แรดอินเดีย

แรดอินเดีย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene–Recent
แรดอินเดียที่อุทยานแห่งชาติกาจิรังคา
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มั่นคง (IUCN 3.1)[1]
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Perissodactyla
วงศ์: Rhinocerotidae
สกุล: Rhinoceros
สปีชีส์: R.  unicornis
ชื่อทวินาม
Rhinoceros unicornis
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแรดอินเดีย

แรดอินเดีย จัดเป็นแรด 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่พบได้ในทวีปเอเชีย และเป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดที่พบในทวีปแห่งนี้

ลักษณะ

รอยพับของแผ่นหนังที่หนา ที่เห็นได้ชัดเจน

แรดอินเดียมีขนาดพอ ๆ กับแรดขาวในแอฟริกาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาแรดทั้งหมด เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะตัวใหญ่กว่าเพศเมีย เพศผู้หนัก 2,200-3,000 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 1,600 กิโลกรัม สูง 1.7-2 เมตร อาจยาวถึง 4 เมตร ตัวอย่างที่มีการบันทึกไว้หนักประมาณ 3,500 กิโลกรัม ในสถานที่เลี้ยงมีแรดอินเดีย 4 ตัวเท่าที่ทราบมีอายุมากกว่า 40 ปี แก่สุดมีอายุ 47 ปี[3]

แรดอินเดียมีนอเดียวไม่ว่าเพศผู้หรือเพศเมียแต่แรดแรกเกิดจะไม่มีนอ นอจะเริ่มงอเมื่ออายุ 6 ปี ทั่วไปแล้วนอยาว 25 เซนติเมตร[4] แต่มีบันทึกว่ามีนอยาวถึง 57.2 เซนติเมตร นอโค้งไปด้านหลัง ปกติมีสีดำ ในสถานที่เลี้ยงนอมักหลุดไปเหลือเพียงปุ่มหนาบ่อย ๆ[3]

แรดอินเดียมีหนังหนา ลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้ม หนังมีสีน้ำตาลเงินและเปลี่ยนเป็นสีอมชมพูเมื่อเข้าใกล้รอยพับ มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก เพศผู้มีรอยพับหนาที่คอ ด้านบนขาและไหล่ปกคลุมด้วยปุ่มนูน ลำตัวมีขนเล็กน้อย นอกเหนือไปจากขนตา ขนหู และขนหาง[3]

แรดอินเดีย เป็นแรดนอเดียว มีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากแรดสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ตามลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้มลำตัวไว้ถึง 2 ชั้น บางส่วนหนาถึง 5 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการป้องกันตัวในการต่อสู้และป้องกันแมลง หนังเป็นปุ่มนูนเห็นได้ชัด ง่ามก้นเป็นร่อง มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก แต่ไม่มีพับหนังข้ามคอ มีหางสั้น มีสีลำตัวน้ำตาลเทา มีริมฝีปากพิเศษที่ใช้สำหรับจับและฉีกพืชที่เป็นอาหาร

สาเหตุที่แรดอินเดีย มีหนังที่พับเห็นได้ชัดเจน เพื่อช่วยในการขยายเนื้อที่ของผิวหนัง และควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย เนื่องจากเนื้อเยื่อรอบ ๆ เต็มไปด้วยเส้นเลือดที่ส่งความร้อนไปยังแผ่นพับของหนังที่ขยายใหญ่ขึ้นเหมือนเป็นเครื่องทำความเย็น อีกทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำเมื่อแรดลงแช่น้ำและถึงแม้จะขึ้นมาบนบกแล้วก็ตาม น้ำก็ยังอยู่ในหนังพับนั้นได้

มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ประเทศอินเดีย, เชิงเทือกเขาหิมาลัย, ปากีสถาน, เนปาล, ภูฏาน จนถึงชายแดนที่ติดกับพม่า

แรดอินเดีย เชื่อว่าปรากฏขึ้นในดินแดนยูเรเชียครั้งแรกในช่วงปลายยุคอีโอซีน (33.5-37 ล้านปีก่อน) และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในยุคเพลอิสโตซีน (1-2 ล้านปีก่อน) หลังจากที่สัตว์กลุ่มแรดมีวิวัฒนาการขึ้นเมื่อประมาณ 60-65 ล้านปีก่อน หรือในยุคอีโอซีนจากกลุ่มสัตว์เท้ากีบคี่

