ฮานะชิรุซาโตะ

ดอกส้มทาจิบานะ
ผลส้มทะจิบะนะ

ฮานะชิรุซาโตะ (ญี่ปุ่น: 花散里โรมาจิHana Chiru Sato; ท่านหญิงดอกส้ม) เป็นบทที่ 11 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท บทที่ 11 นี้เป็นบทสั้นๆ บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงเวลา ที่หนึ่งทับซ้อนอยู่ในบท ซะคะกิ

ที่มาของชื่อบท ฮานะชิรุซาโตะ

ฮานะชิรุซาโตะ ( 花散里 ) แปลตามตัวอักษรว่า เรือนที่กลีบดอกไม้ร่วงโปรยปราย ดอกไม้ที่กล่าวถึงในบท ฮะนะจิรุซะโตะ คือ ดอกส้มทะจิบะนะ

ทาจิบานะ (橘) เป็นพืชตระกูลส้มชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิชาการ ว่า Citrus tachibana มีชื่ออื่นๆว่า ยะมะโตะทะจิบะนะ หรือ นิปปงทะจิบะนะ มีดอกสีขาวเกสรเหลือง ผลมีขนาดเล็ก รสเปรี้ยวจัด ไม่เหมาะจะนำมารับประทาน[1]

ตัวละครหลักในบท

  • เก็นจิ  : อายุ 25
  • สตรีในคฤหาสน์แถบแม่น้ำนะคะงะวะ
  • พระชายาตำหนักเรเค ( เรเคเด็ง )  : พระชายาในอดีตจักรพรรดิคิริสึโบะอินผู้ล่วงลับ
  • ฮะนะจิรุซะโตะ  : น้องสาวของพระชายาตำหนักเรเค
  • โคะเระมิตสึ  : คนสนิทและพี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ

เรื่องย่อ

ต้นฤดูร้อนเช่นนี้ วันที่ฟ้าใสไร้ฝนพรำเช่นวันนี้ ช่างหาได้ยากยิ่ง เก็นจิผู้หม่นหมองจากการถูกอดีตจักรพรรดินีฟุจิตสึโบะหบเลี่ยงไม่พบเจอ จึงถือโอกาสถือโอกาสแวะเยี่ยมเยียนพระชายาตำหนักเรเค ( เรเคเด็ง ) ในอดีตจักรพรรดิคิริสึโบะอิน แท้จริงแล้วจุดประสงค์ในการเยี่ยมเยืยนครั้งนี้ คือการไปพบคู่รักของเขา ซึ่งนางเป็นน้องสาวของพระชายาตำหนักเรเคที่เขาเคยคบหากับนางมีครั้นนางยังอยู่ในวังหลวง แม้จะไม่พบกันบ่อยนักก็ตาม ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงคฤหาสน์ของพระชายาตำหนักเรเคนั้น นกโฮะโตะโตะงิสุ (นกคัดคูเล็ก)ร้องเซ็งแซ่ที่หน้าคฤหาสน์เล็กๆแถบนะคะงะวะ เก็นจิพลันจำได้ว่า นี่คือบ้านของอดีตชู้รักคนหนึ่งของเขาที่ร้างราความสัมพันธ์ ไม่ได้พบกันเป็นเวลานานแล้ว จึงส่งโคะเระมิตสึไปถามไถ่ ว่านางว่างที่จะพบเขาไหม คนของนางบอกปัดเขา ทำเป็นจำไม่ได้ ที่แท้ ด้วยการร้างราไม่มาพบหน้าเป็นเวลานาน นางอาจจะจะกำลังต้อนรับคู่รักคนใหม่อยู่ภายในคฤหาสน์ก็เป็นได้ เก็นจิจึงมุ่งไปยังจุดหมาย ณ คฤหาสน์ของพระชายาตำหนักเรเค คฤหาสน์ของนางโดดเดี่ยวและเงียบสงบอย่างที่เขาคาดไว้ ปกติยามที่พระราชบิดาของเขายังมีพระชนม์ชีพ ก็มิได้รับใคร่โปรดปรานนางเท่าไหร่นั้น พระองค์เพียงชมว่า นางนั้นอ่อนโยนมากเท่านั้นเอง บัดนี้ยามสิ้นพระราชบิดา ชีวิตของนางย่อมหงอยเหงาไร้ผู้เยี่ยมเยือนไปมาหาสู่มากขึ้นกว่าเดิม เฉกเช่นเก็นจิ ในยามสิ้นบารมีพระราชบิดาเช่นกัน เขาสนทนากับนางเรื่องความหลังจนดึกดื่น ต้นไม้สูงๆในสวนยิ่งดูมืดมนลงอีกภายใต้แสงจันทรเดือน 8 ค่ำ กลิ่นดอกส้มหอมฟุ้งกรุ่นมาจากสวน ชวนให้ระลึกถึงอดีตที่ผ่านพ้น เสียงนกโฮะโตะโตะงิสุ (นกคัดคูเล็ก )ร้อง นี่คงจะเป็นนกตัวเดียวกับเมื่อครู่ หลังจากสนทนากับพระชายาตำหนักเรเคจนเป็นที่พอใจแล้ว เขาก็เข้าพบกับน้องสาวของพระชายาตำหนักเรเค แรกนางอาจจะแสนงอน เพราะเก็นจิไม่มาพบเป็นเวลานานแล้ว แต่เก็นชิเป็นชายที่มีวาจาอ่อนโยนเสมอตรงเสมอปลาย อีกทั้งรูปโฉมยังงามสง่ายิ่ง ทั้งสองสนทนากันจนนางคลายความขุ่นเคือง นางเป็นสตรีผู้อ่อนโยนที่ยินดีต้อนรับเขาเสมอไม่ว่ายามรุ่งเรืองหรือตกอับ เพราะดอกส้มทะจิบะนะที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นกำจายไปทั่วในยามนั้น เขาจึงเรียกนางว่า ฮะนะจิรุซะโตะ ท่านหญิงดอกส้ม[2]

นกโฮะโตะโตะงิสุ และ ดอกทะจิบะนะ

นกโฮะโตะโตะงิสุ

ในกวีแบบญี่ปุ่นนั้น นกโฮะโตะโตะงิสุ ( ほととぎす Hototogisu ) หรือ นกคัดคูเล็ก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lesser Cuckoo (Cuculus poliocephalus) กับ ดอกส้มทะจิบะนะ นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หากนกดุเหว่าและดอกส้มทะจิบะนะปรากฏในกวี จะมีความหมายแฝงสื่อถึง ความทรงจำครั้งเก่าก่อน[3]


ศึกษาเพิ่มเติม

อ้างอิง

  1. " ทะจิบะนะ". วิกีพีเดียภาษาญี่ปุ่น.
  2. "ฮะนะจิรุซะโตะ".The Tale of Genji .Unesco Global Heritage Pavilion.
  3. The Tale of GENJI,Murasaki Shikibu, เป็นเป็นภาษาอังกฤษโดย Kencho Suematsu, สำนักพิมพ์ TUTTLE,ค.ศ.1974, หน้า 173