แม่ย่านาง
แม่ย่านาง | |
---|---|
ผู้รักษาเรือ | |
แม่ย่านางบนหัวเรือในเทศกาลบุญอมตูก | |
เป็นที่บูชาใน | ศาสนาผี |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทพพื้นเมือง |
เป็นที่นับถือใน | ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว |
แม่ย่านาง (ลาว: (ພະ)ແມ່ຍ່ານາງ, เขมร: ព្រះម៉ែជំនាងទូក) เป็นผีที่ประจำรักษาเรือและพาหนะต่าง ๆ ในคติศาสนาผีและวิญญาณนิยมของประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว มีลักษณะแต่งชุดไทย หรือชุดพื้นเมืองของเขมรและลาว คติการนับถือแม่ย่านางมาจากการนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่ เช่นคติการนับถือพระแม่โพสพและนางกวัก[1] บ้างว่ามาจากม่าจ้อโป๋ในศาสนาชาวบ้านจีน[2]
ที่มา
ในสมัยก่อนใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่มากมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นเรือและพาหนะต่าง ๆ โดยมากนิยมเฉพาะไม้ตะเคียนที่มีเนื้อเหนียวและผุยาก และในต้นไม้พิเศษนี้ตามศาสนาผีและวิญญาณนิยมมีรุกขเทวดาสถิตอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือก็ต้องเชิญนางตะเคียนนั้นมาคุ้มครองเรือและเจ้าของเรือ โดยสถิตอยู่ที่หัวเรือห้ามไม่ให้ผู้ใดเหยียบ และมีเครื่องบูชาเป็นพวงมาลัยหรือผ้าแดงผูกหัวเรือและมีพิธีเซ่นไหว้ตามคติศาสนาผี[3][4][5]
ต่อมามีผู้เชื่อว่าแม่ย่านางเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองยานพาหนะอื่นด้วย เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เป็นต้น โดยสมมติว่าคอนโซลรถยนต์เป็นที่สถิตของแม่ย่านางรถ วิธีบูชามักนำผ้าสามสีและพวงมาลัยมาผูกและแขวนไว้[6]
การบูชา
แม้แม่ย่านางจะมีพื้นฐานมาจากศาสนาผีซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย แต่ก็ได้รับการเคารพนับถือยิ่งโดยเฉพาะในหมู่ชาวประมง ชาวประมงไทย และส่วนใหญ่แต่โบราณเชื่อว่า เรือประมงทุกลำมีแม่ย่านางเรือประทับอยู่ และเมื่อชาวประมงจะออกเรือเพื่อจับปลาทุกครั้งจะต้องเซ่นไหว้แม่ย่านาง เพื่อให้มีสวัสดิมงคลต่อการประกอบอาชีพ และเพื่อให้แม่ย่านางเรือปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดอันตราย (การนับน้ำจะเริ่มนับตั้งแต่ แรม 3 ค่ำ-ขึ้น 11 ค่ำ เรียกว่า 1 น้ำ)
ที่สมุทรสาคร อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีไหว้แม่ย่านางเรือ ได้แก่ ขนมจันอับ เป็ด ปลาหมึกแห้ง เนื้อหมูสามชั้น ข้าว ผลไม้ 3 อย่าง ผ้าสามสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป 1 กำ ดอกไม้ 1 กำ น้ำ 1 ขัน กิ่งทับทิม 1 กำ[7]
ในการประกอบพิธีเจ้าของเรือจะนำขนมอันจับ เป็ด ปลาหมึกแห้ง เนื้อหมูสามชั้น ข้าว ผลไม้ ผ้าสามสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ดอกไม้ น้ำ กิ่งทับทิม ใส่ในถาด นำถาดไปวางที่โขนเรือ แล้วจุดธูป เพื่อกล่าวคำอัญเชิญแม่ย่านางเรือมารับเครื่องเซ่นไหว้ รวมไปถึงขอพรให้คุ้มครองปกปักรักษาจากอันตรายและให้ประสบความเป็นสวัสดิมงคงในการประกอบอาชีพ จากนั้นจึงนำผ้าสามสี ดอกไม้ ธูป ไปผูกที่โขนเรือ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ประพรมน้ำจากขันด้วยกิ่งทับทิมจนทั่วลำเรือ ต่อจากนั้นจึงเริ่มออกเรือ
ชาวประมงเชื่อว่าโขนเรือเป็นที่ประทับของแม่ย่านางเรือ ดังนั้น โขนเรือจึงนับว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเรือ และเป็นเสาเอกของเรือ จึงให้ความเคารพกราบไหว้และห้ามมิให้ผู้ใดเตะ เหยียบ นั่ง ยืน ข้าม หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นที่ลบหลู่ต่อโขนเรือ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากมีผู้ลบหลู่โขนเรือแล้วจะนำความเดือดร้อนและความอับโชคมาสู่เจ้าของเรือและลูกเรือ
วัฒนธรรมร่วมสมัย
คติความเชื่อเรื่องแม่ย่านางจากคติศาสนาผีและวิญญาณนิยมของประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงและมีบทบาทมากใน วรรณคดีไทย เช่น เรื่อง เจ้าหญิงพิกุลทอง[8][9][10] และได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2513 ในชื่อ แม่ย่านาง หลังจากนั้นได้มีการนำกลับมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ใน พ.ศ. 2542 ชื่อ แม่ย่านาง ของ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และได้รับการรีเมคใหม่ซ้ำอีกครั้งในชื่อใหม่ คือ สางนางพราย ใน พ.ศ. 2562 ทาง ช่อง 8
ปัจจุบัน ยังมีความเชื่อว่าแม่ย่านางสามารถสถิตอยู่ในรถยนต์ได้ด้วย โดยมีคำแนะนำในการสวดบูชา เชื่อว่าจะช่วยให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย[11]
อ้างอิง
- ↑ ทิพยประติมา, หน้า 209[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- ↑ https://chobrod.com/tips-car-care/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87-12086
- ↑ https://www.sarakadee.com/2018/02/19/%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%87/
- ↑ https://www.kohkham.com/index.php/tourist-guide/knowledge/knowledge-about-navy/50-%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD.html
- ↑ http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B9%92%E0%B9%94-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2
- ↑ "ตำนานเทพเจ้าจีน "มาจู่" สู่ "แม่ย่านาง" พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จากหัวเรือถึงคอนโซลรถยนต์". ศิลปวัฒนธรรม. 8 January 2021. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้า ๗๒๗๗
- ↑ https://kroobannok.com/blog/18854
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-25. สืบค้นเมื่อ 2022-03-19.
- ↑ http://www.broadcastthai.com/web/index.php?view=story&id=50
- ↑ ""รวมคาถาบูชาแม่ย่านางรถ" สำหรับคนจะถอยรถใหม่ ต้องรู้". คมชัดลึกออนไลน์. 30 July 2021. สืบค้นเมื่อ 23 July 2022.