พฤติกรรม

แรดอินเดีย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทุ่งหญ้าและที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมถึง เพราะมักหากินพืชจำพวกหญ้าและพืชน้ำต่าง ๆ ในปริมาณที่มากนับร้อยกิโลกรัมต่อวัน มักชอบหากินอยู่ตามลำพัง ยกเว้นแม่แรดที่ต้องมีลูกอยู่เคียงข้าง ซึ่งแรดตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์พร้อมมีลูกได้เมื่ออายุ 4 ปี ตั้งท้องนาน 474-488 วัน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว ส่วนตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์นานกว่านั้นคือ เมื่ออายุ 9 ปี มีอายุโดยเฉลี่ย 30-40 ปี ลูกแรดจะกินนมแม่ไปจนอายุ 2 ขวบ

แรดอินเดียมีสายตาสั้น แต่มีประสาทดมกลิ่นได้ดี หูก็สามารถฟังเสียงได้ดีมาก แม้จะแลดูตัวใหญ่เทอะทะแต่ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะในเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า วิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชอบแช่น้ำและยังว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วย มีอุปนิสัยดุร้าย ขี้หงุดหงิดเช่นเดียวกับแรดสายพันธุ์ที่พบในทวีปแอฟริกา เมื่อดุร้ายหรือหงุดหงิดขึ้นมา สามารถวิ่งเข้าชนหรือสู้กับสัตว์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ไม่เว้นแม้กระทั่งช้าง[5]

ปัจจุบัน แรดอินเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้นคือ ประมาณ 2,400 ตัว (ข้อมูล ค.ศ. 2005) แต่ยังคงถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เพราะตัวใหญ่แต่อ่อนแอ จากการติดโรคต่าง ๆ และการล่าจากมนุษย์

แรดอินเดียในประเทศไทยในปัจจุบัน มีการเลี้ยงอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นต้น[6]

อนุกรมวิธาน

แรดอินเดียเป็นแรดชนิดแรกที่รู้จักกันในยุโรป เมื่อถูกนำเข้าไปในราวศตวรรษที่ 18 โดยชาวดัตช์คนหนึ่ง ชื่อ Rhinoceros มาจากภาษากรีกคำว่า "rhino" แปลว่า "จมูก" และ "ceros" แปลว่า "เขา" ในขณะที่ unicornis หมายถึง "ยูนิคอร์น" ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพปกรณัมกรีก ที่มีเขาเดียว อันหมายถึง ลักษณะของนอแรด แรดอินเดียไม่มีชนิดย่อย และเป็นชนิดต้นแบบของสัตว์ในวงศ์แรด ถูกจัดจำแนกครั้งแรกโดยคาโรลัส ลินเนียส ในปี ค.ศ. 1758[3]

การกระจายพันธุ์

ลงแช่น้ำที่อุทยานแห่งชาติจิตวัน

แรดอินเดียพบได้ทั่วทั้งประเทศอินเดียไปยังประเทศพม่าและประเทศบังกลาเทศและอาจมีร่อนเร่ไปในประเทศจีน เพราะอิทธิพลจากมนุษย์ทำให้การกระจายพันธุ์หดลง ปัจจุบันเหลือเพียงกลุ่มประชากรเล็ก ๆ ในทางตะวันออกเฉียงเหนือประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ประชากรแรดในประเทศภูฏานดูเหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้ว และในประเทศปากีสถานมีแรดอินเดีย 2 ตัวอยู่ในอุทยานแห่งชาติลาลสุฮานรา ในปัญจาบ เมื่อปี ค.ศ. 1983 แต่ไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มอีก

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Talukdar, B. K., Emslie, R., Bist, S. S., Choudhury, A., Ellis, S., Bonal, B. S., Malakar, M. C., Talukdar, B. N. Barua, M. (2008). "Rhinoceros unicornis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2.{cite web}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. คำเตือนการอ้างอิง: <ref> tag with name iucn cannot be previewed because it is defined outside the current section or not defined at all.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Laurie, W.A.; E.m. Lang; C.P. Groves (1983). "Rhinoceros unicornis". Mammalian Species (211): 1–6. doi:10.2307/3504002.
  4. Dinerstein, E. (2003). The Return of the Unicorns: The Natural History and Conservation of the Greater One-Horned Rhinoceros. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-08450-1.
  5. "เรื่องเล่าข้ามโลก: ช้างเอเซีย". NOW26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-22. สืบค้นเมื่อ 2015-01-18.
  6. ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่เผยเหตุแรดอินเดียตายเพราะแผลในกระเพาะอาหาร