เจ้าหญิงมารี-หลุยส์แห่งมาดากัสการ์
มารี-หลุยส์ | |
---|---|
![]() เจ้าหญิงมารี-หลุยส์เมื่อ ค.ศ. 1901 | |
ประสูติ | 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 แซ็ง-เดอนี เรอูว์นียง |
สิ้นพระชนม์ | 18 มกราคม ค.ศ. 1948 จังหวัดลัวแร แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 | (50 ปี)
พระสวามี | อ็องเดร บอซาร์ (หย่า) |
ราชวงศ์ | ฮูฟา |
พระมารดา | เจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ราซาฟินเกรีเอฟู (อักษรโรมัน: Marie-Louise Razafinkeriefo; 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 – 18 มกราคม ค.ศ. 1948) หรือ มารี-หลยุส์ ราซาฟีนันดรีอามานีตรา (Marie-Louise Razafinandriamanitra) เป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานและรัชทายาทที่ได้รับสมมุติของอาณาจักรมาดากัสการ์ พระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชปนัดดาและเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของมาดากัสการ์
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาล รัฐบาลฝรั่งเศสจึงมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์เป็นบำเหน็จความดี
ประวัติ
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ประสูติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 ณ โรงแรมยุโรป (Hotel de l'Europe) เมืองแซ็ง-เดอนีในเรอูว์นียง เป็นพระธิดานอกสมรสของเจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา (Razafinandriamanitra) กับทหารชาวฝรั่งเศสไม่ปรากฏนามนายหนึ่ง[1] เป็นพระนัดดาของเจ้าหญิงราเซนดรานูรู และเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ด้วยมีศักดิ์เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี[2][3][4] เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ประสูติช่วงที่พระราชวงศ์มาดากัสการ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศหลังระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก และมาดากัสการ์ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส หลังประสูติกาลได้ห้าวัน พระชนนีก็สิ้นพระชนม์จากพระอาการแทรกซ้อนหลังการคลอดบุตร[5] แม้ครอบครัวของพระองค์จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ แต่เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงรับศีลล้างบาปตามคตินิกายโรมันคาทอลิก ณ อาสนวิหารแซ็ง-เดอนี ทั้งนี้มิได้เกิดขึ้นจากศรัทธา หากแต่เพื่อเอาใจรัฐบาลฝรั่งเศส[6][7] หลังพระชนนีสิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ทรงรับเจ้าหญิงมารี-หลุยส์เป็นพระธิดาบุญธรรม ในฐานะองค์รัชทายาทที่ได้รับสมมติของอาณาจักรมาดากัสการ์ที่ล่มสลายไปแล้ว[8]

หนึ่งเดือนต่อมาได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถและพระราชวงศ์ ไปประทับ ณ เรือนของมาดามเดอวีลเลนทรัว (Madame de Villentroy) ใกล้สถานที่ราชการของฝรั่งเศสในแซ็ง-เดอนี ราชสำนักขนาดน้อยนี้ ประกอบไปด้วยพระราชินี พระราชวงศ์ ราชเลขานุการสองคน คนครัวหนึ่งคน แม่บ้านหนึ่งคน และคนรับใช้อีกจำนวนหนึ่ง[9] พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพที่นั่นได้สองปี ก็ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสส่งไปประทับที่เมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1899 ด้วยเรือกลไฟ แยงซี (Yang-Tse) เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสในซูดาน เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสเกรงว่าการปรากฏพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ในเรอูว์นียง อาจเป็นการปลุกระดมเหล่ากบฏมาลากาซี[10] และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สมเด็จพระราชินีนาถและเหล่าพระราชวงศ์ก็ถูกส่งไปประทับในวิลลาในเมืองแอลเจียร์ แอลจีเรียของฝรั่งเศส[10] แม้พระองค์จะเป็นคริสตัง แต่พระองค์เข้าคริสตจักรปฏิรูปของนิกายโปรเตสแตนต์ในแอลเจียร์กลาง ร่วมกับสมาชิกพระราชวงศ์[11] เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ย้ายไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนมัธยมหญิงแวร์ซาย (Lycée de jeunes filles de Versailles)[12] อันเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระอัยยิกาและพระมารดาบุญธรรม เมื่อ ค.ศ. 1917
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์เสกสมรสกับอ็องเดร บอซาร์ (Andre Bossard) นักวิศวกรรมเกษตรชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1921[13] และหย่าร้างกันโดยไม่มีบุตรธิดา[12] พระองค์ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มากนัก จึงประกอบกิจเป็นพยาบาลเพื่อสร้างรายได้เสริม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์เป็นบำเหน็จความดี จากการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ช่วงสงคราม[12]
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1948 ณ จังหวัดลัวแร แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ พระศพถูกบรรจุ ณ ป่าช้าในมงเทรย (Montreuil)[14]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ฝรั่งเศส :
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นเบญจมาภรณ์[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ Barrier 1996, p. 260.
- ↑ Ela, Mpirenireny (27 February 2014). "dadabe saina gasy par "mpirenireny ela": Barrier Marie-France Ranavalo derniére reine de Madagascar Balland 1996".
- ↑ Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Legros, Jean-Claude. "La " Petite fille du Bon Dieu " au cimetière de Saint-Denis (2)". 7 Lames la Mer.
- ↑ Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "Queens Regnant: Ranavalona III of Madagascar". Historyofroyalwomen.com. 14 July 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2019.
- ↑ http://7lameslamer.net/les-flamboyants-de-l-exil-2eme.html
- ↑ Barrier 1996, pp. 260–266.
- ↑ Barrier 1996, p. 267.
- ↑ 10.0 10.1 Barrier 1996, pp. 269–271.
- ↑ Saillens 1906.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "Madagascar 2". The Royal Ark (site de Christopher Buyers sur les familles royales) (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Barrier 1996, pp. 350.
- ↑ Barrier 1996, p. 358.
- บรรณานุกรม
- Barrier, Marie-France (1996). Ranavalona, dernière reine de Madagascar. Paris: Balland. ISBN 9782715810945. (ฝรั่งเศส)
- Ministère de la marine et des colonies (1884). Revue maritime et coloniale, Volume 81. Paris: Gouvernement de la France. สืบค้นเมื่อ January 27, 2011. (ฝรั่งเศส)
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มารี-หลุยส์ รานาฟาลู
- Smithsonian exhibit of Ranavalona gifts