แฮมิด คาร์ไซ
แฮมิด คาร์ไซ حامد کرزی | |
---|---|
การ์ไซในปี ค.ศ. 2009 | |
ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน | |
ดำรงตำแหน่ง 22 ธันวาคม ค.ศ. 2001 – 29 กันยายน ค.ศ. 2014 รักษาการ: 22 ธันวาคม ค.ศ. 2001 – 7 ธันวาคม ค.ศ. 2004 | |
รองประธานาธิบดี | คาริม คาลิลี โมฮัมเหม็ด ฟาฮิม ยุนูส ควานูนี |
ก่อนหน้า | บูร์ฮานุดดีน รับบานี |
ถัดไป | อัชราฟ ฆานี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | การ์ซ จังหวัดกันดะฮาร์ ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน | 24 ธันวาคม ค.ศ. 1957
เชื้อชาติ | อัฟกานิสถาน |
ศาสนา | อิสลาม |
พรรคการเมือง | อิสระ |
คู่สมรส | ซีนัต การ์ไซ (ค.ศ. 1999–ปัจจุบัน) |
บุตร | มีร์ไวซ์ มาลาไล เฮาซี |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยหิมาจัลประเทศ |
แฮมิด คาร์ไซ (อังกฤษ: Hamid Karzai, ปาทาน: حامد کرزی; เกิด 24 ธันวาคม ค.ศ. 1957) เป็นอดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน เกิดที่จังหวัดกันดะฮาร์ ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน[1] การ์ไซมีพี่น้อง 6 คน ครอบครัวของเขาอยู่ในแวดวงการเมือง โดยบิดา อับดุล อะฮัด การ์ไซ เคยเป็นรองโฆษกประจำรัฐสภาอัฟกานิสถานช่วงทศวรรษที่ 1960 ลุง ฮาบิบุลเลาะห์ การ์ไซ เป็นผู้แทนอัฟกานิสถานในการประชุมสหประชาชาติ[2] ส่วนปู่ ไคร์ โมฮัมหมัด ข่าน เคยรับราชการในช่วงสงครามอังกฤษ–อัฟกานิสถานครั้งที่สามและเป็นรองโฆษกประจำวุฒิสภาอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ครอบครัวของการ์ไซยังเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าโมฮัมเหม็ด ซาฮีร์ ชาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน
การ์ไซเรียนที่โรงเรียนในเมืองกันดะฮาร์และคาบูล และเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมฮาบิเบียในปี ค.ศ. 1976[3] ก่อนจะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนต่อที่อินเดีย เขาเรียนต่อปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหิมาจัลประเทศ การ์ไซเรียนจบปริญญาโทในปี ค.ศ. 1983 หลังเกิดสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถานไม่นาน[4] เขาย้ายไปอยู่ที่ปากีสถานเพื่อสนับสนุนฝ่ายมุญาฮิดีนในสงคราม[5] ในปี ค.ศ. 1988 หลังโซเวียตถอนทหารออกไป การ์ไซเดินทางกลับอัฟกานิสถานและสนับสนุนฝ่ายมุญาฮิดีนต่อไป เมื่อรัฐบาลฝ่ายนิยมโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1992 มีการลงนามในข้อตกลงเปศวาร์เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถานและให้มีรัฐบาลเฉพาะกาล การ์ไซดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ถูกโมฮัมเหม็ด ฟาฮิมจับตัวในข้อหาจารกรรม การ์ไซจึงหนีออกจากกรุงคาบูลด้วยความช่วยเหลือจากกัลบุดดีน เฮกมัตยาร์ หนึ่งในนักการเมืองและผู้นำทหารชาวอัฟกานิสถาน
เมื่อรัฐบาลตอลิบานขึ้นสู่อำนาจช่วงทศวรรษที่ 1990 การ์ไซเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะสามารถหยุดความรุนแรงและปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศได้[6] แต่หลังจากบิดาของเขาถูกลอบยิงโดยฝีมือของตอลิบาน การ์ไซก็ทำงานกับแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน ที่นำโดยอาหมัด ชาห์ มาซูด[7] ช่วงปี ค.ศ. 2000-2001 การ์ไซเดินทางไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาเพื่อรณรงค์ต่อต้านกลุ่มตอลิบาน การ์ไซและมาซูดเคยเตือนว่ากลุ่มตอลิบานเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ จนเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2001 มาซูดถูกระเบิดฆ่าตัวตายโดยฝีมือของอัลกออิดะฮ์[8] ต่อมาเมื่อกองทัพสหรัฐวางแผนบุกอัฟกานิสถานหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน การ์ไซเป็นผู้หนึ่งที่แนะนำให้กำจัดกลุ่มอัลกออิดะฮ์ให้หมดสิ้น[7]
หลังรัฐบาลตอลิบานถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 2001 มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยการ์ไซได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการปกครอง ปีต่อมาการ์ไซได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน[9] ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2004 การ์ไซชนะการเลือกตั้งและเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2004 โดยมีพระเจ้าโมฮัมเหม็ด ซาฮีร์ ชาห์เข้าร่วมพิธีด้วย การ์ไซเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอัฟกานิสถานที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตย[10] เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองหลังชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2009 และสิ้นสุดวาระในปี ค.ศ. 2014[11] อัชราฟ ฆานีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขา
ด้านชีวิตส่วนตัว การ์ไซแต่งงานกับซีนัต การ์ไซในปี ค.ศ. 1999[12] ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน[13]
อ้างอิง
- ↑ Burke, Jason (7 March 2008). "Hard man in a hard country". The Guardian. UK. สืบค้นเมื่อ 14 March 2009.
- ↑ Dyck, Jere Van; Afghanistan., Special To The New York Times; The Following Dispatch Was Written By A Freelance Journalist Who Recently Spent Six Weeks In (21 December 1981). "The Afghan Rulers: Fiercely Traditional Tribes". The New York Times. United States. p. 2. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
- ↑ "Office of the President". Afghanistan: Islamic Republic of Afghanistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-27. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
- ↑ "Biography - Office of the President". President.gov.af. สืบค้นเมื่อ 2014-03-22.
- ↑ Stockman, Farah (22 May 2005). "Afghan president's brother looks back". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 14 April 2009.
- ↑ Marlowe, Ann (11 February 2008). "Two Myths About Afghanistan". The Washington Post. United States. p. A13. สืบค้นเมื่อ 11 February 2008.
- ↑ 7.0 7.1 "Profile:Hamid Karzai". United States: Public Broadcasting Service (PBS). December 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2010. สืบค้นเมื่อ 3 October 2010.
- ↑ "Biography of Hamid Karzai: 9/11 and US Invasion". The Biography Channel. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-27. สืบค้นเมื่อ 2013-09-07.
- ↑ Gall, Carlotta (20 June 2002). "A Buoyant Karzai is Sworn In as Afghanistan's Leader". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 31 January 2010.
- ↑ "Former President Of Afghanistan On The State Of His Country". Forces TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-22. สืบค้นเมื่อ 11 November 2016.
- ↑ "Karzai declared elected president". BBC News. 2 November 2009. สืบค้นเมื่อ 31 January 2010.
- ↑ "Afghan First Lady's quiet public debut". The Daily Telegraph. 10 Apr 2004. สืบค้นเมื่อ 29 January 2011.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-05. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แฮมิด คาร์ไซ
- วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ แฮมิด คาร์ไซ
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ผลงานของแฮมิด คาร์ไซ