แคว้นกาตาลุญญา
กาตาลุญญา Catalunya (กาตาลา) Cataluña (สเปน) Catalonha (อารัน) | |
---|---|
เพลง: อัลส์ซากาโดส | |
แผนที่ประเทศสเปนแสดงที่ตั้งแคว้นกาตาลุญญา | |
พิกัด: 41°49′N 1°28′E / 41.817°N 1.467°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 41°49′N 1°28′E / 41.817°N 1.467°E | |
ประเทศ | สเปน |
ธรรมนูญการปกครองตนเอง | 9 สิงหาคม 2549 (ฉบับปัจจุบัน) |
เมืองหลัก | บาร์เซโลนา |
จังหวัด | ฌิโรนา, ตาร์ราโกนา, บาร์เซโลนา, แยย์ดา |
การปกครอง | |
• ประเภท | รัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจปกครองตนเองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
• องค์กร | ฌานาราลิตัตดากาตาลุญญา |
• ประธาน | กิม โตร์รา |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 32,113 ตร.กม. (12,399 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | ที่ 6 |
ประชากร (2559)[2] | |
• ทั้งหมด | 7,522,596 คน |
• ความหนาแน่น | 230 คน/ตร.กม. (610 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับประชากร | ที่ 2 |
เขตเวลา | UTC+1 (เวลายุโรปกลาง) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (เวลาฤดูร้อนยุโรปกลาง) |
รหัส ISO 3166 | ES-CT |
ภาษาราชการ | ภาษากาตาลา ภาษาสเปน และภาษาอารัน |
นักบุญองค์อุปถัมภ์ | นักบุญจอร์จและแม่พระแห่งมุนซาร์รัต |
สภานิติบัญญัติ | สภานิติบัญญัติกาตาลุญญา |
ที่นั่ง ส.ส. | 47 คน (จากทั้งหมด 350 คน) |
ที่นั่ง ส.ว. | 16 คน (จากทั้งหมด 264 คน) |
เว็บไซต์ | ฌานาราลิตัตดากาตาลุญญา |
กาตาลุญญา (กาตาลา: Catalunya; สเปน: Cataluña) หรือ กาตาลุญญอ (อารัน: Catalonha) เป็นภูมิภาคหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของคาบสมุทรไอบีเรีย ภายใต้รัฐธรรมนูญสเปน กาตาลุญญาได้รับการกำหนดให้เป็น "ชาติทางประวัติศาสตร์" (historical nationality) ตามธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้น[3] กาตาลุญญาประกอบด้วยจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ บาร์เซโลนา, ฌิโรนา, แยย์ดา และตาร์ราโกนา เมืองหลักและเมืองใหญ่ที่สุดในแคว้นคือบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศสเปน (รองจากมาดริด) และเป็นแกนของเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหภาพยุโรป
แคว้นกาตาลุญญามีอาณาเขตจรดประเทศฝรั่งเศสและประเทศอันดอร์ราทางทิศเหนือ จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันออก จรดแคว้นบาเลนเซียและแคว้นอารากอนของประเทศสเปนทางทิศใต้และทิศตะวันตกตามลำดับ พื้นที่ของแคว้นครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของราชรัฐกาตาลุญญาในอดีต (ส่วนที่เหลือกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ภาษาราชการของแคว้นได้แก่ภาษากาตาลา ภาษาสเปน และภาษาอารัน (ภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาอุตซิตา)[4]
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรของชาวแฟรงก์ได้สถาปนาอาณาจักรเคานต์ขึ้นหลายแห่งในบริเวณภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนียและภูมิภาคชายแดนกอเทียเพื่อให้เป็นหน้าด่านป้องกันการรุกรานของชาวมุสลิม ต่อมาบรรดาอาณาจักรเคานต์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของภูมิภาคชายแดนทั้งสองได้รวมกันเป็นดินแดนเดียวภายใต้การปกครองของเคานต์แห่งบาร์เซโลนาซึ่งเป็นข้า (ในระบบเจ้าขุนมูลนาย) ขึ้นกับอาณาจักรชาวแฟรงก์ และต่อมาจะมีชื่อเรียกว่า "กาตาลุญญา" ในปี ค.ศ. 1137 กาตาลุญญาและราชอาณาจักรอารากอนได้รวมตัวกันเป็นราชบัลลังก์อารากอนผ่านการอภิเษกสมรสของผู้ปกครองดินแดนทั้งสอง กาตาลุญญากลายเป็นฐานหลักสำหรับการขยายอำนาจทางทะเลของอารากอนในแถบเมดิเตอร์เรเนียน วรรณกรรมกาตาลาเฟื่องฟูในยุคกลางตอนปลาย ระหว่างปี ค.ศ. 1469–1516 กษัตริย์แห่งราชบัลลังก์อารากอนและสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชบัลลังก์กัสติยาได้อภิเษกสมรสและปกครองอาณาจักรทั้งสองร่วมกัน ทั้งนี้ กัสติยาและอารากอน (ซึ่งรวมกาตาลุญญาไว้ด้วย) ยังคงสถาบัน หน่วยงานนิติบัญญัติ และกฎหมายต่าง ๆ ของตนเองไว้ต่างหาก
ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-สเปน (ค.ศ. 1639–1659) ชาวกาตาลุญญาได้ก่อการกำเริบ (ค.ศ. 1640–1652) เพื่อต่อต้านการปรากฏของกองทัพกัสติยาในพื้นที่ ทบวงการปกครองกาตาลุญญาประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสควบคุมกาตาลุญญาในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อดินแดนนี้ จนกระทั่งกองทัพสเปนพิชิตกาตาลุญญาคืนได้เป็นส่วนใหญ่ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาพิเรนีส ค.ศ. 1659 ซึ่งยุติสงครามฝรั่งเศส-สเปน สเปนตกลงยกพื้นที่ตอนเหนือของกาตาลุญญาให้ฝรั่งเศส (ส่วนใหญ่ถูกผนวกเข้ากับเคาน์ตีรูซียง) ในระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (ค.ศ. 1701–1714) ราชบัลลังก์อารากอนประกาศตนอยู่ฝ่ายต่อต้านพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งราชวงศ์บูร์บง เมื่อฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 ได้ชัยชนะจึงออกกฎหมายเลิกล้มสถาบันและเอกสิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณของอาณาจักรต่าง ๆ ที่เคยต่อต้านฝ่ายตนเอง และแทนที่ภาษาละตินและภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาตาลา) ด้วยภาษากัสติยา (สเปน) ในเอกสารกฎหมาย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กาตาลุญญาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามนโปเลียนและสงครามการ์ลิสต์ แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม จึงเกิดกระแสการฟื้นฟูวัฒนธรรมกาตาลาร่วมกับกระแสชาตินิยม ในขณะเดียวกันก็เกิดขบวนการแรงงานขึ้นมาหลายกลุ่ม และด้วยการกลับมาของระบอบประชาธิปไตยในสมัยสาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939) ทบวงการปกครองกาตาลุญญาก็ได้รับการฟื้นฟูในฐานะฝ่ายบริหารของแคว้นปกครองตนเอง หลังสงครามกลางเมืองสเปน รัฐบาลเผด็จการของฟรันซิสโก ฟรังโก ได้ออกมาตรการกดขี่หลายประการ สถาบันต่าง ๆ ของกาตาลุญญาถูกล้มล้าง มีการสั่งห้ามใช้ภาษากาตาลาเป็นภาษาราชการของแคว้นอีกครั้ง จากคริสต์ทศวรรษ 1950 จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 กาตาลุญญามีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงดึงดูดแรงงานจำนวนมากจากทั่วประเทศสเปนให้เข้ามาทำมาหากิน ทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นเขตมหานครอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปและส่งผลให้กาตาลุญญากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นับตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของสเปน (ค.ศ. 1975–1982) เป็นต้นมา กาตาลุญญาได้รับอิสระทางการเมืองและวัฒนธรรมกลับคืนมาบางส่วน และเป็นแคว้นที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุดแคว้นหนึ่งของสเปนในปัจจุบัน
ในคริสต์ทศวรรษ 2010 มีเสียงสนับสนุนเอกราชของกาตาลุญญามากขึ้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2017 สภานิติบัญญัติกาตาลุญญาประกาศเอกราชฝ่ายเดียวจากสเปนหลังการลงประชามติที่ถูกคัดค้าน วุฒิสภาสเปนจึงมีมติเห็นชอบให้รัฐบาลสเปนใช้มาตรการเข้าปกครองกาตาลุญญาโดยตรง โดยปลดผู้บริหารกาตาลุญญาทั้งคณะออกจากตำแหน่งและกำหนดให้มีการเลือกตั้งระดับแคว้นแบบกะทันหันในวันที่ 21 ธันวาคม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ศาลสูงสุดสเปนสั่งคุมขังอดีตผู้บริหารแคว้น 7 คน ในข้อหากบฏและใช้งบประมาณรัฐในทางมิชอบ ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่น ๆ รวมถึงการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน (ประธานฝ่ายบริหารแคว้นในขณะนั้น) ได้ลี้ภัยไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป (เช่น เบลเยียม ในกรณีของปุดจ์ดาโมน)
นิรุกติศาสตร์
ชื่อของกาตาโลเนีย (ละตินยุคกลาง สะกดว่า Cathalaunia); กาตาลา: Catalunya, สะกดว่า Cathalonia — ได้เริ่มใช้สำหรับบ้านเกิดของชาวกาตาลัน (คาตาลาเนนส์) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 และเคยถูกใช้ก่อนหน้านี้เพื่ออ้างอิงอาณาเขตกับกลุ่มมณฑลที่ประกอบด้วย ภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนีย และภูมิภาคชายแดนโกเธีย ภายใต้การควบคุมของเคานต์แห่งบาร์เซโลนาและรัชทาญาติของเขา[5] ที่มาของชื่อ "กาตาลุญญา" อาจมีการตีความที่หลากหลายเนื่องจากขาดหลักฐาน
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ "Indicadors geogràfics. Superfície, densitat i entitats de població: Catalunya". Statistical Institute of Catalonia. สืบค้นเมื่อ 2015-11-23.
- ↑ "IIdescat. Statistical Yearbook of Catalonia. Population density. Counties and Aran, areas and provinces". www.idescat.cat. สืบค้นเมื่อ 13 July 2017.
- ↑ "First article of the Statute of Autonomy of Catalonia. 'Catalonia, as a nationality, exercises its self-government constituted as an autonomous community...'". Gencat.cat. สืบค้นเมื่อ 13 September 2013.
- ↑ "Statute of Autonomy of Catalonia (2006), Articles 6, 50 - BOPC 224" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 สิงหาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2014.
- ↑ Enciclopèdia Catalana online: Catalunya ("Geral de Cataluign, Raimundi Catalan and Arnal Catalan appear in 1107/1112") (in Catalan) เก็บถาวร 6 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน