เซลีนี (ยานอวกาศ)
เซลีนี | |
---|---|
COSPAR ID | 2007-039A |
SATCAT no. | 32054![]() |
ยานอวกาศเซลีนี (อังกฤษ: SELENE; กรีก: Σελήνη หมายถึง ดวงจันทร์) หรือที่รู้จักกันในชื่อ คางุยะ (ญี่ปุ่น: かぐや; โรมาจิ: Kaguya; ทับศัพท์: ชื่อองค์หญิงคางุยะ ผู้ที่มาจากดวงจันทร์ตามตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่น) เป็นยานอวกาศลำที่สองของญี่ปุ่น ที่ส่งขึ้นสู่ดวงจันทร์ ชื่อเซลีนีย่อมาจาก Selenological and Engineering Explorer หรือ ยานสำรวจทางวิศวกรรมและศึกษาดวงจันทร์ ยานถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์ศึกษาอวกาศทะเนะงะชิมะ (種子島宇宙センター, Tanegashima Space Center) จังหวัดคะโงะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลา 01:31:01 น. วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 (UTC) แล่นเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน ยานสำรวจลำนี้มีภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในเชิงธรณีวิทยา ทั้งการกำเนิด วิวัฒนาการ และสภาพของดวงจันทร์ โดยตัวยานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ยานโคจรหลัก และดาวเทียมอีกสองดวงที่มีชื่อว่า "โอกินะ" และ "โออุนะ" ซึ่งมีน้ำหนักเพียงดวงละ 53 กิโลกรัม ยานเซลีนีปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นและถูกปรับวงโคจรให้เข้าชนดวงจันทร์ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 18:25 น. (UTC) บริเวณใกล้หลุมอุกกาบาตกิลล์ (Gill)[1] รวมระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งสิ้น 1 ปี 8 เดือน การส่งยานอวกาศครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการส่งยานอวกาศของโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากโครงการอะพอลโล[2]
จุดมุ่งหมาย
ภารกิจหลักของยานสำรวจดวงจันทร์ลำนี้คือ
- ศึกษาเกี่ยวกับการกำเนิด พัฒนาการทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์
- รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพบนพื้นผิวดวงจันทร์
- ทดลองการส่งคลื่นวิทยุบนวงโคจรของดวงจันทร์
อุปกรณ์
ยานเซลีนีได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการสำรวจทั้งสิ้น 13 ตัว ดังนี้[3]
- กล้องถ่ายภาพภูมิประเทศ (Terrain camera, TC) ความละเอียด 10 เมตรต่อพิกเซล[4]
- เอกซ์เรย์ฟลูออเรสเซนส์ สเปกโตรมิเตอร์ (X-Ray fluorescence spectrometer, XRS)
- แมกนิโทมิเตอร์สำหรับดวงจันทร์ (Lunar magnetometer, LMAG)
- Spectral profiler (SP) (ความละเอียด 562 x 400 เมตร ต่อพิกเซล)
- Multi-band imager (MI) (ความละเอียด — 20 เมตรต่อพิกเซลสำหรับคลื่นแสงที่ตามองเห็น — 62 เมตรต่อพิกเซลสำหรับคลื่นใกล้ย่านอินฟราเรด)
- เลเซอร์อัลติมิเตอร์ (laser altimeter, LALT)
- Lunar radar sounder (LRS)
- สเปกโตรมิเตอร์ตรวจรังสีแกมมา (Gamma ray spectrometer, GRS)
- สเปกโตรมิเตอร์ตรวจอนุภาคมีประจุ (Charged particle spectrometer, CPS)
- เครื่องวิเคราะห์พลาสมา (Plasma analyzer, PACE)
- Upper atmosphere and plasma imager (UPI)
- เครื่องทวนสัญญาณคลื่นวิทยุ (Radio wave repeater, RSAT) ติดตั้งบนดาวเทียม "โอกินะ"
- ต้นทางคลื่นวิทยุสำหรับ VLBI (VRAD) ติดตั้งบนดาวเทียม "โอกินะ" และ "โออุนะ"
อ้างอิง
- ↑ KAGUYA Lunar Impact, องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA).
- ↑ "SELENE: The largest lunar mission since the Apollo program". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-24. สืบค้นเมื่อ 2007-09-15.
- ↑ Kaguya (SELENE), JAXA.
- ↑ LISM [TC, MI, SP], JAXA
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโครงการเซลีนี — ญี่ปุ่น, อังกฤษ
- (อังกฤษ) [https://web.archive.org/web/20100806112815/http://solarsystem.nasa.gov/missions/profile.cfm?Sort=Target&Target=Moon&MCode=Kaguya เก็บถาวร 2010-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการคางุยะ], Solar System Exploration, โดยองค์การนาซา
- (อังกฤษ) [https://web.archive.org/web/20130718094036/http://ltvt.wikispaces.com/Kaguya+Impact เก็บถาวร 2013-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Kaguya Impact — การชนดวงจันทร์ของยานคางุยะ]