ฮันส์ เบเทอ

ฮันส์ อัลเบร็ชท์ เบเทอ
เกิด2 กรกฎาคม ค.ศ. 1906
ชตราสบวร์ค จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต6 มีนาคม ค.ศ. 2005 (98 ปี)
รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
สัญชาติเยอรมันและอเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต
มหาวิทยาลัยมิวนิก
อาชีพนักฟิสิกส์นิวเคลียร์
อาจารย์มหาวิทยาลัย
ลายมือชื่อ

ฮันส์ อัลเบร็ชท์ เบเทอ (เยอรมัน: Hans Albrecht Bethe) เป็นนักฟิสิกส์นิวเคลียร์สัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน เขาเป็นบุคคลสำคัญของวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม และฟิสิกส์ของแข็ง เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1967 จากผลงานทฤษฎีการสังเคราะห์นิวเคลียสของดาวฤกษ์[1][2]

เมื่อเบเทอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ไม่นาน เขาก็ได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ใน ค.ศ. 1929 ทุนนี้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 150 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เขาเลือกไปทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการคาเวนดิชแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[3] ต่อมาใน ค.ศ. 1932 เขาได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี[4][5] อย่างไรก็ตาม เมื่อนาซีเรืองอำนาจใน ค.ศ. 1933 เบเทอซึ่งมีเชื้อสายยิวได้ถูกไล่ออกจากงาน เขาย้ายออกจากเยอรมนีไปยังอังกฤษ โดยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ช่วงสั้น ๆ[6] ก่อนที่จะย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1935 โดยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาทำงานเป็นหัวหน้าแผนกทฤษฎีที่ห้องปฏิบัติการลอสแอลามอส อันเป็นห้องแลปลับซึ่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกขึ้น เขามีส่วนสำคัญในการคำนวณมวลวิกฤตของอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการทดลองทรินิตีและการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ต่อมาภายหลังสงคราม เขาได้ร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์คนอื่น ๆ แสดงจุดยืนต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ตลอดจนต่อต้านการแข่งขันสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น เขาเป็นผู้โน้มน้าวรัฐบาลสหรัฐลงนามในสนธิสัญญาระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ค.ศ. 1963 กับสหภาพโซเวียต และสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธทิ้งตัว ค.ศ. 1972

อ้างอิง

  1. Lee, S.; Brown, G. E. (2007). "Hans Albrecht Bethe. 2 July 1906 -- 6 March 2005: Elected ForMemRS 1957". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 53: 1. doi:10.1098/rsbm.2007.0018.
  2. Horgan, John (1992). "Illuminator of the Stars". Scientific American. 267 (4): 32. Bibcode:1992SciAm.267d..32H. doi:10.1038/scientificamerican1092-32.
  3. Schweber 2012, pp. 182–183.
  4. Bernstein 1980, p. 33.
  5. Schweber 2012, pp. 223–224.
  6. Bernstein 1980, p. 35.