แก้วมังกร
แก้วมังกร | |
---|---|
ผลแก้วมังกร | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | พืชดอก (Magnoliophyta) |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Cactaceae |
สกุล: | Hylocereus |
แก้วมังกร (อังกฤษ: Dragon fruit) (สกุล Hylocereus) อยู่ในวงศ์ Cactaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับกระบองเพชร มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในเม็กซิโกเข้ามาในเอเชียที่เวียดนามก่อน โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว โดยปลูกมากตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อน[1]ในประเทศไทยมีการปลูกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ซึ่งในระยะแรกผลที่ได้มีรสชาติไม่ค่อยอร่อย แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้มีรสชาติที่ดียิ่งขึ้น[2]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก้วมังกรเป็นไม้เลื้อย มีลำต้นยาวประมาณ 5 เมตร มีรากทั้งในดินและรากอากาศ ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ชอบแสงแดดพอเหมาะ โล่งแจ้ง แต่ไม่แรงเกินไป ดอกสีขาว ขนาดใหญ่กลีบยาวเรียงซ้อนกัน บานตอนกลางคืน ผลแก้วมังกรมีรูปทรงเป็นทรงกลมรี สีของเปลือกผลเมื่อดิบเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นมีสีแดงม่วงหรือสีบานเย็น มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่รอบผล[1] ผลแก้วมังกรส่วนใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 300 - 600 กรัม เมื่อผ่าผลแก้วมังกรจะเห็นเนื้อของผลแก้วมังกรสีขาวหากผลนั้นเป็นแก้วมังกรพันธุ์เวียดนามหรือพันธุ์ไทย และเนื้อผลจะมีสีแดงหรือชมพูเมื่อผลนั้นเป็นพันธุ์เนื้อสีขาวโดยมีเมล็ดสีดำเล็กคล้าย ๆ เม็ดงา หรือเม็ดแมงลักกระจายฝังอยู่ทั่วเนื้อ แก้วมังกรสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมีดังนี้[1]
- พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus undatus (Haw) Brit. & Rose.) เปลือกสีชมพูสด ปลายกลีบสีเขียว รสหวานอมเปรี้ยวหรือหวานจัด
- พันธุ์เนื้อขาวเปลือกเหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus megalanthus) เปลือกสีเหลือง ผลเล็กกว่าพันธุ์อื่น ๆ เนื้อสีขาว เมล็ดขนาดใหญ่และมีน้อยกว่าพันธุ์อื่น รสหวาน
- พันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylocercus costaricensis) หรือพันธุ์คอสตาริกา เปลือกสีแดงจัด ผลเล็กกว่าพันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง แต่รสหวานกว่า
การเพาะปลูก
แก้วมังกรเป็นไม้เลื้อยลำต้นอ่อนจำเป็นต้องมีหลักให้ลำต้นเกาะยึดซึ่งหลักจะเป็นไม้เนื้อแข็งหรือเสาซีเมนต์ก็ได้ ถ้าใช้ท่อซีเมนต์เป็นเสาซึ่งรูปทรงกลมภายในกลวงแต่เทปูนไว้ก้นท่อเพื่อไว้ใส่น้ำหล่อเลี้ยงให้เสามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝังท่อซีเมนต์ลงในดินประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร ต้องสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 – 2 เมตร ด้านบนของเสาทำเป็นร้านให้กิ่งเกาะแผ่ขยายออกไประยะปลูก 3 x 3 เมตร เตรียมหลุมขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร รอบ ๆ หลัก หลักละ 4 หลุม สำหรับปลูกหลุมละ 1 ต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักเก่า 1 ปุ้งกี๋ เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงหลุมแล้วมัดกิ่งพันธุ์ให้แนบหลักและกันแดดให้ 1 – 2 สัปดาห์
ประโยชน์
แก้วมังกรนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เป็นส่วนผสมของฟรุตสลัดหรือปั่นเป็นน้ำผลไม้ เป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานเพื่อบรรเทาอาการโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน[ต้องการอ้างอิง] ตลอดจนช่วยลดความอ้วนเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เป็นผลไม้ที่มีกากใยสูง มีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยทั้งในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยดูดซับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่มากับผัก สารตกค้างเช่นตะกั่ว ที่มาจากควันท่อไอเสียรถยนต์ และสารอื่น ๆ และยังช่วยลดการเกิดมะเร็งอีกด้วย
รวมภาพ
-
ผลแก้วมังกร
-
แก้วมังกรที่ขายในโปแลนด์
-
เนื้อสีขาว เปลือกสีแดง
-
เนื้อสีแดง เปลือกสีแดง
-
เนื้อสีแดง
-
เนื้อสีขาว เปลือกสีเหลือง
-
เนื้อสีชมพู
-
ต้นแก้วมังกร
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. แก้วมังกร ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 37 - 39
- ↑ "แก้วมังกร".ภญ. กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล