ฮนเด็ง
ฮนเด็ง (ญี่ปุ่น: 本殿) หรือชื่ออื่น ๆ คือ ชินเด็ง (ญี่ปุ่น: 神殿; โรมาจิ: shinden), โชเด็ง (ญี่ปุ่น: 昇殿; โรมาจิ: shōden ใช้เรียกของศาลเจ้าอิเซะ) หมายถึงอาคารที่ได้รับการเคาระสูงสุดในศาลเจ้าชินโต มีเป้าหมายเดียวเพื่อประดิษฐานคามิ ซึ่งมักตั้งกระจกหรือรูปเคารพเป็นสัญลักษณ์ถึงคามิที่สถิตในฮนเด็งนั้น[1][2] โดยทั่วไปแล้ว ฮนเด็งเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ด้านในสุดของศาลเจ้า และไม่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปได้ชม[3] ด้านหน้าของฮนเด็งมักเป็น “ไฮเด็ง” ซึ่งมักเชื่อมกับฮนเด็งโดยมี “เฮเด็ง” หรือโถงถวายเครื่องสักการะคั่นไว้[4]
ฮนเด็งถือเป็นอาคารหัวใจหลักของหมู่อาคารศาลเจ้า มักเชื่อมต่อกับอาคารหลังอื่น ๆ ในศาลเจ้า และมักยกพื้นให้สูงกว่าอาคารอื่น รั้วที่กั้นบริเวณฮนเด็งออกจากภายนอกเรียกว่า “ทามางากิ” (ญี่ปุ่น: 玉垣; โรมาจิ: tamagaki) ตัวอาคารฮนเด็งมักมีขนาดเล็กและมักปิดประตูไว้ตลอดปี จะมีเปิดประตูเพียงตอนที่นักบวช (คันนูชิ) เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในเทศกาลทางศาสนา (มัตซึริ) เท่านั้น[1] ตัวพิธีกรรมเปิดประตูของฮนเด็งนี้ก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของศาลเจ้าชินโต[3] ภายในฮนเด็งนั้นประดิษฐาน โก-ชินไต (ญี่ปุ่น: 御神体; โรมาจิ: Gō-Shintai) ซึ่งความหมายตรงตัวว่า “ชิ้นส่วนศักดิ์สิทธิ์ของคามิ” อย่างไรก็ตามไม่ได้ถือว่าโก-ชินไตเป็นเทพเจ้า แต่เป็นที่ตั้งประดิษฐานคามิเท่านั้น[5]
ถึงฮนเด็งจะสำคัญมาก แต่ในบางครั้งก็อาจไม่มีฮนเด็งในศาลเจ้าเลยก็ได้ เช่นกรณีศาลเจ้าที่บูชาคามิประจำภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกนั้น ก็ไม่ต้องมีฮนเด็ง หรือกรณีที่ใช้เชือกศักดิ์สิทธิ์ล้อมบริเวณที่สถิตคามิไว้ (ฮิโมโรงิ), มีวัตถุตัวแทนอื่น (โยริชิโระ) ที่เชื่อมถึงคามิได้ชัดเจนกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างฮนเด็ง[3] ตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าโอมิวะบนภูเขามิวะ ในเมืองนาระนั้นไม่มีทั้งฮนเด็งหรือรูปเคารพใด ๆ เพราะศาลเจ้านี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาภูเขามิวะ สถานที่ตั้งของศาลเจ้าโดยตัวเองอยู่แล้ว[6][7] ศาลเจ้าโอมิวะจึงมีเพียงไฮเด็ง แต่ไม่มีฮนเด็ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าศาลเจ้าชินโตในยุคแรก ๆ ก็อาจมีรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน[7]
อ้างอิง
บรรณานุกรม
- Tamura, Yoshiro (2000). "The Birth of the Japanese nation in". Japanese Buddhism - A Cultural History (First ed.). Tokyo: Kosei Publishing Company. p. 232 pages. ISBN 4-333-01684-3.
- "Honden". JAANUS. สืบค้นเมื่อ 2008-12-19.
- Mori, Mizue (2005-06-02). "Honden". Encyclopedia of Shinto. Kokugakuin University. สืบค้นเมื่อ 2008-12-19.
- Smyers, Karen Ann (1999). The Fox and the Jewel: Shared and Private Meanings in Contemporary Japanese Inari Worship. Honolulu: University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-2102-5. OCLC 231775156.