตะวันออกและตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ ในระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตร ชนิดไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กระท่อมหมู ก่อนก ก่อแพะ ส้านใหญ่ มะม่วงหัวแมงวัน ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบเป็นจำพวกหญ้า เช่น หญ้าเพ็ก โจด หญ้าคา หญ้าหนวดฤาษีเล็ก เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ หมูป่า เก้ง ตะกวด เต่าเหลือง เป็นต้น
  • ป่าสนเขา พบกระจายเป็นหย่อมๆ ตามแนวสันเขาและบนยอดเขาบริเวณตอนกลางตามแนวเหนือ-ใต้ ที่ระดับความสูงประมาณ 900-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่พบได้แก่ สนสามใบ มะก่อ ทะโล้ สารภีดอย ตำเสาหนู เป็นต้น

มีสัตว์ป่าเข้าไปใช้ประโยชน์บางฤดู เช่น เลียงผา หมูป่า ลิงกัง ชะมดแผงหางปล้อง เม่นเล็กหางพวง หนูฟานเหลือง เป็นต้น บริเวณแหล่งน้ำและลำคลองต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ นกเงือกกรามช้าง นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ นกกะเต็นหัวดำ นกเป็ดผีเล็ก เขียดว้าก กบหนอง กบห้วยขาปุ่ม อึ่งกรายห้วยเล็ก กบทูด อึ่งขาคำ จงโคร่ง อึ่งน้ำเต้า อึ่งอ่างก้นขีด คางคกแคระ เขียดจะนา ปลาจาด ปลาซิวควายแถบดำ ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาพลวงหิน ปลาแขยงหิน ปลาช่อน ปลาสลาด ปลากด เป็นต้น

อ้างอิง