เซียมซี
เซียมซี (จีน: 求签) เป็นการทำนายดวงชะตารูปแบบหนึ่งตามธรรมเนียมของจีน โดยการเขย่าภาชนะที่บรรจุหมายเลขที่เขียนไว้บนไม้ไผ่ที่เหลาเป็นซีก โดยไม้ที่หล่นลงมาแท่งแรกจะแสดงหมายเลขที่นำไปตรวจสอบกับคำทำนาย พิธีกรรมเซียมซีมีความแพร่หลายใน ประเทศจีน ประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวัฒนธรรมก็จะมีลักษณะและความเชื่อในการเซียมซีที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย
เชื่อกันว่าเซียมซีถูกคิดค้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชาง และเซียมซีได้เข้ามาในเมืองไทยพร้อมกับคนจีนที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในวัดจีนหรือศาลเจ้า สันนิษฐานว่ามีครั้งแรกในศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี[1]
ในวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น การเซียมซีเรียกว่า โอะมิกุจิ (Omikuji) การเซียมซีนิยมทำในวัดหรือศาลเจ้าชินโตมีลักษณะใกล้เคียงกันแต่เพิ่มขั้นตอนการนำใบเซียมซีผูกไว้ที่วัดหากคำทำนายระบุว่าเป็นโชคไม่ดี เชื่อว่าเป็นการทิ้งโชคไม่ดีไว้ที่วัด[2] นอกจากการเขย่าไม้ติ้วแล้ว ยังมีการสุ่มหยิบใบเซียมซี หรือให้พนักงานของวัดสุ้มใบเซียมซีเช่นกัน
ส่วนประกอบ
เนื้อหาต่อไปนี้ ยึดตามเซียมซีรูปแบบที่พบทั่วไปในวัดในประเทศไทย
- ไม้ติ้ว หรือ แท่งเซียมซี มักทำมาจากไม้ไผ่เหลา ปลายสุดเขียนหมายเลข
- ใบเซียมซี คือใบที่ระบุคำทำนายตามตัวเลขที่ทำนายจากไม้ติ้ว บางแห่งระบุ คำแนะนำในการทำบุญ เลขนำโชค
- ไม้ปวย คือไม้ครึ่งจันทร์เสี้ยวสองแท่งประกบกัน พบในวัดบางแห่ง ใช้ปล่อยให้หล่นลงพื้น จากระดับสายตา หรือเสมอขอบโต๊ะบูชาใช้ประกอบการทำนาย ซึ่งทำนายดังนี้
- หากคว่ำทั้งสอง หมายถึง เซียมซีใบนี้ไม่ใช่ของท่าน ให้เสี่ยงเซียมซีใหม่ตั้งแต่แรกทั้งหมด
- หากหงายทั้งสอง หมายถึง คำถามนี้ท่านน่าจะรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วไม่มีเหตุต้องเซียมซีเพื่อถามหรือทำนาย หรืออาจหมายถึง เชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้แล้วแต่วิจารณญาณ
- หากคว่ำหนึ่งแท่งและหงายอีกแท่งหนึ่ง หมายถึง ถูกต้องแล้ว นี่คือคำทำนายที่ถูกต้อง[3]
การเซียมซีออนไลน์
ในปัจจุบันมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับการเซียมซี โดยมักอ้างเป็นการเสี่ยงเซียมซีตามวัดสำคัญ เช่น วัดหลวงพ่อโสธร วัดหัวลำโพง วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยการเซียมซีนี้จะทำโดยการคลิกเพื่อให้ระบบสุ่มคำทำนายขึ้นมา เหมือนการเขย่าไม้ติ้ว